นายจ้างชี้ สปส. เก็บเงินสมทบส่อขัดรัฐธรรมนูญ
สภาองค์การนายจ้างฯ ยื่นหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ตีความกฎหมายประกันสังคมเรียกเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนส่อผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนรักษาฟรี
วานนี้ (2 มีนาคม) นายประสิทธิ์ จงอัศนากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาว่า กฎหมายประกันสังคมที่เรียกเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตน ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 30 หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า การเลือกปฏิบัติในเรื่องสุขภาพจะกระทำมิได้
โดยนายประสิทธิ์ กล่าวว่า การเรียกเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป เพราะก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ต่ำกว่าประชาชนทั่วไปที่ใช้ประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทองที่รักษาฟรี อีกทั้งผู้ประกันตนยังถูกตัดสิทธิจากการใช้บัตรทองด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนอยากให้เรื่องนี้มีความชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่เพราะตนอยากจะลดต้นทุนการจ่ายเงินสมทบของฝ่ายนายจ้าง ที่ต้องจ่ายร้อยละ 5 เพราะอย่างไรก็ต้องจ่ายเงินเท่าเดิมอยู่ดี แต่ประเด็นหลักคือ ต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน หรืออาจจะนำเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย ซึ่งจัดเก็บได้ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกันตน เช่น เพิ่มสิทธิในกองทุนชราภาพ หรือได้รับการบริการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด เปรียบเหมือนตนจ่ายเงิน 10 บาท ซื้อกาแฟได้กาแฟรสขม 1 แก้ว ขณะที่คนไม่เสียเงินกลับได้กาแฟรสอร่อยกว่า แล้วถ้าบอกว่าจะเพิ่มน้ำตาลให้กาแฟของตนก็ไม่ถูก เพราะเท่ากับว่าตนยังต้องจ่ายเงิน 10 บาทอยู่ ทั้งที่จริง ๆ ตนต้องได้กาแฟฟรีเช่นกัน หรือควรจะได้เค้กเพิ่มเป็นต้น
ด้านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง หากเห็นว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก สำนักข่าวไทย |