คาดปลากระป๋องไทยยังคงครองอันดับ 1 ในอียิปต์แม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "คาดปลากระป๋องไทยยังคงครองอันดับ 1 ในอียิปต์ปี’ 54...แม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล" ระบุว่า
อียิปต์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 3 ของไทยในทวีปแอฟริกา(แต่เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ) โดยส่วนใหญ่ไทยส่งออกข้าว ยานยนต์/ส่วนประกอบ และสินค้าประมงแปรรูปไปยังทวีปแอฟริกาตามลำดับ ซึ่งไทยส่งออกปลากระป๋องไปยังอียิปต์ถึงร้อยละ 30 ของการส่งออกปลากระป๋องทั้งหมดที่ไปยังทวีปแอฟริกา ทั้งยังมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 24.7(YoY) ในปี 2553 สูงกว่าการส่งออกปลากระป๋องโดยรวมของไทยไปยังตลาดโลกที่ขยายตัวร้อยละ 10.79(YoY) สะท้อนว่าอียิปต์เป็นตลาดส่งออกปลากระป๋องที่สำคัญของไทยในทวีปแอฟริกา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจภายหลังเหตุประท้วงเพื่อกดดันรัฐบาลอียิปต์ชุดก่อนสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา จะทำให้เศรษฐกิจอียิปต์อยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งในส่วนของปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม
รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติให้กลับคืนมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ก้าวเดินต่อไปให้ได้ภายในเร็ววัน แต่จากโครงสร้างเศรษฐกิจอียิปต์ที่กว่าร้อยละ 66 ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค และพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าจำเป็นที่อียิปต์นำเข้าค่อนข้างมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลากระป๋องของไทยที่คาดว่าจะยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในอียิปต์ได้ต่อไป ด้วยสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 84.1 ของการนำเข้าปลากระป๋องของอียิปต์ ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและจีนพอสมควร แม้ว่าแนวโน้มมูลค่าการส่งออกปลากระป๋องไทยไปตลาดอียิปต์ในปี 2554 นี้อาจจะชะลอตัวลงไปบ้างจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจอียิปต์กลับสู่ภาวะปกติสินค้าไทยก็น่าจะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียิปต์ยังรุ่ง...โดยเฉพาะปลากระป๋องของไทย
การทำประมงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มในอียิปต์มีมายาวนานหลายพันปี โดยจากรายงานของ FAO(Food and Agriculture Organization of the United Nations)ระบุว่า การผลิตสัตว์น้ำในอียิปต์มีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี และเป็นการผลิตสัตว์ทะเลถึง 3 ใน 4 ของการผลิตสัตว์น้ำโดยรวมในอียิปต์ ประเภทสัตว์น้ำรายการสำคัญที่ผลิตได้
เช่น ปลากระบอก(mullet)ผลิตได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ปลานิล(tilapia)ผลิตได้เป็นอันดับ 2 ของโลก(รองจากจีน) นอกจากนี้ อียิปต์ยังเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งขนาดใหญ่และปลิงทะเลซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในตลาดโลกอีกด้วย รวมไปถึงอียิปต์ยังเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับ 2 ของภูมิภาคแอฟริกาเหนือ(รองจากโมร็อกโก) ด้วยปริมาณการส่งออก 2,012 ตัน/ปี แต่ในขณะเดียวกันการบริโภคในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตในประเทศ ทำให้อียิปต์ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 250,000 ตัน/ปี โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง เนื้อปลาแผ่น/บด และปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของสินค้าประมงไทยในการบุกเจาะตลาดอียิปต์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
อียิปต์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประมง(HS 03, HS 16)จากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีความสามารถในการผลิตสินค้าประมงหลายชนิด จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 อียิปต์นำเข้าสินค้าประมงคิดเป็นมูลค่า 411.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 12.4(YoY) โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าปลากระป๋อง(HS 1604) ขยายตัวสูงร้อยละ 52.9(YoY) บ่งชี้ถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าประมงที่สำคัญอันดับที่ 2 ของอียิปต์(รองจากเนเธอร์แลนด์)คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.3 ของการนำเข้าสินค้าประมงของอียิปต์ ซึ่งไทยสามารถครองความเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป สะท้อนถึงศักยภาพของสินค้าไทยที่สามารถเข้าสู่ตลาดอียิปต์และน่าจะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องภายหลังเศรษฐกิจอียิปต์กลับสู่ภาวะปกติ
การนำเข้าสินค้าประมงของอียิปต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สินค้าประมงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าอียิปต์จะอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากอียิปต์เป็นประเทศมุสลิม ประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 94 หรือประมาณ 73 ล้านคน ในขณะที่ไทยก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลอันดับ 8 ของโลก อันได้แก่ ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป แต่อย่างไรก็ดี นักธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญกระบวนการผลิตตามกรรมวิธีฮาลาล รวมไปถึงควรมีตราฮาลาลและใบรับรองมาตรฐานฮาลาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสินค้าไทย
โดยเฉพาะสินค้าประมงไทยที่มีโอกาสขยายตัวอีกมาก ประกอบกับอียิปต์นำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและแปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งอียิปต์นำเข้าปลากระป๋อง(HS 1604)คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ของการนำเข้าสินค้าประมงของอียิปต์ รองจากการนำเข้าปลาแช่แข็ง(HS 0303)ที่มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 52 และจากข้อได้เปรียบในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังอียิปต์ที่ในปัจจุบันไทยได้เปรียบดุลการค้าในกลุ่มสินค้าประมงกับอียิปต์มาโดยตลอด โดยเฉพาะปลากระป๋องของไทยนับเป็นสินค้าที่น่าจับตามองทั้งในแง่ของการเติบโตด้านการส่งออกและส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าในอียิปต์
โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
ปลากระป๋องไทย(HS 1604) เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปตลาดอียิปต์ โดยสามารถแซงหน้าการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบได้ในปี 2552 แม้ว่าเศรษฐกิจอียิปต์จะอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงสะท้อนถึงโอกาสการส่งออกปลากระป๋องของไทยไปยังอียิปต์ ซึ่งการส่งออกปลากระป๋องไทยไปอียิปต์ในปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของการส่งออกสินค้าไทยไปอียิปต์ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 24.8(YoY)
ปลากระป๋องไทยยังครองส่วนแบ่งการนำเข้าเป็นอันดับ 1 ของอียิปต์มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการผลิตปลากระป๋องของไทยจะต้องพึ่งพาวัตถุดิบปลาทะเลจากต่างประเทศบางส่วนก็ตาม แต่ปลากระป๋องของไทยก็มีศักยภาพในการเจาะตลาดอียิปต์โดยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดปลากระป๋องในอียิปต์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 84.1 ของการนำเข้าปลากระป๋องของอียิปต์โดยรวม สำหรับสินค้าปลากระป๋องรายการสำคัญของไทย ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาสคิปแจ็กกระป๋อง ปลาโบนิโตกระป๋อง เป็นต้น
โดยที่ไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันเหนือคู่แข่งอื่นๆ อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย(สัดส่วน 3.3%) จีน(สัดส่วน 1.9%) และเวียดนาม(สัดส่วน 1.0%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่าจับตาเพราะมีอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดที่ระดับร้อยละ 186.2 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ขณะที่ไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 42.8 ประกอบกับอินโดนีเซียก็เป็นประเทศมุสลิมเช่นเดียวกับอียิปต์ ทำให้การผลิตของอินโดนีเซียอาจเข้าสู่ตลาดอียิปต์ได้สะดวกกว่า ดังนั้น ปลากระป๋องของไทยจึงต้องเร่งสร้างคุณภาพและมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับเพื่อรักษาตลาดอียิปต์
อียิปต์นำเข้าสินค้าประมงแปรรูปขั้นต้น(แช่เย็น/แช่แข็ง)จากไทยค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.0 ของการนำเข้าสินค้าประมงแปรรูปขั้นต้นของอียิปต์ สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากอียิปต์นิยมนำเข้ากลุ่มสินค้าปลาแช่แข็ง(HS 0303) จำพวกปลาสคิปแจ็ก ปลาโบนิโต ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาทูน่าครีบขาว ปลาแมคเคอเรล ปลาเทราท์ และปลาแซลมอล ซึ่งไทยมีข้อจำกัดทางภูมิประเทศในการผลิตอาหารทะเลในกลุ่มดังกล่าว ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีความสามารถในการผลิตที่รองรับความต้องการบริโภคของอียิปต์ได้ สำหรับสินค้าที่ไทยสามารถผลิตได้และเป็นที่ต้องการในอียิปต์น่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มเนื้อปลาฟิลเลหรือเนื้อปลาบดจำพวกปลาน้ำจืดต่างๆ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันสินค้าไทยก็ต้องแข่งขันกับเวียดนามและจีน ซึ่งเป็นผู้ครองสัดส่วนแบ่งการนำเข้าในอียิปต์อันดับต้นๆ นอกจากนี้ สินค้าไทยที่ยังมีโอกาสเติบโตเพราะเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าที่สำคัญของอียิปต์ จะเป็นสินค้าในกลุ่มกุ้ง/หอย/ปู โดยเฉพาะกุ้งที่ไทยค่อนข้างมีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม และกุ้งขาว เป็นต้น ทั้งนี้ อียิปต์นำเข้าสินค้าในกลุ่มประมงแปรรูปขั้นต้นถึงร้อยละ 80 ของการนำเข้าสินค้าประมงของอียิปต์โดยรวม ซึ่งหากไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงโดยรวมของไทยไปอียิปต์
เมื่อเศรษฐกิจอียิปต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการท่องเที่ยวในอียิปต์ที่ฟื้นกลับมาจะช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคของอียิปต์ รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้เติบโตตามไปด้วย เพราะเศรษฐกิจอียิปต์พึ่งพาการลงทุนและการท่องเที่ยวร้อยละ 14 และร้อยละ 11 ของ GDP ตามลำดับ ประกอบกับตลาดอียิปต์เปิดโอกาสให้นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก โดยจะเห็นได้จากภาษีเฉลี่ย MFN rate ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับอัตราภาษีเฉลี่ยของสินค้าเกษตรที่ร้อยละ 70.7 ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมของอียิปต์ ทำให้อุปสรรคทางภาษีไม่สูงนัก อันได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยา ตู้เย็น เม็ดพลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ยางพารา เครื่องซักผ้า เครื่องจักรกล และทองแดง เป็นต้น ทั้งนี้ หากสินค้าในกลุ่มดังกล่าวได้รับตราฮาลาลจะทำให้มีโอกาสขยายตัวในตลาดอียิปต์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะสินค้าฮาลาลนอกจากจะเป็นสินค้ากลุ่มอาหารแล้ว ยังครอบคลุมถึงสินค้าประเภทอื่นๆด้วย เช่น ยา เวชภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เคมี สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน การบริการด้านต่างๆ อาทิ ระบบการเงิน การธนาคาร การประกันชีวิต การประกันภัย ระบบบริการทางการแพทย์ ระบบการศึกษา ธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว โรงแรม สปา ร้านอาหาร และภัตตาคาร เป็นต้น
การส่งออกสินค้า 10 อันดับแรกของไทยไปอียิปต์

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, World Tariff Profiles 2010 รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
นักลงทุนไทยค่อนข้างมีโอกาสสูงในการประกอบธุรกิจประมงในอียิปต์ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะไทยและอียิปต์มีความร่วมมือทางวิชาการประมง ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีไทย-อียิปต์(Thai-Egyptian Joint Commission: JC) ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ให้ความรู้ด้านวิชาการและฝึกอบรมแก่อียิปต์เกี่ยวกับการทำประมงในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลานิล และกุ้งทะเล รวมถึงเทคนิคในการทำประมง สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับอียิปต์ ซึ่งอียิปต์ให้ความสำคัญการทำประมงของไทยค่อนข้างมาก แต่การทำธุรกิจประมงไทยในอียิปต์ยังมีค่อนข้างน้อย สาเหตุหนึ่งเพราะความห่างไกลของประเทศทำให้มีข้อจำกัดทางด้านข้อมูลการประกอบธุรกิจ และอาจต้องแข่งขันกับนักธุรกิจของสหรัฐฯและยุโรปที่เป็นนักลงทุนกลุ่มหลักในอียิปต์ ส่วนนักลงทุนจากเอเชียยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกับไทย
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอียิปต์ยังเปิดโอกาสอย่างมากเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนประกอบธุรกิจประมงในอียิปต์ที่ต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Aquaponics) โดยเฉพาะนักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าประมงที่สำคัญของอียิปต์ รวมทั้งมีเทคนิคการทำประมงที่อียิปต์ให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายของอียิปต์ฉบับที่ 124(Law 124) ที่กำหนดให้การลงทุนอุตสาหกรรมประมงในอียิปต์ต้องตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม โดยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องใช้กระบวนการที่ปลอดสารเคมี(อาหารสัตว์และยา) และจะต้องไม่ปล่อยของเสียที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นรูปแบบการผลิตดั้งเดิมของคนเอเชีย ขณะที่การทำธุรกิจประมงในอียิปต์ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่ Economic Exclusivity Zone ตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์ รวมไปถึงชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้รับอนุญาตให้ทำประมงจากชายฝั่งได้ 200 ไมล์ทะเล และยังให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการทำประมงด้านต่างๆด้วย เช่น ห้องเย็น และไฟส่องนำทาง เป็นต้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า อียิปต์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และยังเป็นอันดับที่ 3 ของไทยในทวีปแอฟริกา(รองจากแอฟริกาใต้และไนจีเรีย) ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในอียิปต์มีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะต่อไป สินค้าของไทยก็อาจจะมีโอกาสเติบโตตามไปด้วยได้จากแรงขับเคลื่อนด้านการบริโภคและการท่องเที่ยวในอียิปต์ที่ฟื้นกลับมา
ทั้งนี้ อียิปต์เป็นประเทศมุสลิมความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลจึงเป็นที่ต้องการ ประกอบกับไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารฮาลาลที่สำคัญของโลกจึงน่าจะเป็นโอกาสช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปอียิปต์ให้เติบโตได้ในระยะต่อไป โดยเฉพาะปลากระป๋องของไทยนอกจากจะเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปอียิปต์แล้ว ปลากระป๋องของไทยยังสามารถชิงส่วนแบ่งการนำเข้าได้เป็นอันดับ 1 ในอียิปต์ ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84.1 ของการนำเข้าปลากระป๋องของอียิปต์ โดดเด่นเหนือคู่แข่งของอื่นๆในอียิปต์
ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าประมงและปลากระป๋องของอียิปต์ในแต่ละตลาดค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ อียิปต์นำเข้าปลาทูน่า/ปลาสคิปแจ็ก/ปลาโบนิโต/ปลาแมคเคอเรลกระป๋องจากไทย ในขณะที่นำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋องจากโมร๊อกโก และตูนีเซีย นำเข้าปลาแช่แข็งจากเนเธอร์แลนด์ และนำเข้าเนื้อปลาแผ่น/บดจากเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าไทยจะครองตลาดนำเข้าปลากระป๋องในอียิปต์ได้แต่ก็ต้องพึงระวังอินโดนีเซีย เพราะด้วยอัตราการขยายตัวในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่สูงถึงร้อยละ 186.2 ขณะที่สินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยขยายตัวร้อยละ 42.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมเช่นเดียวกับอียิปต์ จากความได้เปรียบของอินโดนีเซียอาจมีส่วนให้สินค้าจากอินโดนีเซียมีโอกาสเติบโตได้โดยสะดวกและชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยในระยะต่อไป
สำหรับกลุ่มสินค้าประมงแปรรูปขั้นต้น(แช่เย็น/แช่แข็ง)ที่อียิปต์มีการนำเข้าถึงร้อยละ 80 ของการนำเข้าสินค้าประมงโดยรวมนั้น สินค้าที่ไทยสามารถผลิตและมีโอกาสแข่งขันได้ คือ กุ้งชนิดต่างๆ และเนื้อปลาแผ่น/บดซึ่งผลิตจากปลาน้ำจืด แต่สำหรับสินค้าประมงแปรรูปขั้นต้นอื่นๆสินค้าไทยอาจแข่งขันค่อนข้างลำบาก เนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการบริโภคของอียิปต์ ในด้านของการขยายฐานการผลิตในอียิปต์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น ธุรกิจไทยก็น่าจะมีโอกาสที่ดีเพราะความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและอียิปต์ตามโครงการ Thai-Egyptian Joint Commission ในธุรกิจประมง ประกอบกับรัฐบาลอียิปต์ยังสนับสนุนชักจูงนักลงทุนเอเชียโดยเฉพาะนักลงทุนไทยให้เข้าไปทำธุรกิจประมงในรูปแบบเพาะเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอียิปต์อีกด้วย นอกจากนี้ อาจอาศัยอียิปต์เป็นฐานการผลิตเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศใกล้เคียงของอียิปต์ได้โดยสะดวก เช่น ประเทศในแอฟริกา และตะวันออกกลางที่เป็นประเทศมุสลิม รวมทั้งตลาดยุโรป แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบขั้นตอนการลงทุนการประกอบธุรกิจในอียิปต์อย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าประมงไปยังอียิปต์ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การได้รับตราสินค้าฮาลาลและใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้สะดวกมากขึ้นทั้งในตลาดอียิปต์ และยังเพิ่มโอกาสรุกเข้าสู่ตลาดประเทศมุสลิมอื่นๆ ทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลางที่อยู่ใกล้เคียงกับอียิปต์ได้ ซึ่งสินค้าฮาลาลนอกจากสินค้าในกลุ่มอาหารแล้วยังครอบคลุมถึงสินค้ากลุ่มกลุ่มอื่นๆที่ต้องใช้กระบวนการผลิตแบบฮาลาล และยังรวมไปถึงภาคการบริการต่างๆอีกด้วย
การนำสินค้าอาหารรวมทั้งสินค้าประมงเข้าไปจำหน่ายในอียิปต์ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงเกษตรของอียิปต์(Central Department of Veterinary Quarantine & Inspection) รวมถึงเอกสารสำคัญที่ต้องได้รับการประทับตรารับรองที่สถานทูตอียิปต์ในไทย ได้แก่ หนังสือรับรองสุขอนามัย(Health Certificate) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิด(Certificate of Origin: C/O) และเอกสารทางการค้า(Commercial Invoice) นอกจากนี้เมื่อสินค้าไปถึงท่าเรืออียิปต์ สินค้าจะถูกสุ่มตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบโดยสำนักบริหารควบคุมการนำเข้าและส่งออก(General Authority for Export and Import Control: GOEIC) กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรของอียิปต์ ซึ่งถ้าผลการตรวจสอบไม่พบเชื้อโรคและตรงตามมาตรฐานที่อียิปต์กำหนดก็จะตรวจปล่อยสินค้า แต่ถ้าพบเชื้อโรคในตัวอย่างชิ้นใดชิ้นหนึ่งจะถูกสั่งห้ามปล่อยสินค้า หรือส่งสินค้าไปยังประเทศที่สามหรือส่งกลับไทยทันที
มาตรฐานการผลิตสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงเพื่อให้ปลอดจากเชื้อโรคระบาด กรรมวิธีการการจับสัตว์น้ำที่ต้องเป็นไปตามระเบียบมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือแม้แต่น้ำมันที่เป็นส่วนประกอบในการแปรรูปก็ต้องมาจากเมล็ดพืชที่ไม่ได้เป็นการตัดต่อพันธุกรรม(GMO) นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์จะต้องระบุ ชนิดสินค้า ประเทศแหล่งที่มา ปริมาณ วันผลิต และวันหมดอายุ
งานแฟร์สินค้าอาหารที่สำคัญในอียิปต์ช่วยขยายตลาดสินค้าประมงของไทย ได้แก่ Egy-Seafood–Expo(12-14 เม.ย.54) เป็นงานแฟร์สินค้าประมงนานาชาติในอียิปต์ และงาน AGRENA Middle East & North Africa(1-3 ก.ค.54) แสดงสินค้าปศุสัตว์ สัตว์ปีกและประมง ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จะมีนักธุรกิจในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือร่วมในงาน จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยเข้าร่วมพบปะและขยายโอกาสส่งออกสินค้าไทยกับนักธุรกิจทางตรงได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |