ห่วงข่าว 'จิ๋มเอื้ออาทร' เด็กเลียนแบบ แฉหลัง 'เฉือน' ไม่สนุก ปัญหาอื้อซ่า
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซัดสื่อนำเสนอข่าวแปลงเพศเอื้ออาทรอันตรายมากกว่าได้ประโยชน์ ด้านมีเดียมอนิเตอร์ หวั่นเสพมากกล่อมประสาทจนคนแห่มาผ่าตัดเพราะแฟชั่นมากกว่าความจำเป็นทางการแพทย์...
กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่จบสิ้นกับกรณี "โครงการจิ๋มเอื้ออาทร" ที่รับแปลงเพศเอื้ออาทรให้กับสตรีข้ามเพศฟรีๆ พร้อมกันนี้ยังมีรายการเรียลลิตี้แปลงเพศให้ชมกันอย่างโจ๋งครึ่ม สร้างแรงกระเพื่อมจนคนแห่มาใช้บริการเฉาะฟรีจำนวนมาก ล่าสุดผุดโครงการที่ 2 ขึ้นมา ซึ่งได้รับความนิยมถล่มทลายดูจากยอดจำนวนคนที่มาแห่มาใช้บริการเพิ่มมากมาย ตั้งแต่ วัยรุ่น วัยกลางคนและคนชรา ส่งผลให้หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิตออกโรงเตือนผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า กรมสุขภาพจิตติดตามข่าวสารการนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนเรื่อง “แปลงเพศเอื้ออาทร” ตั้งแต่เริ่ม จนกระทั่งเข้าโครงการที่ 2 อย่างใกล้ชิดพบว่าการนำเสนอของเจ้าของโครงการและสื่อหลายแขนงให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องนี้มากเกินไป จะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีแน่นอน
“ตามสถิติแล้วบรรดากะเทยซึ่งมีจำนวนน้อยมากในประเทศ ปฏิเสธการรับบริการผ่าตัดมากกว่าอยากผ่า ซึ่งการประโคมข่าวแบบนี้มันเร้าในการตัดสินใจ จริงๆ การผ่าตัดมีความเสี่ยงมหาศาล การนำเสนอข่าวนี้ผ่านสื่อชั้นนำของประเทศมากและถี่มันอาจจะไปกระตุ้นในการตัดสินใจของคนเหล่านี้ด่วนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ซึ่งความจริงแล้วจะแปลงเพศหรือไม่นั้นคนๆ นั้นต้องใช้เวลาถามใจตัวเองระยะใหญ่ว่าแน่ใจขนาดต้องแปลงเพศและแบบนั้นตลอดไปได้หรือไม่”
มิหนำซ้ำสิ่งที่สื่อนำเสนอออกไป น่าเป็นห่วงว่าสื่อเหล่านี้ไม่มีการพูดถึงความยากลำบากในการผ่าตัดเสร็จแล้วว่า เขาต้องดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต ไม่ได้สำเร็จรูป ผ่าแล้วสวยๆเหมือนผู้หญิงแบบที่รายการทีวีมักจะเลือกน้ำหนักด้านดี สวยงาม มากกว่าด้านร้ายๆ มานำเสนอ
“เช่น เขาไม่เคยบอกว่าหลังจากผ่าตัดแปลงเพศฟรีเสร็จแล้ว มันมีความยุ่งยากและลำบากมากแค่ไหนในเรื่องการดูแลและการใช้ชีวิต ไหนจะเรื่องการดูแลรักษา เรื่องการใช้ที่ถูกวิธี เรื่องกินยาฮอร์โมน เรียกว่าค่าดูแลรักษามากกว่าที่เขายกให้หลายเท่าตัว”
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ รายการทีวีเรียลลิตี้ที่มีการนำเสนอ การที่คนแห่มาใช้บริการแปลงเพศเอื้ออาทรมากๆ มันจะทำให้คนที่อยากจะขอรับบริการจริงๆ ซึ่งมีเปอร์เซนต์น้อยมาแย่งคิวการผ่าตัดแปลงเพศของพวกเขาไป เนื่องจากกระบวนการแปลงเพศนี้มันใช้เวลานานมากๆ คำถามก็คือการที่สื่อประโคมข่าวออกไปแล้วมีคนมาใช้บริการมากขึ้น ประเทศนี้มีจิตแพทย์มากที่จะใช้เวลาเฝ้าประเมินคนไข้ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจแล้วหรือยัง ซึ่งต่อให้มีเงินก็ไม่ได้ง่ายๆ ที่สำคัญการเสนอเรื่องราวพร้อมภาพของสื่อเหล่านี้มันไปถึงเด็ก ซึ่งใช้อารมณ์ควบคุมนี่คือสิ่งที่ผู้ทำโครงการและรายการมองข้ามไป
“คุณลองคิดดูว่าเพื่อแก้ปัญหากับกลุ่มคนเล็กๆ ต้องใช้ทรัพยากรคน และเวลาจำนวนมาก แต่มันมาทำให้ปะปนกับคนที่เป็นเพศที่สามโดยไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นรายการทั้งหลายต้องตระหนักว่าคุณกำลังเสนอรายการที่มีผลร้ายมากกว่าผลดี ผมอยากจะบอกว่าแค่คำเตือนว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมไม่น่าจะช่วยอะไรได้ ผมมองว่าต้นเหตุที่ทำให้กระแสข่าวนี้ออกมาก็คือคนที่ริเริ่มโครงการนี้” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ขณะเดียวกัน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า เรื่องเพศในจิตใจไม่ตรงกับสภาวะทางร่างกาย เราเข้าใจ แต่พอทำเป็นการตลาดและสื่อโหมโฆษณาทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ามันเข้าถึงได้ง่าย จนจากการผ่าตัดเพราะความจำเป็นทางจิตใจกลายเป็นการผ่าเพื่อความต้องการทางแฟชั่นไป ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย
“จริงๆ เรื่องแบบนี้ในต่างประเทศเขาไม่ได้โฆษณากันมาก เพราะมันมีผลกระทบทางสังคม ยิ่งปัจจุบันตามสถิติอายุคนที่ผ่าตัดน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้การคัดกรองต่างๆ ที่เคยมีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พอมันออกมารูปนี้ ผมห่วงว่ากระบวนการคัดกรองจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี”
มีเดียมอนิเตอร์ แนะนำว่า วิธีการเสนอเรื่องราวเหล่านี้ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่เสนอแค่เพียงผลสำเร็จ ต้องฉายภาพหลังทำไปแล้วเขาใช้ชีวิตต่อเนื่องเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับทางสังคมรอบข้าง การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ เป็นอย่างไรทำแล้วถือว่าประสบความสำเร็จทางชีวิตหรือไม่ นำเสนอให้เห็นผลกระทบในระยะยาวอีก 10-20 ปีว่าเขาจะเจออะไรบ้างเมื่อร่างกายเปลี่ยนไป
“ต้องไม่ฉาบฉวย ไม่ใช่แค่ให้ถ่ายขั้นตอนในการทำระยะแรกแล้วก็ตบไป เพราะหากสื่อนำเสนอประเด็นนี้ดีๆ มันทำให้คัดกรองและเป็นการย้ำเตือนให้คนที่อยากจะไปผ่าตัดได้คิดอีก อย่าลืมว่าถ้าคุณตัดสินใจผิด ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปเลย ไม่ใช่เฉพาะตัวคุณเมื่อผ่าตัดไปแล้ว เกี่ยวข้องกับคนรอบข้าง เพื่อน พ่อแม่ พี่น้องคุณ ถ้าเกิดคุณมีภาระความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายคุณรับไหวไหม ดังนั้นเรื่องการตัดสินใจผ่าตัดทางเพศไม่ใช่เรื่องสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างเดียว ความรับผิดรับชอบมันต้องเกี่ยวข้องรวมกับของคนอื่นด้วย ผมว่าทำแบบนี้ไป ทำแบบที่เขาทำรายการสารคดี มันอาจจะเป็นการชี้ช่องไม่ครบมากกว่า การแพทย์มาสนองแล้วทำให้คนรู้สึกอยาก อย่าลืมว่าผู้คนเห็นว่าอะไรออกอากาศทางทีวีมันถูกต้อง น่าเชื่อถือ เข้าใจได้ จริงๆ ไม่ใช่หลายสิ่งก็เป็นเรื่องจริงเสี้ยวเดียว” มีเดียมอนิเตอร์กล่าวสรุป
ที่มา นสพ.ไทยรัฐ |