หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
ใครแพ้...ใครชนะ...ไทยปะทะเขมร

ใครแพ้...ใครชนะ...ไทยปะทะเขมร

เหตุการณ์ ปะทะกัน หลายครั้งอย่างต่อเนื่องของทหาร  บริเวณตามแนวชาย ระหว่าง ไทยและกัมพูชา จากเรื่องปัญหาเขตแดน เขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.  จนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สิน การค้าขาย เศรษฐกิจของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย  โดยสถานการณ์ก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ นอกจากทั้ง 2 ประเทศต่อสู้กันด้วยกำลังทหารแล้ว ยังต้องมาต่อสู้กันในเวทีทางการทูตด้วย จนมาถึงกรณีกัมพูชาได้พยายามยกระดับ นำปัญหาความขัดแย้งนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)  ในที่สุด ประชุมใหญ่จึงมีมติตัดสิน ให้ไทยกับกัมพูชาไปแก้ปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศไทย ที่ไม่ต้องการให้มีประเทศที่3 ยื่นมือเข้ามาข้องเกี่ยว มาถึงขั้นนี้ดูเหมือนคนไทยหลายคน เริ่มมีคำถามในใจว่าไทยได้เปรียบกัมพูชาจริงหรือไม่?และเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร? ขณะที่ กัมพูชาไม่ยอมจบดิ้นร้อง'อาเซียน'ขอผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่ เหตุการณ์จะจบลงอย่างไร?

รศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย   กล่าวกับทีมข่าว"ไทยรัฐออนไลน์"ว่า  สถานการณ์ ไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อ แล้วถ้าสังเกตให้ดี มันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ปี คศ.1962 หรือ เรียกว่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 เลยก็ได้ มันปะทุขึ้นเป็นระยะๆ รอบล่าสุดปะทุจากการเมืองภายในของไทยเราเอง  ซึ่งต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล และยังมีหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารซึ่งตัวปราสาททางศาลโลกได้ตัดสินให้เป็นของกัมพูชาไปนานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามองว่าเป็นเรื่องของการชนะ หรือ แพ้มันไม่ได้ช่วยอะไร  มันยืดเยื้อมีหลายฉากหลายตอน แล้วมันก็จะยืดเยื้อต่อไป จะมีข้อพิพาทปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ขณะที่ ถ้าดูตามเนื้อผ้าแล้ว ไทย เสียเปรียบ เพราะตัวปราสาทถูกตัดสินให้เป็นของกัมพูชา ซึ่งอดีตนั้นไทยละเลยกันมา เป็นเพราะว่าแผนที่มันไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ได้คัดค้าน นี่เป็นข้อตัดสินของศาลโลก มันก็เหมือนเลยตามเลย เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วพอมาถึงเรื่องตัวปราสาท

รศ.ดร.ฐิตินันท์ เปรียบเทียบว่า 'เหมือนวัดหนึ่ง ถูกตัดสินเป็นของกัมพูชา แล้วเราก็บอกเองว่า เป็นแค่ตัววัดเฉยๆ ที่เป็นของกัมพูชา แต่ว่าพื้นที่ ถนนเข้าวัดไม่เกี่ยว ถนนยังเป็นของไทย ส่วนตัว เห็นว่าดูกันตามเนื้อผ้า ถ้ากัมพูชาไปฟ้องร้องต่อ มันจะเป็นไปได้ยังไง? ที่วัดเป็นของกัมพูชา ถนนเข้าวัดก็น่าเป็นของกัมพูชาด้วยสิ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็กลายเป็นว่าใช้ร่วมกันทั้งไทยและกัมพูชา และทางกัมพูชาก็มีปรากฏการณ์ในการขยับสิ่งปลูกอาศัยตามแนวพรมแดนรุกเข้ามาทางฝั่งไทยเรื่อยๆ คนที่บอกเรื่องนี้ ก็คือ พ.อ. รมเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้บอก เนื่องจากเคยประจำอยู่บริเวณชายแดน ทั้งยังเคยนำกำลังทหารเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกัมพูชา' 

รศ.ดร. ฐิตินันท์ กล่าวอีกว่า หากกัมพูชานำเรื่องไปฟ้องต่อ ไทยจะเสียเปรียบ แต่เชื่อว่าไทยเองก็ต้องยืนการว่าไม่รับและไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการตัดสินของศาลโลก มันก็ต้องยื้ดอย่างนี้ไป แต่พอยืดเยื้อ  พื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ก็ต้องหาวิธี ที่จะใช้ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันให้ได้ แต่ต้องยอมรับว่า ประเทศกัมพูชากับกรณีเขาพระวิหาร มีความได้เปรียบ ก็เลยเกิดปรากฏการณ์พยายามขยายวง ฉะนั้นตามเนื้อผ้าแล้วเราเสียเปรียบ แต่ถ้ามองตามหลักทางการทูต การเมืองไทยยังไม่เสียเปรียบ ยังกลับได้เปรียบก็ว่าได้ เพราะว่า  มีเพื่อนเยอะ อย่าลืมว่า ตั้งแต่ ผ่านสงครามเย็นมา กัมพูชาไม่มีเพื่อน เพราะฉะนั้นต้องพยายามหาวิธีเพื่อที่จะเจรจาสร้างบรรยากาศ เงื่อนไขในการเจรจาเพื่อใช้ตรงนี้ร่วมกัน ถ้าไม่ยอม มันก็ต้องยื้อกันไปอย่างนี้

ขณะที่ รศ.ดร. ฐิตินันท์ เห็นว่า ไทยต้องไม่นำเรื่องไปขึ้นศาลโลกเพราะไปขึ้นแล้วมันเสี่ยงเกินไป ถึงแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ถ้าคดีเขาพระวิหารขึ้นศาลโลกอีกครั้งอาจเกิดการตีกลับ กัมพูชาอาจโดนแบบเดียวกับที่ไทยเคยโดน เรื่องกฎหมายปิดปาก เพราะตลอด 50 ปี ที่คดีสิ้นสุด กัมพูชาก็ไม่เคยโต้แย้งว่าศาลเองก็ไม่ได้ตัดสินให้พื้นที่รอบปราสาทเป็นของกัมพูชานั้นต้องไม่ลืมว่า มันอาจกลายเป็นดาบสองคม ถ้าศาลโลกตัดสินว่า พื้นที่4.6 ตร.กม. เป็นของกัมพูชา ไม่ได้เป็นของไทย แล้วจะทำอย่างไรละ? ฉะนั้น สิ่งที่พึงกระทำคือต้องไม่นำเรื่องไปขึ้นศาลโลกอีก ก็ยื้อไปอย่างนี้ แล้วก็ต้องยึดกรอบการเจรจาทวิภาคี ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ตลอด

"ตอนนี้บรรยากาศทางการเมือง การทูตฯ  มันไม่อำนวยให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นมันจะเป็นลักษณะของการยื้อ และลักษณะของการเล่นการเมืองภายใน ในที่นี้ทั้งของไทยและของกัมพูชา  พื้นที่ 4.6 ตร.กม. นี้ต้องหาแนวทางพัฒนาร่วมกัน ส่วนการจะหาแนวทางนั้นมันจะต้องมีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ อย่างจริงใจ แต่บรรยากาศและเงื่อนไข ณ เวลานี้ มันไม่เอื้ออำนวย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คงเป็นลักษณะของการยื้อกันไปมา นอกจากนี้ต่างฝ่ายต่างก็พยายามเอาเรื่องนี้มาเล่นเป็นการเมืองภายใน มาหาคะแนนเสียงในตัวนั้นคือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น" รศ.ดร. ฐิตินันท์ กล่าว....

ดร.สมชัย ศิริสมบรูณ์เวช อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  กล่าวกับทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า สถานการณ์ในขณะนี้ได้เปรียบหรือไม่ มันก็ไม่เชิง อย่างไรก็ตามมันก็ต้องเจรจา เพราะแต่ละฝ่าย ต่างก็อ้างตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อไม่ยอมกัน มันก็ไม่จบ ขณะที่สภาพที่เกิดขึ้น ไทยพยามดึงเข้าสู่การเจรจาแบบทวิภาคี เพราะเห็นว่า หากเจรจาในรูปแบบนั้น ไทยได้เปรียบกว่า และค่อนข้างมั่นใจในหลักฐานที่ปรากฏ ส่วนทางกัมพูชานั้นไม่ยอมเพราะอาจเห็นว่าหลักฐานต่างๆ อาจด้อยกว่าไทย จึงต้องการดึงประเทศอื่นเข้ามาเป็นตัวช่วย คือถ้ากัมพูชามาเจรจาตัวต่อตัวกับไทย หรือที่เรียกว่าแบบทวิภาคี พลังต่อรองของไทยสูงกว่า 

ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่จะพากัมพูชาเข้ามาเจรจาแบบทวิภาคีสำเร็จหรือไม่ หรือกัมพูชาจะนำเรื่องไปสู่ศาลโลก อย่างที่มีการข่มขู่  ดร.สมชัย เห็นว่า แม้สุดท้ายถ้าศาลโลกรับพิจารณาคดีจริง ก็เชื่อว่าจะเป็นหลักเดียวกับที่ศาลโลกเคยใช้พิจารณากรณีเขาพระวิหารกับไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 คือหลักกฎหมายปิดปาก เพราะหลังจากที่มีผลการตัดสินคดี เมื่อปี 2505 กัมพูชาเองก็ไม่ได้มีการโต้แย้งมาแต่ต้น โดยเฉพาะกรณีพิพากษาให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่ไม่ได้ตัดสินให้พื้นที่รอบปราสาทตกเป็นของกัมพูชาด้วย ซึ่งกัมพูชาเองก็ไม่ได้โต้แย้งมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว เพราะถ้าจะคัดค้านก็ต้องดำเนินการมานานแล้ว ดังนั้นถึงฟ้องศาลโลกจริง ส่วนตัวเชื่อว่า โอกาสที่กัมพูชาจะได้เปรียบก็ไม่น่าจะมี ยุทธศาสตร์ของกัมพูชาในตอนนี้คือดึงเรื่องไปเรื่อยๆ พยายามดึงความสนใจของสังคมโลก เข้าใจว่าตัวเองถูกรังแกมากกว่า

"ส่วนที่มองสถานการณ์ว่าต่อไปยังจะมีการปะทะกันอยู่อย่างต่อเนื่องตามแนวชายแดนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายมากกว่า กัมพูชาต้องการทำให้สังคมโลกเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สงบ ถึงแม้องค์การสหประชาชาติมีมติให้ ไทย-กัมพูชาไปตกลงกันเองแล้วก็ตาม ต้องการการดึงประเทศที่ 3 เข้ามามีบทบาท เพราะจะได้มีอำนาจในการต่อรองได้มากขึ้น ซึ่งกัมพูชาต้องการให้เป็นอย่างนั้น

ส่วนหนทางข้างหน้า ถามว่า ใครจะแพ้หรือใครชนะ  ดร.สมชัย มองว่า "ไม่มีฝ่ายใดได้ทั้ง 100% ต่างคนก็ต่างต้องเสียอะไรกันบ้าง เพียงแต่ต้องมาเจอกันว่า ตรงไหนบ้างที่ยอมรับกันได้ ดึงดันเอาตามที่แต่ละฝ่ายต้องการคงไม่ได้ ความจริงแล้ว เรื่องการกำหนดเขตแดน ตามแนวชายแดน  มันเป็นเรื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ปัจจุบัน โลกเจริญขึ้น มีการรว่มมือกันระหว่างประเทศในด้านต่างๆ เยอะแยะ แทนที่มาเถียงกันว่าตรงนี้ของเธอ ตรงนี้ของฉัน  ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างเสีย พัฒนาไม่ได้ อย่างนั้นสู้หันมาพัฒนาพื้นที่พิพาทร่วมกัน ต่างฝ่ายก็จะ win- win ได้ประโยชน์ มันก็ดีกว่า

ส่วนกรณีที่ทำไมจึงเกิดเหตุปะทะกันในช่วงนี้  เป็นเพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาจุดประเด็นหรือไม่ ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า แต่เดิมมีความขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว ขณะที่ กลุ่ม พธม. เป็นเพียงแรงกระตุ้น ทั้งนี้แต่ก่อน ผู้นำหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศยังคงพูดจากันได้ เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องเล็ก แต่พอถึงวันที่พูดจากันไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนคุยกันได้ จึงไม่เกิดปัญหา เพราะจะว่ากันไปแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ได้มากมายจนกระทบกับเศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรงมันก็ไม่เชิง แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของประเทศที่พื้นที่แม้ 1 ตร. นิ้ว ก็ให้กันไม่ได้" ดร.สมชัยกล่าว....

ที่มา : ไทยรัฐ

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185