คมชัดลึก : กลุ่มคนไทยชุดที่ 3 จำนวน 167 คนที่อพยพจากอียิปต์ถึงไทยแล้วกรมการกงศุลเตรียมสั่งจนท.สอบข่าวนักศึกษาไทยถูกทำร้าย และเสียชีวิตด่วน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอียิปต์อยู่ในสภาพไร้นักท่องเที่ยว กลุ่มภราดรภาพมุสลิม กลุ่มฝ่ายค้านใหญ่สุด จะเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกวิกฤตการเมือง อิสราเอลเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งก๊าซจากอิยิปต์
(6ก.พ.) เมื่อเวลา 08.40น. เที่ยวบินพิเศษที่ ๓ ซึ่งเป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำจะนำคนไทยจำนวน 167 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ที่อียิปต์ ได้เดินทางออกจากกรุงไคโร วันที่ 5ก.พ. เวลา 14 .00 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงท่าอากาศยานนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันเดียวกันเวลา 19.30 น. (เวลาท้องถิ่น) หลังจากนั้น จะโดยสารเครื่องบินบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบิน TG 518 ออกจากนครดูไบเวลา 23.20 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 6 ก.พ.ในเวลาดังกล่าว โดยมีญาติๆ ของกลุ่มนักศึกษาไทยที่นั้นได้เดินทางมารอรับอย่างอุ่นหนาฝาคลั่ง และเมื่อทั้งสองฝ่ายได้มาพบกันก็ได้สวมกอดกันด้วยความดีใจ
นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสานและให้บริการเครื่องบินนำคนไทยที่แจ้งความประสงค์กลับประเทศ โดยล่าสุด มีแผนจัดเที่ยวบินอีก 2 เที่ยวบิน ซึ่งเที่ยวบินพิเศษที่ 4 เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำจะนำคนไทยในเบื้องต้นจำนวนประมาณ 150 คน ออกจากกรุงไคโร วันที่ 6 ก.พ.เวลา 11 .00 น. (เวลาท้องถิ่น) โดยแวะรับนักเรียน-นักศึกษาไทยที่เมือง Alexandria ประมาณ 50 คนก่อนจะเดินทางถึงท่าอากาศยานนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันเดียวกัน หลังจากนั้น จะโดยสารเครื่องบินบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบิน TG 518 ออกจากนครดูไบเวลา 23.20 น. เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 08.40 น. ส่วนเที่ยวบินพิเศษที่ 5 เป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำสายการบินอียิปต์ เที่ยวบิน MS 960 จะนำ คนไทยในเบื้องต้นจำนวนประมาณ 320 คน ออกจากกรุงไคโร วันที่6ก.พ. เวลา 22.40 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 7 ก.พ. เวลา 12 .00 น.
เตรียมสอบข่าวนศ.ไทยถูกทำร้ายและเสียชีวิตด่วน
นาวาอากาศเอกนิวัฒน์ อินทรวิเชียร ฝ่ายอำนวยการผู้บังคับบัญชากรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลาภูมิพล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะคณะแพทย์ที่เดินทางไปรับคนไทย ว่า จากการเดินทางไปครั้งนี้พบว่ากลุ่มคนไทยที่อยู่ในประเทศอียิปต์ทุกคนมีสุขภาพจิต และกำลังใจที่ดี อยู่ในสภาวะที่ไม่ตื่นหนกตกใจเท่าไรนัก โดยในขณะนี้ยังมีแพทย์ของทางราชการจัดไปดูแลได้ประจำอยู่ที่สถานทูตอยู่อีกหนึ่งคน ซึ่งกำลังทำงานร่วมกับสถานทูตอย่างหนัก อย่างไรก็ตามในขณะนี้คนไทยที่ยังคงอยู่ที่กรุงไคโรได้ทะยอยมาลงชื่อเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ซึ่งจะพิจารณาจัดคนให้เดินทางกลับ ทางราชการจะพิจารณาเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรี ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยก่อน สำหรับเหตุการณ์ที่กรุงไคโรขณะนี้ยังคงมีความสับสนวุ่นวาย อีกทั้งสถานที่ราชการต่างๆ ได้ปิดทำการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลได้ปิดทำการเกือบทั้งหมด ส่วนที่เปิดนั้นจะให้การดูแลเฉพาะคนอียิปต์
ด้านนายวิทิต เภาวิวัฒนาสุข เจ้าหน้าที่กองคุ้มครอง และดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงศุล กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศ ได้รับแจ้งจากทางญาติของนายวรกิจ ซามะนิ นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ที่กรุงไครโรว่าได้พบเห็นการทำร่ายร่างกายนักศึกษาไทยจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแค่ข่าว โดยตนจะเร่งประสานไปยังเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในกรุงไคโร เพื่อติดต่อนักศึกษาไทย ที่อ้างว่าได้พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เพื่อตรวจสอบรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
น.ส.ปัดรียะ แวหะยี ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยที่ศึกษา ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ 9 เดือน ที่ได้เดินทางกลับมายังประเทศในเที่ยวบินนี้ ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ตนได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย เพราะโรงพยาบาลในกรุงไคโรได้ปิดทำการทั้งหมด โดยแผนกสูตินารีเวช ของโรงพยาบาลได้ปิดไม่ให้บริการ ดังนั้นตนจึงได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับมาคลอดบุตรที่ประเทศน่าจะสะดวกกว่า สำหรับการใช้ชีวิตที่กรุงไคโรในเวลานี้มีความยากลำบากอย่างมาก มีการปล้นสะดมการเดินทาง เพื่อให้กลับคลอดบุตรที่ประเทศไทย ตนกังวลว่าเกี่ยวกับคลอดบุตร เนื่องแอผนกสูตินารีแพทย์ที่โรงพบาลในอียิปต์ได้ปิดทำการ ตนจึงตัดสินใจที่จะเดินทางมาคลอดบุตรประเทศไทย ซึ่งในระหว่างจากไคโรมายังดูไบ ซึ่งสามียังติดอยู่ที่ไคโร ตอนที่อยู่ไคโรชีวิตมีความยากลำบากมาก มีการปล้นสะดม ตู้กดเงินสดปิดให้บริการทั้งหมด ทำคนส่วนใหญ่จะไม่มีเงินสด ตรงนี้จึงทำให้ตนคิดว่าน่าจะกลับมาอยู่ และคลอดบุตรที่ประเทศไทยน่าจะดีกว่า
ปิระมิดแห่งกิซ่าไร้นักท่องเที่ยว
ปิระมิดแห่งกิซ่า แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 20 กิโลเมตร อยู่ในสภาพที่ไร้นักท่องเที่ยวเมื่อวานนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเสาหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจอียิปต์ ที่สร้างรายได้คิดเป็น 25% ของรายได้ประเทศต่อปี และเป็นภาคที่สร้างงานเป็นจำนวนมาก
ชาวต่างชาติ มากกว่า 1 แสน 6 หมื่นคนเดินทางออกจากอียิปต์ ตั้งแต่การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นในกรุงไคโร และเมืองอื่นๆ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบรารัคซึ่งอยู่อำนาจมาเกือบ 30 ปีลาออก ร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำไนล์ในกรุงไคโร ยังคงปิดให้บริการ โดยเจ้าของร้านอาหารบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ไม่มีลูกค้าเลย แม้แต่ลูกค้าชาวอียิปต์ การค้าขาย และการสัญจรไปมารอบๆ จตุรัสทาห์รีร์ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ ต่างหยุดชะงัก คนขับแท็กซี่รายหนึ่งบอกว่า ขณะนี้ตนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวและจ่ายค่าเช่ารถแท็กซี่ตอนสิ้นเดือน
นักวิเคราะห์จากเครดิต อากรีโคล คาดว่าอียิปต์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีสเถียรภาพมากที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ อย่างน้อย 310 ล้านดอลลาร์ หรือราว 900 ล้านบาทต่อวัน รวมแล้วคาดว่าการชุมนุมทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจแล้วมากถึง 3 พัน 1 ร้อยล้านดอลาร์ หรือราว 9 หมื่น 3 พันล้านบาท
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทรงตัวอยู่ที่ราว 90 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า วิกฤตการเมืองในอียิปต์จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรลเร็วๆ นี้
ฝ่ายค้านใหญ่สุดอียิปต์จะเข้าร่วมเจรจาหาทางออก
สถานีโทรทัศน์อัล จาซีราห์ รายงานว่า กลุ่มภราดรภาพ มุสลิมหรือ มุสลิม บราเธอร์ฮู้ด กลุ่มฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดของอียิปต์ และเป็นกลุ่มที่รัฐบาลอียิปต์สั่งห้ามเคลื่อนไหว จะเข้าร่วมหารือกับรองxระธานาธิบดี โอมาร์ ซูไลมานในวันนี้ ถือเป็นการเจรจาครั้งแรกระหว่างกลุ่มฝ่ายค้านและรัฐบาล ในขณะที่การชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีที่จตุรัสทาห์รีร์เข้าสู่วันที่ 13
รองประธานาธิบดี ซูไลมาน เรียกร้องให้กลุ่มฝ่ายค้านหลายกลุ่ม เข้าร่วมในการหาทางออกกับรัฐบาล การเข้าร่วมเจรจาของกลุ่มมุสลิม ภราดรภาพ สวนทางกับที่ทางกลุ่มเคยประกาศไว้ว่าจะไม่เข้าร่วมการเจรจาใดๆ จนกว่า ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคจะลาออก
สำนักข่าวอัล จาซีราห์ รายงานว่า กลุ่มมุสลิมภราดรภาพ เตรียมเสนอเงื่อนไขทางออกทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการที่นายมูบารัคต้องลาออก การยุบสภาและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล การสอบสวนเหตุปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มจัดตั้งและผู้ชุมนุม สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการรายงานข่าว
อิสราเอลเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย
กระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างสูงบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนด้านที่ติดกับอิยิปต์ หลังเกิดระเบิดที่สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ ที่เมืองเอลอาริช บนคาบสมุทรไซไน ทางตอนเหนือของอิยิปต์ ซึ่งบรรจุก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก เพื่อการจำหน่ายให้กับอิสราเอลและจอร์แดน
แรงระเบิดไดทำให้เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรง สามารถมองเห็นในระยะไกลจากบนหลังคาบ้านเรือนของประชาชนในเมืองราฟาห์ ในฉนวนกาซ่า ที่อยู่ห่างออกไปถึง 70 กิโลเมตร บริษัทก๊าซธรรมชาติของอิยิปต์ ระบุว่า เพลิงไหม้ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากก๊าซรั่ว แต่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ ระบุว่า ได้มีการจุดระเบิดภายในสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเชื่อว่า อาจเป็นการก่อวินาศกรรม
ภาพวีดีโอที่ถ่ายทำโดยช่างภาพสมัครเล่น ได้แสดงให้เห็นพวกเด็ก ๆ กำลังถือเศษสายไฟ และคนในท้องถิ่น บอกว่า เป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการจุดชนวนระเบิด ซึ่งแรงระเบิดได้ทำให้เกิดเปลวไฟพุ่งสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่ยังห่างไกลจากบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง และไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
เหตุระเบิดครั้งนี้ ได้ขึ้นในช่วงที่กำลังมีการลุกฮือเพื่อประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค ลงจากอำนาจ ที่ดำเนินมา 2 สัปดาห์แล้ว สำหรับคาบสมุทรไซไน เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเบดูอินหลายเผ่าและมักจะมีเหตุปะทะกับประชาชนและกองกำลังรักษาความมั่นคงอยู่เสมอ ส่วนพื้นที่บริเวณชายแดนด้านที่ติดกันระหว่างอิสราเอล กับฉนวนกาซ่า เป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มมุสลิมฮามาส
สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของระบบจ่ายก๊าซธรรมชาติ จากท่าเรือของอิยิปต์ ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปยังอิสราเอล ซีเรียและจอร์แดน ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ว่า ยังไม่แน่ชัดเรื่องความเสียหายของท่อส่งก๊าซไปยังอิสราเอล แต่อิสราเอลได้เพิ่มมาตรการป้องกันไว้ก่อน ด้วยการเป็นฝ่ายหยุดการรับก๊าซจากอิยิปต์แต่อิสราเอลยังมีแหล่งพลังงานทางเลือก และไม่เคยถึงขั้นขาดแคลนพลังงาน
เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ทำให้การส่งก๊าซไปยังจอร์แดนต้องระงับไปด้วย แต่จอร์แดนต้องพึ่งก๊าซจากอิยิปต์มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนอิสราเอลซื้อก๊าซธรรมชาติจากอิยิปต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลา 15 ปี สำหรับก๊าซธรรมชาติจำนวน 6 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งภายในของอิยิปต์เอง ที่ฝ่ายค้าน ระบุว่ารัฐบาลขายก๊าซให้อิสราเอล ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และอิยิปต์ไม่ควรส่งก๊าซให้อิสราเอลที่ปฏิบัติไม่ดีต่อปาเลสไตน์
|