มิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์มีอยู่จริง โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างคนแปลกหน้า ที่ "เยียวยา" ได้แม้กระทั่งความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต
กระเช้าที่บรรจุอาหารบำรุงสุขภาพขนาดใหญ่ในมือของสตรีมุสลิมวัยกลางคนถูกหิ้วลงจากรถสองแถวทันทีที่จอดนิ่งสนิทบนถนนสุขยางค์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในช่วงสายที่ละอองฝนโปรยปรายชนิดไม่ขาดเม็ด ทำให้ชายฉกรรจ์อีก 3 คนที่ติดตามมาด้วย ต้องปรี่ตัวลงมารีบประคบประหงมดูแลสิ่งของที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สรรสร้างด้วยไม้หวายเป็นอย่างดี
เสียงอะเอะมะเทิ่งด้วยภาษามลายูท้องถิ่นของคนกลุ่มนี้ดูจะยังหาข้อยุติไม่ได้ ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบสีเข้มต้องออกจากป้อมยามที่อยู่ไม่ห่างจุดจุดเกิดเหตุ ต้องเร่งสืบเท้าเข้าไปยังกลางวงสนทนา พลางยิงคำถามใส่ผู้แปลกหน้าที่ลงจากรถสองแถว
ในที่สุดการเจราด้วยเดซิเบลที่สูงกว่าปกติของชาวบ้านมลายูมุสลิมกลุ่มใหญ่ก็เงียบสนิท ก่อนสมาชิกทุกคนจะพรายยิ้มและสืบเท้าเดินเข้าสู่สถานที่ราชการที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า
แม้จะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลปากประตูทางเข้าอย่างละเอียดยิบ ชาวมุสลิม 5 ชีวิตที่มาพร้อมกระเช้าใบเขื่องยังออกอาการลุกลี้ลุกลน จนเข้าใกล้ความลนลานเข้าไปทุกที เพราะนี่คือครั้งแรกที่ชาวบ้านเหล่านี้เดินทางมายัง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ “ศอ.บต.” เป็นครั้งแรกนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อมาตามหาต้นเสียงแห่งความช่วยเหลือ
“อยู่ที่ไหนคะ ตอนนี้เราอยู่ด้านหน้า ศอ.บต.แล้ว จะไปพบพี่ได้ที่ไหน วันนี้เรามีของเล็กๆ น้อยๆ มาฝากพี่ด้วยค่ะ”หลังสิ้นเสียงโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นหน้าจอขาวดำ สตรีมุสลิมในชุดสีสดใส ยิ้มขึ้นมาทันที
รอสะนะ มะสีละ หรือ “ก๊ะนะ” สตรีมุสลิมวัยกลางคนจากตำบลจ๊ะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ผู้ซึ่งสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้แข็งแรงกว่าใครคนอื่นที่เดินทางร่วมคณะมาพร้อมกัน เริ่มต้นด้วยน้ำเสียงสดใส ว่า วันนี้ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อมาพบกับใครคนหนึ่ง ที่ทำให้พวกเธอยิ้มได้อีกครั้ง
พูดยังไม่ทันจบประโยคดี สตรีมุสลิมคนเดิมก็ยก กระเช้าใบใหญ่เชิดสูง พลางบอกว่า นี่คือของฝากที่มีราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยซื้อม่า สนนราคาเฉียดพันบาทเลยทีเดียว แต่เจ้าตัวสำทับว่ากลับเทียบไม่ได้กับน้ำใจ และความช่วยเหลือของหญิงสาวที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว
“พี่สาว” คือคำที่ “รอสะนะ”เรียกขานผู้หญิงที่เธอกำลังจะได้พบตัวเป็นครั้งแรกในวันนี้ หลังจากเกือบขวบปีที่ผ่านมาได้รู้จักกันผ่านสายโทรศัพท์เท่านั้น แต่ระยะเวลาร่วม 365 วัน กลับทำให้รู้สึกว่าใครคนนี้ที่จะได้เจอตัว สนิทเหมือนญาติคนหนึ่ง
ปฐมบทของการรู้จักกัน “ก๊ะนะ”บอกว่า เป็นเหตุบังเอิญมากกว่า เพราะภายหลังจากครอบครัว และเพื่อนบ้านได้ตกเป็นเหยื่อของการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในช่วงปลายปี2551 เมื่อคนร้ายลอบวางเพลิงที่ซุกหัวนอนจนเหลือเพียงเถ้าถ่าน
และเหตุการณ์อันน่าเศร้าของ “ก๊ะนะ”ก็ทำให้เธอได้รู้จักกับ “พี่สาว”ผู้ทำหน้าที่ “เยียวยา”อาการของบาดแผลทางกาย และสมานร่องรอยความเจ็บปวดทางใจ จนเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในวันนี้
ก่อนหน้านั้นได้ "ก๊ะนะ" ตระเวณไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐหลายแห่งแต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับเลยแม้แต่น้อย
“เรามาเพื่อขอบคุณเขา เพราะตลอดระยะเวลาเกือบปีพี่สาวจะโทรศัพท์หาเราตลอดและบอกว่าขั้นตอนการดำเนินการเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐในการเยียวยาไปถึงไหนแล้ว ซึ่งทุกครั้งจะมีคำพูดให้กำลังใจเสมอกระทั่งในวันที่เราได้ยินเสียงปลายสายบอกว่าให้เดินทางมารับเงินเงินเยียวยาและชดเชยความเสียหาย วันนั้นเชื่อไหมน้ำตาไหลโออกมาโดยไม่รู้ตัว”ก๊ะนะเล่า ด้วยรอยยิ้ม
จึงเป็นที่มาของการเดินทางมาพร้อมคำขอบคุณและของฝากแทนใจ แต่เป้าหมายสำคัญกว่านั้น คือ ทุกคนอยากพบกับ “ตัวจริง”ผู้เป็นเจ้าของน้ำเสียงที่ช่วยเหลือให้“รอสะนะ”กลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง
ไม่(อยาก)เชื่อใจ แต่ไม่มีทางเลือก
มะกะตา กาเยาะ หนุ่มใหญ่ที่มาจากบ้านต้นแซะ ตำบลจ๊ะกว๊ะ อำเภอรามัน ซึ่งวันนี้อยู่ในอารมณ์เดียวกันกับ “ก๊ะนะ”บอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ดีใจ”ที่จะได้พบคนที่ช่วยให้ชีวิตผ่านพ้นช่วงเวลาอันลำบากมาได้ หลังจากต้องระเห็จไปอาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเล็กๆ ที่เจ้าของคิดค่าพำนัก400บาท/เดือน นับแต่คนร้ายวางเพลิงที่หลับที่นอนที่จนวอด เมื่อกลางดึกของวันที่ 20สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา
"มะกะตา" ก้มหน้าปาดน้ำตา ก่อนสะกดอารมรณ์และเริ่มเล่าเหตุการณ์ที่ฉุดให้ชีวิตดำดิ่ง ว่า คืนนั้นไปรับจ้างทำงานที่ปั๊มน้ำมัน หลังจากเสร็จภารกิจขายลูกชิ้นปิ้งในช่วงเย็น โดยสัญญาณโทรศัพท์มือถือดังขึ้นประมาณเที่ยงคืน ญาติพี่น้องส่งข่าวว่าไฟไหม้บ้านเกือบหมดแล้ว
“นาทีนั้นรู้สึกเหมือนหน้าชา หูอื้อ แต่เท้ามุ่งหน้าจะกลับบ้านอย่างเดียว และทันทีที่ไปถึงบ้านก็เหลือแค่กองเถ้าสีดำแล้ว" มะกะตา เล่า
หลังเกิดเหตุชายหนุ่มรายนี้ได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน และเพียรเฝ้าติดตามความคืบหน้าทางคดี แต่ทุกอย่างก็ยังดูเงียบงัน กระทั่งได้เดินทางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละแวกที่อยู่อาศัย เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือจากช่างโยธา แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
“ผมเที่ยวไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ แต่กลับไม่มีคำตอบชัดเจน จนรู้สึกว่าต้องทำใจและหมดโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ เพราะรู้สึกว่าไม่เห็นใครจริงใจจะช่วยเราเลยแม้แต่น้อย”ชายหนุ่มคนเดิม บอก แต่โชคชะตาเหมือนเล่นตลก เมื่อ “มะกะตา” ที่กำลังตัดสินใจไม่รอขอรับความช่วยเหลือจากใคร กลับได้ยินผู้ประกาศผ่านวิทยุเครื่องเก่าที่วางอยู่ในมุมหนึ่งของบ้าน ส่งเสียงตามสายมาว่ามีหน่วยงานที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยให้ติดต่อได้ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้
“นาทีนั้นบอกได้เลยว่าไม่คาดหวัง แต่เราไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้วเลยคิดแค่ขอลองอีกสักครั้ง จึงตัดสินใจยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือมาที่ศอ.บต.ก่อนจะได้รับแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลติดต่อกลับไป”เขาบอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
มะกะตา แทบจะไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนโทรศัพท์มาหาจริงหลังจากได้ยื่นคำร้องเรียนเอาไว้ ซึ่งช่วงแรกได้รับคำชี้แจงจาก “พี่สาว” ว่าหลังจากได้รับข้อมูล และเอกสารเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือ ขณะนี้ได้มีการติดตามความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และขอยืนยันว่าจะได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน เนื่องจากในชั้นของพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีชี้ชัดว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นคดีความมั่นคง
นับแต่นั้นมา “มะกะตา”จะได้ยินเสียงจากปลายสายซึ่งเป็นน้ำเสียงของพี่สาวคนเดิมแทบทุกวันในการส่งสัญญาณให้รับรู้ความคืบหน้า ที่สำคัญในบทสุดท้ายของการสนทนา "พี่สาว" จะถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบอยู่เสมอ
และสิ่งนี้เองที่ทำให้ “มะกะตา”เปิดใจรับในความเพียร มุ่งมั่น และตั้งใจของ “พี่สาว”ในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือและอ่านภาษาไทยไม่สันทัด จนนำไปสู่ทัศนคติที่ดี ว่า ท่ามกลางสถานการณ์อันไม่ปกติยังมีเจ้าหน้าที่บางคนพร้อมทุ่มเทกายใจช่วยชาวบ้านตาดำๆ คนหนึ่งได้มากมายเพียงนี้
“วันที่พี่สาวโทรบอกผมให้เตรียมตัวไปรับเงินเยียวยาที่อำเภอ บอกได้เลยว่ามันดีใจจนพูดไม่ออก โชคดีที่ไม่ได้เห็นตากันไม่อย่างนั้นผมคงอายแย่เพราะน้ำตาลูกผู้ชายมันไหลออกมาจากก้นบึ้งของความดีใจโดยไม่รู้ตัว”มะกะตา กล่าวด้วยสายตาที่แดงก่ำ
ไม่มี “พี่สาว”ไปตายดาบหน้ามาเลย์
“ผมก็เหมือนกัน วันนี้มาที่นี่เพื่อมาขอพบและรู้จักกับพี่สาว ที่สำคัญอยากมาขอบคุณด้วยใจจริงที่ช่วยให้ได้รับเงินเยียวยาแม้จะไม่มากแต่อย่างน้อยชีวิตก็ตั้งหลักได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่มีเขาผมคงไปตายเอาดาบหน้าที่มาเลเซียนานแล้ว”น้ำเสียงของ มะหะมะ วะทา เพื่อนบ้านเรือนเคียงของ “มะกะตา”โพล่งประโยคสำคัญขึ้นมากลางวง
"มะหะมะ" บอกว่า ก่อนจะได้รับไมตรีจิตจาก “พี่สาว”ชีวิตเริ่มตกอยู่ในภาวะท้อแท้ และหมดหนทางเพราะทุกครั้งที่ไปติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย และต้องเสียเวลาทั้งวัน ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องรับจ้าง และค้าขายให้ได้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นทุนรอนในการเดินทาง แต่ทุกเที่ยวที่ไปเสาะหาคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ปรากฎความชัดเจนในความช่วยเหลือเลย
หนุ่มใหญ่จากตำบลจ๊ะกว๊ะ รายนี้ยอมรับว่าก่อนเสียงปลายสายจากพี่สาวผ่านโทรศัพท์มือถือดังขึ้นไม่กี่วัน เขาเตรียมเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า เพื่อไปขายแรงใน “ร้านต้มยำกุ้ง” ประเทศมาเลเซีย เพราะได้ยินเสียงลือ เสียงเล่าอ้างจากคนรู้จักว่า หากก้มหน้าก้มตาทำงานที่ถิ่นเสือเหลืองก็พอจะช่วยให้มีเงินเก็บกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวได้อีกครั้ง
“ใจหนึ่งก็ยากไปหาเงิน แต่ใจหนึ่งก็กังวลและเป็นห่วงลูกเมีย จนพี่สาวโทรมาและบอกว่าจะช่วยเหลือเต็มที่ และอยากให้อยู่เพื่อรอรับเงินเยียวยา คำนี้ทำให้ผมมีกำลังใจและมีความหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ” มะหะมะ กล่าว เขาบอกว่า ตลอดเวลาร่วมปีก่อนที่จะได้รับเงินเยียวยาได้คุยกับพี่สาวแทบทุกวัน บางวันก็โทรศัพท์คุยกัน 2-3 รอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ และบอกถึงความคืบหน้าของความช่วยเหลือ
“วันที่ผมไปรับเงินเยียวยา ผมอยากให้ลูกเมียผมได้พบและรู้จักพี่สาวเพราะผู้หญิงคนนี้ช่วยจนถึงที่สุด และทำให้เรารู้สึกว่าในพายุบางทีก็ยังมีทางรอดอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งหากไม่มีเธอคนนั้นวันนี้ผมรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ลูกเมียจะลำบากแค่ไหนหากเราต้องไปมาเลย์”หนุ่มใหญ่คนเดิม กล่าว พลางแหงนหน้ามองท้องฟ้าที่เมฆฝนเริ่มจาง
“พี่สาว”ตัวจริง
หลังจากกลุ่มชาวบ้านจากตำบลจ๊ะกว๊ะ เฝ้าแหงนหน้าชะเง้อมองสตรีใน ศอ.บต.ทุกคนที่เดินผ่าน ในที่สุด หญิงสาววัยกลางคนในชุดสีชมพู ก้าวเท้ามาเข้ามาใกล้กับสมาชิกที่มาเยือน ศอ.บต.พลางแนะนำตัวว่า ...
“พี่สาวเองค่ะ หรือ ศุภดา เจริญโรจนตระกูล เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ สังกัดศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ทำหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดยะลาค่ะ”
ยังไม่ทันสิ้นเสียงใสๆ จากสตรีที่ทุกคนตั้งตารอ
“รอสะนะ มะสีละ”โผเข้ากอดทันที ส่วนชายหนุ่มที่ติดตามมาด้วย ยืนมองนิ่งแต่ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ขณะที่ดวงตามีน้ำใสๆ เอ่อคลอจ่อล้นอยู่เต็มเบ้า
บรรยากาศนาทีนั้นอบอวลไปด้วยความปิติของ “ผู้มาเยือน” และ “เจ้าของบ้าน”เพราะอากัปกิริยาของแต่ละฝ่ายไม่อยู่ในสภาพของคนที่พบกันครั้งแรก แต่เสมือนคนสนิทที่ชิดเชื้อกันมาอย่างยาวนาน ก่อนที่นิ้วมือของพี่สาว จะเกี่ยวก้อย “ก๊ะนะ”เดินคู่กันไปยังห้องรับรอง ก่อนที่คนอื่นจะสืบเท้าตามไปอย่างมีความสุข
ภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆถูกจักเก้าอี้ และกาแฟร้อนๆพร้อมขนมปังไว้รอรับผู้มาเยือน ก่อนที่บทสนทนาจะเริ่มต้นอย่างออกรส กลุ่มชาวบ้านจากบ้านต้นแซะ ตำบลจ๊ะกว๊ะ ที่ได้รับการเยียวยา ได้ยิบตะกร้าของฝากยื่นให้กับเจ้าของไมตรีที่มีให้ตลอดปีที่ผ่านมา ทำเอา “พี่สาว”กลั้นความตื้นตันไว้ไม่อยู่ จนน้ำตาไหลนองแก้มโดยไม่รู้ตัว
พี่สาว เริ่มต้นว่านับตั้งแต่ได้รับภารกิจเยียวยาชาวบ้านกลุ่มนี้ ก็เริ่มต้นคุยกับทุกคนผ่านทางโทรศัพท์ทุกวัน โดยรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกระยะ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาของทางอำเภอ คดีไปอยู่ที่ศาล หรือแม้กระทั่งขั้นตอนไปถึงมือจังหวัด ควบคู่กับการให้คำปรึกษาเพื่อคลายความกังวลและลดความเครียดอย่างต่อเนื่อง
“อยากช่วย อยากให้สำเร็จ เราเครียดทุกวันในการติดต่อประสานงานเพราะขั้นตอนมันซับซ้อนและยุ่งยากมาก แต่เราจะไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ในส่วนนี้ เพราะหากเราทำให้เขามีรอยยิ้มได้อีกครั้งเรารู้สึกว่าเรามีความสุขที่สุด เพราะนี่คือหน้าที่ของเรา”ศุภดา ย้ำ
แม้เงินเยียวยาจำนวนหนึ่งที่เหยื่อไฟใต้ได้รับอาจจะเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่สูญเสียไป แต่วันนี้เขากลับได้รับในสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่า
นั่นคือ “มิตรภาพ”ที่ช่วยให้ชีวิตสามารถตั้งหลักและลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อก้าวเดินต่อไปได้อีกครั้งอย่างไม่รู้สึกเดียวดาย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |