หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
สุดยอดจอมแฉ 'วิกิลีกส์' อัศวินม้าขาวหรือนักป่วนแห่งโลกไซเบอร์

สุดยอดจอมแฉ 'วิกิลีกส์' อัศวินม้าขาวหรือนักป่วนแห่งโลกไซเบอร์

คำกล่าวที่ว่า 'ความลับไม่มีในโลก' ดูจะจริงเสียยิ่งกว่าจริง
      
       ยิ่งหากเป็นความลับใหญ่โตระดับช็อกโลกด้วยแล้ว ก็ย่อมต้องมีผู้ทำหน้าที่ล้วงลึกควักแงะข้อมูลออกมาแฉกันมากมาย
      
       ดูง่ายๆ อย่างข่าวค(ร)าว ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง 'วิกิลีกส์' หรือ wikileaks.ch (เดิมเป็น .org) ซึ่งออกมาตีแผ่ข้อมูลลับของอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยว่า เป็นผู้แนะนำให้ผู้นำสหรัฐฯ โทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรีของไทย กรณีคดีส่งตัว วิคเตอร์ บูท เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐฯ รวมไปถึงข้อมูลที่เชื่อว่ารัสเซียพยายามสกัดกั้นส่งบูทไปสหรัฐฯ ด้วยการติดสินบนพยานคนสำคัญให้ปากคำเป็นเท็จ
      
       แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ ที่ดูไม่รุนแรงอะไร แต่ก็ทำเอาผู้ที่ตกอยู่ในข่าวหน้าถึงกลับหน้าซีด โดยเฉพาะสยามเมืองยิ้มที่คราวนี้ถึงกับยิ้มไม่ออก ต้องรีบปิดช่องทางเผยแพร่ข่าวโดยทันที
      
       ส่วนข่าวใหญ่ๆ ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะที่นี่เขาแฉแหลก ทั้งเรื่องที่สหรัฐฯ มีนโยบายซ่อนตัวนักโทษบางคนจากการช่วยเหลือขององค์การกาชาดสากล แถมยังเรื่องพฤติกรรมการใช้สุนัขข่มขู่นักโทษ รวมไปถึงความลับทางทหารอีกมากมาย ทำให้บรรดาผู้มีอำนาจควันออกหูขนาดใหญ่ จนมีข่าวเล็ดลอดว่าทางการมีกำลังหามาตรการไล่บี้มือดีอย่างสุดชีวิต ฐานที่มาเปิดเผยเรื่องไม่บังควรซะอย่างนั้น
      
       เรื่องที่ออกมาจะไม่มีข้อสรุปว่าจริงเท็จประการใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกิลีกส์ได้สร้างมิติใหม่ให้แก่โลกใบนี้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการข้อถึงข้อมูล
      
       งานนี้เลยต้องมาดูปรากฏการณ์นี้กันแบบชัดๆ ว่าเพราะอะไรเว็บไซต์ขนาดกระจ้อยนี้ถึงมีประสิทธิภาพในการสร้างแรงสั่นสะเทือนกันอย่างถ้วนหน้า และอะไรที่ทำให้มันโดดเด่นขึ้นมาครองพื้นที่ข่าวมากถึงขนาดนี้
      
       หรือเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องนี้จะไม่มีอะไรมากไปกว่า นอกไปเสียจาก 'ความอยากรู้อยากเห็นนั้น จริงๆ ก็คือสันดานดิบที่ฝังอยู่มนุษย์ทุกหมู่เหล่านั่นเอง'
       
       อะไรคือ 'วิกิลีกส์'
       
       ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2550 เว็บไซต์ชื่อคล้ายๆ สารานุกรมออนไลน์อย่าง วิกิลีกส์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนบรรณพิภพของโลกไซเบอร์ ภายใต้การรวมตัวของกลุ่มคนหลายบุคคลทั้ง กลุ่มฝ่ายค้านในรัฐบาลจีน นักข่าว นักเทคโนโลยีบริษัทจากทั่วทุกมุมโลก โดยมี จูเลียน แอสแซง รับหน้าเสื่อในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม
      
       โดยจุดประสงค์หลักของเว็บไซต์ก็คือ การเปิดเผยบทความเปิดโปงความลับและเรื่องราวอื้อฉาวต่างๆ ที่เกิดทั่วมุมโลก ทั้งที่เป็นข้อมูลลับในเชิงการเมือง การทหาร สิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้จูเลียนได้อ้างว่ามีเอกสารลับอยู่ในมือเขาเรียบร้อยกว่า 1.5 ล้านฉบับแล้ว และพร้อมจะมีการเปิดโปงทุกเรื่องให้ผู้เกี่ยวข้องได้อาย
      
       ซึ่งเรื่องแรกที่วิกิลีกส์นำมาแฉให้เห็นกันแบบจะๆ ก็คือ กรณีการฉ้อราษฎร์บังหลวงของอดีตประธานาธิบดี ดาเนีล อารับโม จากประเทศเคนยา ซึ่งส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาทันที เพราะเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งพอดี ก่อนที่จะถูกขยายความไปสู่เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโปงปฏิบัติการควบคุมตัวนักโทษอ่าวกวนตานาโม ซึงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนข้อมูลลับทางการทูต รวมไปถึงถึงเอกสารลับของบรรดาภาคธุรกิจที่ส่อแววจะมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นภายใน
      
       ขณะที่ไทยเอง แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็ไม่ได้หลุดรอดสายจาของวิกิลีกส์ไปแม้แต่น้อย เพราะก็ถูกออกมาแฉถึงเรื่องที่รัฐบาลพยายามเซนเซอร์การนำเสนอข่าว ในช่วงวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งสุดท้ายรายงานฉบับนี้ก็ไม่ได้ส่งมาถึงสายตาของคนไทยตามระเบียบ
       
       เชื่อถือได้หรือไม่?
       
       อย่างไรก็ตาม การได้ข้อมูลมานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะต้องอาศัยบรรดาอาสาสมัครกว่า 1,200 ชีวิต บวกกับวิธีการค้นข้อมูลแบบเจาะลึก สังเกตได้จากความพยายามจะดึงนักวิชาการ หรือนักกิจกรรมสังคมดังๆ เช่นตัวแทนของทาไล ลามะ เพื่อเป็นมือดีในการส่งเบาะแสให้
      
       แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ข้อมูลที่ออกมานั้นจะถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังคำอธิบายของ ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ หัวหน้าภาควารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า แม้ข้อมูลที่ได้นั้นจะมีประโยชน์ แต่หากสังเกตวิธีการจะพบว่า มาจากวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่นไปซื้อข้อมูลมา ไปขโมยหรือแฮกเอาข้อมูลออกมา ซึ่งทำไห้ไม่มีทางจะพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นของจริง หรือเป็นเพียงแค่การหวังประโยชน์ทางเมืองของใคร แถมที่สำคัญนี่ยังมีเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของความเป็นส่วนตัวในสังคมปัจจุบันอีกด้วย
      
       “ปัจจุบันนี้มันหมดยุคของข้อมูลความเป็นส่วนตัวแล้ว ไฟล์เอกสาร ไฟล์รูปภาพส่วนตัวที่เราถ่ายเก็บเอาไว้ มันก็มีโอกาสถูกดึง ถูกแฮกได้ง่ายมาก ซึ่งตรงนี้เราก็ควรจะมีความระมัดระวังให้มากขึ้น”
      
       แต่ถึงจะดูน่าเคลือบแคลงสักแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าปฏิกิริยาที่ผู้คนแสดงถึงเว็บไซต์นี้ก็คือ ความเชื่อถือ นั่นเอง ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์ประณามสหรัฐฯ หลังจากถูกเปิดเผยเอกสารทางการทูตว่ามีการพาดพิงประเทศอื่นๆ เต็มไปหมด หรือคำบอกกล่าวของนักเล่นอินเทอร์เน็ตตัวยงอย่าง พีระ วรปรีชาพาณิชย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ที่แม้จะยอมรับว่าไม่มั่นใจเต็มที่กับข้อมูล แต่ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลบางอย่างที่ถูกเคยนำเสนอโดยเฉพาะในเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ
      
       “ส่วนตัวผมเชื่อสัก 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เชื่อหมด คือมองว่าเป็นช่องทางอีกช่องในการรับข้อมูลข่าวสารมากกว่า อย่างน้อยถ้ามีข้อมูลมาให้คนพูดคุยก็น่าจะเป็นการเปิดประเด็นที่ดี ให้คนค้นหาความจริงต่อไป ดีกว่าที่เงียบๆ เนียนๆ ไปเลย แล้วก็ไม่มีใครหยิบยกมาพูดความจริง”
       
       เพราะ 'โกหก' ถึงต้องถูก 'เปิดเผย'
       
       เห็นดัชนีความเชื่อที่พุ่งปรี๊ดขนาดนี้ แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมมีต้องมีคำอธิบาย
      
       ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นก็คือ วิธีการนำเสนอข้อมูลของตัววิกิลีกส์ ซึ่งมีการใช้ข้อมูลเอกสาร คลิป หรือเทปเสียงซึ่งถูกนำออกมา ประกอบกับสังคมทุกวันนี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และมีปัญหาฝังแน่นเต็มไปหมด ทั้งเรื่องการเมือง ประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อใจผู้นำของตัวเอง ดังนั้นเวลาที่มีเอกสารอะไรออกมา จึงสามารถโน้มนำความเชื่อถือได้มาก
      
       “ตอนนี้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด อย่างบางคนไปทำอะไรไว้ในเรื่องการเงินการธนาคาร แล้วส่งผลกระทบต่อผู้อื่น มีรัฐเข้าไปช่วยอุ้ม มีความไม่โปร่งใส เพราะฉะนั้นสิ่งที่วิกิลีกส์เข้าไปชี้ให้ดูว่า จริงๆ แล้วคนระดับผู้นำระดับประเทศ มันมีอะไรที่ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนบ้างหรือเปล่า ไม่ได้โปร่งใสอย่างที่ควรเป็นหรือไม่ สุดท้ายมันก็ไปตอกย้ำว่าระบบของเรา มันมีปัญหา”
      
       ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการรับรู้ของภาคประชาชนเองไม่เคยตามทันผู้มีอำนาจได้เลยแม้แต่น้อย นักการเมืองสามารถโกหกประชาชนได้อย่างไม่มีปัญหา พูดอย่างทำอีกอย่าง
      
       สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ชนวนปัญหาที่ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงต่อรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งมาผสมผสานกับเหตุการณ์ภายหลังที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์มากขึ้น ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้คนคิดว่า สิ่งที่อยู่ในนั้นเป็นความจริงมากขึ้น
      
       “จริงอยู่ที่มันมีข้อมูลที่ค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ แต่การปิดกั้นจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ถูกกดดันโดยภาครัฐ ซึ่งบางครั้งมันนำไปสู่การขยับตัวไปหาสื่อระดับชุมชน ระดับชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ปัญหาค่อนข้างลุกลามและยากแก่การทำความเข้าใจ ทางที่ดีออกมาชี้แจงกันในสื่อหลักให้เกิดความเข้าใจถึงความต้องการแต่ละฝ่าย จะทำให้มีความชัดเจนกว่าการที่ต่างฝ่ายต่างไม่พูดกัน” ผศ.ดร.ณรงค์ อธิบาย
       
       ข้อมูลสะเทือนโลก
       
       ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาสู่สังคมไซเบอร์ สิ่งหนึ่งที่บังเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็คือกระแสของการตรวจสอบที่เริ่มมีมากขึ้น ทั้งในยุคชีวิตจริงและโลกไซเบอร์
      
       สังเกตได้จากการที่จำนวนผู้ชมและข้อมูลที่เปี่ยมล้นมากขึ้น ยิ่งในยุคที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศตื่นตัวมากเช่นนี้ หัวหน้าภาควิชาวารสนเทศ จากจุฬาฯ ก็เชื่อว่า คงจะเป็นเพียงก้าวแรกของกระแสนี้เท่านั้น
      
       “กระแสตรวจสอบมันระบาดมากขึ้น สำหรับผลวิกิลีกส์มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าลองไปดู ทุกวันนี้เริ่มมีการเข้าถึงข้อมูลมากเต็มไปหมด ทั้งเฟซบุ๊ก มือถือสมาร์ทโฟน และในอนาคตผมเชื่อว่าจะยังมีอีกมากที่จะทยอยออกมาเขย่าวงการสื่อสารมวลชนมากขึ้นกว่านี้”
      
       ขณะที่ในมุมมองของคนทำงานตรวจสอบ อย่าง พลีธรรม ตริยะเกษม กรรมการศูนย์ข้อมูลนักการเมือง หรือ thaiwatch.com หนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ภาคประชาชน ซึ่งระบุว่า วิกิลีกส์จะไม่มีอิทธิพลอะไรมากนัก แต่อดยอมรับไม่ได้ว่า นี่คือช่องทางในการตรวจสอบที่ดีมากอย่างหนึ่ง
      
       “ปปช.ภาคประชาชนคือการร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนหลายๆ เครือข่าย กับวิกิลีกส์มีรูปแบบการทำงานที่เหมือนหรือต่างกัน คืออย่างผมที่ทำฐานข้อมูลนักการเมือง ทำเรื่องการตรวจสอบคอรัปชั่นอยู่บ้าง ซึ่งผมเชื่อว่างานมันน่าจะหลากหลายกว่า ส่วนวิกิลีคส์ผมคิดว่าเขาคงใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูล ส่วนเครือข่ายของเขาก็น่าจะเป็นพวกแฮกเกอร์ หรือเป็นคนที่เข้าถึงข้อมูลบางอย่างได้ ซึ่งบางทีข้อมูลที่มาไม่ดี แต่ก็ถือเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี”
       
       จุดตัดระหว่างเสรีภาพกับปัญหา
       
       ทว่าแม้ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์และเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือผลข้างเคียงที่ตามมาอีกมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงการถูกข่มขู่ชีวิตแม้โลกใบนี้
      
       ดังกรณีเหตุการณ์ระหว่าง ไทย รัสเซีย และสหรัฐฯ ในกรณีของวิกเตอร์ บูท
      
       ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.สุรัตน์ ก็มองว่า การออกมาแฉข้อมูลส่วนใหญมักจะเป็นแค่เรื่องปลายเหตุเท่านั้น และเท่าที่สังเกตมาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่ซื่อตรงของผู้บริหารมากกว่า
      
       “ผมว่าก่อนที่เราจะไปดูผลกระทบ ต้องไปดูที่ต้นตอว่าไปโกหกเขาทำไมตั้งแต่แรก เพราะเอกสารที่ออกมามันชี้ว่ารัฐไม่พยายามจะปกป้องประชาชน เช่นเราทำเรื่องไม่ดี เกิดมีคนเอาไปเปิด เราควรจะโกรธเขาเหรอ
      
       “แต่บางเรื่องก็ต้องยอมรับว่าไม่แฟร์เหมือนกัน อย่างเรื่องวิคเตอร์ บูทอันนี้ชัด เพราะประเทศไทยถึงยังไงก็ไม่มีทางหนีสภาวะกดดันจากอเมริกาและรัสเซียได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจการเมืองเราไปผูกติดกับคนพวกนี้ แบบนี้ถ้าเปิดเผยข้อมูลออกมา ผมว่าน่าเห็นอกเห็นใจ”
      
       ที่สำคัญก็ต้องยอมรับว่าการทูตนั้นเป็นการใส่หน้ากากเข้าหากัน ขณะที่แต่ละประเทศเองก็มีหน่วยข่าวกรอง ซึ่งมีหน้าที่สอดส่องดูปฏิกิริยาของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ค่อยมีมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า ก็คือความสัมพันธ์ในระดับประชาชน เพราะข้อมูลบางอย่างอาจจะเป็นตัวนำไปสู่การยุยงหรือสร้างความเกลียดชังต่อไประหว่างประเทศ
      
       ขณะที่พลีธรรม กลับมองในมุมมองที่แตกต่างออกว่า เมื่อวิกิลีกส์เข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบก็จำเป็นต้องใช้จรรยาบรรณในการทำงานเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลและผลกระทบที่อาจจะตามมา
      
       “ข้อมูลบางอย่างถ้าไม่สกรีนให้ดีๆ โดยเฉพาะความมั่นคง กับปัญหาระหว่างประเทศ แล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมวงกว้างในทางลบ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางนี้นะ ตัวเขาเองในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนก็ควรจะระมัดระวัง แล้วก็มีจรรยาบรรณของสื่อบ้าง”
      
       เพราะฉะนั้นทางออกอย่างหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ อย่างหนึ่งนอกจากวิกิลีกส์จะต้องมีความรัดกุมมากขึ้น
      
       ในส่วนของภาครัฐเองจะต้องมีความโป่รงใสมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องความซื่อตรงกับประชาชน โดยรัฐเองอาจจะต้องพยายามสร้างกลไกในเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้นกว่านี้
      
       “เราเชื่อว่าข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ก็ควรเปิดเผย เช่น เราพยายามจะเอาข้อมูลเรื่องการผ่านกฎหมายของสภาฯ หรือเราอยากได้ข้อมูลเรื่องใบเหลืองใบแดงของ กกต. ซึ่งพอเราติดต่อไปแล้ว เขาบอกว่าข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยไม่ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ควรจะเปิดเผย เพราะมันเป็นประโยชน์กับประชาชน ผมคิดว่ากลไกตรงนี้มันควรจะบาลานส์กันระหว่างข้อมูลที่ประชาชนควรจะได้รับกับอันไหนที่ประชาชนไม่ควรจะได้รับรู้”
      
       ขณะที่อาจารย์รัฐศาสตร์ ก็เสริมว่า ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ประชาชนเองเช่นกัน ที่ต้องเรียนรู้การทำงานของนักการเมืองมากขึ้นว่าเป็นอย่างไร
      
       “ประชาชนต้องรู้จักโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่านี้ ทำให้รู้ว่าการเมืองการปกครองมันย่ำแย่มาก คนอื่นกดดันเราได้เป็นระยะ เราก็คิดอะไรเป็นของตัวเองแทบไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาก็คือช่างไป บางทีเอาใจฝ่ายโน้นบ้างฝ่ายนี้บ้าง พูดง่ายๆ คือเอาตัวรอด จริงๆ ผมว่าประชาชนต้องคิดด้วยว่า ถ้าเกิดไม่พอใจแล้วถ้าเราไปนั่งอยู่ตรงนั้น จะพูดว่าอย่างไร”
       .........
      
       แม้ตอนนี้อนาคตของวิกิลีกส์จะดูลุ่มๆ ดอนๆ เพราะดันไปสร้างศัตรูเอาไว้ทั่วโลก แต่สิ่งที่ทำออกมานั่นก็ถือเป็นความกล้าไม่ใช่น้อย
      
       แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่านี้ก็คือ ความลับแบบไหน ที่ควรถูกปกปิดเอาไว้ หรือเปิดเผยออกมา ซึ่งอาจจะขัดกับหลักคิดของผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่มองว่า ผู้มีอำนาจทำอะไร ประชาชนก็ต้องรู้ เพราะบางทีความลับบางเรื่องก็อาจจะนำไปสู่ผลเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
      
       ดังคำที่ว่า เรื่องจริงบางเรื่อง ไม่พูดซะเลยก็อาจจะดีกว่า

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185