3ศาสนา4ความเชื่อ ความงดงามที่ "กะดีจีน"

คมชัดลึก :ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปีตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นาม "กุฎีจีน" หรือ "กะดีจีน" ย่านที่ความแตกต่างสามารถอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข โดยเส้นบางๆ ที่ดูเหมือนแยกผู้คนออกเป็นกลุ่มตามคติ ความเชื่อ และศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือลัทธิแบบจีน ไม่อาจเป็นอุปสรรค สมคำร่ำลือว่าเป็นย่าน "สามศาสนา สี่ความเชื่อ" ที่มีความใกล้ชิด และเอื้ออาทรต่อกันมากที่สุดชุมชนหนึ่ง
ความต่างที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิต ความเชื่อ จนถึงสถาปัตยกรรมที่ว่าล้วนมีต้นกำเนิดจากสายน้ำเจ้าพระยา อย่าง "มัสยิดกุฎีขาว" บริเวณคลองบางหลวง เป็นมัสยิดแห่งเดียวที่เป็นทรงไทยก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีหน้าบันทั้งหน้าและหลังประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาติ เริ่มจากกรอบหน้าบัน เป็นศิลปะไทยเครื่องลำยอง ส่วนในหน้าบันเป็นปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศแบบฝรั่ง และส่วนดอกไม้ เป็นดอกเมาตาลแบบจีน มาถึง "โบสถ์ซางตาครู้ส" หลังปัจจุบันสร้างเป็นรุ่นที่ 3 เมื่อปี 2378 ตรงกับปีฉลอง "วัดประยุรวงศาวาส" พอดี ถัดไปอีกนิดเป็นที่ตั้งของ "ศาลเจ้าเกียนอันเกง" ตระหง่านริมเจ้าพระยาเคียงคู่ "วัดกัลยาณมิตร"
ทุกวันนี้เส้นทางวัฒนธรรมราว 1 กิโลเมตร ตั้งแต่กุฎีขาวมาถึงสะพานพุทธมีการสร้างแนวทางเดินขนาบไปตามริมแม่น้ำเชื่อมถึงกันหมด และยังคงอนุรักษ์ความงดงามในอดีตไว้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน หรือศาสนสถานสำคัญ
มากกว่าศิลปะที่มีการผสมผสานระหว่างกัน สิ่งที่ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ใน 6 ชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนกุฎีขาว ชุมชนวัดประยุรวงศ์ ชุมชนบุปผาราม และชุมชนโรงคราม แม้จะต่างเชื้อชาติที่มา บาทหลวงฉลองรัฐ สังครัตน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสโบสถ์ซางตาครู้ส สะท้อนผ่านมุมมองได้อย่างน่าสนใจว่า การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งด้วยอาศัยสัญลักษณ์และพื้นฐานความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งสิ่งที่ติดตัวมาเป็นมรดกหาใช่เงินทอง หากเป็นความคิดทางวัฒนธรรมที่แสดงออกมา และปลูกฝังอยู่กับชุมชน
"โบสถ์ซางตาครู้สแม้จะผ่านกาลเวลามาหลายรุ่นคน แต่ยังคงงดงาม เป็นศาสนสถานที่ผู้คนต่างศาสนาเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาด นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยยังรักใคร่กลมเกลียวกัน สมัยก่อนยังไม่มีเขื่อนจึงเกิดน้ำท่วมทั้งโบถ์ส มัสยิด วัด และศาลเจ้า คนในชุมชนได้ร่วมกันสร้างสะพาน เป็นเสมือนการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาช้านาน" ผู้นำคริสตชนในชุมชนกุฎีจีน เล่าย้อน
ใครที่เคยแวะเวียนเข้ามาสัมผัสวิถีชุมชนที่นี่ จะเห็นว่ามีการให้เกียรติกันด้วยการเข้าร่วมงานทั้งมงคลและอวมงคลตามความเหมาะสม แต่ละชุมชนเอื้อเฟื้อถึงกัน โดยเฉพาะชาวคริสต์ในชุมชนกุฎีจีนยังคงสืบทอดวัฒนธรรมการกินอยู่มาจากชนชาติโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ อย่าง "ขนมกวยตัส" และ "กุดสลัง" ลักษณะคล้ายขนมไข่ ทำจากไข่แดงตีกับแป้งสาลีและน้ำตาล ทุกวันนี้บ้านที่ทำขนมฝรั่งกุฎีจีนขายเหลือเพียงอยู่ 2 หลัง คือขนมบ้านธนูสิงห์ และขนมบ้านหลานแม่เป้า หลังวัดซางตาครู้สเท่านั้น
ขนมฝรั่งโชยกลิ่นข้ามฟากมาถึงชายคาชาวชุมชนย่านวัดกัลยาณมิตร ซึ่งกำลังรังสรรค์ของกินไทยๆ อย่าง "ข้าวต้มมัด" วันดีคืนดีแม่ก้อนแก้ว แม่เฒ่าเจ้าของยี่ห้อข้าวต้มมัดเจ้าอร่อยก็จะทำไปเผื่อแผ่และแลกเปลี่ยนกับขนมฝรั่งอย่างมากมิตรไมตรี ซึ่ง เอี่ยม โลหะญาณจารี วัย 63 ปี ผู้นำชุมชนโรงคราม เล่าว่า แต่ละศาสนาแม้จะใกล้กันเพียงชายคาแต่ก็ไม่เคยบาดหมางกันใหญ่โต นั่นเพราะเวลามีเรื่องราวไม่เข้าใจกันผู้นำศาสนาจะใช้วิธีพูดคุยกัน เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีเคารพในความต่าง
"ชุมชนโรงคราม มีการดูแลเยาวชน ดูแลผู้สูงอายุ เน้นปลูกฝังให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมโดยให้เด็กๆ เป็นศูนย์กลาง หรือเรื่องอื่นๆ ที่อาจเป็นปัญหาสังคม อย่างการให้เยาวชนรับรู้ปัญหาโรคเอดส์ ยาเสพติด เด็กแว้น โดยเราไม่ห้ามตรงๆ แต่ค่อยๆ ซึมซับไป" พ่อใหญ่แห่งชุมชนโรงคราม เผยแนวทางบริหารจัดการชุมชน
ล่าสุดมีการจัดงานให้คนในชุมชนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น กับโครงการ "กะดีจีน-ศิลป์ในซอย ครั้งที่ 2" ที่ผ่านพ้นไปแล้ว มีนิทรรศการ และการแสดงทางวัฒนธรรมแบบฝรั่ง จีน แขก และไทย โดยดึงคนทั้ง 6 ชุมชน รวมทั้งนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วม จากที่ก่อนหน้านี้แต่ละชุมชนจะจัดกันเอง โดย ชาย จอนสุข พ่อเฒ่ามุสลิมวัย 82 ปี เลขานุการคณะกรรมการชุมชนกะดีขาว มองว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้คนในชุมชนรู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
"วัตถุย่อมเปลี่ยนสภาพไปตามวิถีโลก ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่อง ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดีใจคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งสามศาสนายังเหมือนเดิม แม้กระทั่งรุ่นเราเป็นปู่เป็นพ่อแล้วมีลูกหลานก็ยังสืบทอดอย่างเหนียวแน่น แต่ก็มีเรื่องที่ต้องทำใจยอมรับคือทุกวันนี้ชุมชนแออัดมาก และเริ่มทะลักออกไปข้างนอก มีไปซื้อบ้านอยู่ชานเมืองมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเวลามีงานเทศกาลทุกคนจะกลับเข้ามาร่วมช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดีงามนี้ไว้" พ่อเฒ่าวัยไม้ใกล้ฝั่ง แสดงความปรารถนา
โบราณสถานมากด้วยคุณค่าที่หลายคนชื่นชมอาจเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ยั่งยืนกว่านั่นคือความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน เป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่ควรค่าแก่การยกย่อง... |