ท่ามกลาง "สังคมทุนนิยม" ที่ผู้คนทำงานชนิดไม่เงยหน้ามองตะวัน ภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัด ส่งผลให้หลายคนล่ะทิ้งคุณธรรม และทำทุกอย่างเพื่อ "เงิน" แต่ในซอกมุมเล็กๆที่ปลายด้ามขวาน ณ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูประหนึ่งว่า ผู้คนที่นี่จะเดินสวนกระแสทุน เพราะพวกเขาเน้น "ทำความดี" แม้ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่ ผู้คนที่นี่เชื่อว่า พวกเขามีความสุขแบบครบวงจร
ในอดีต พื้นที่ตำบลปากพูน เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากอ่าวไทยเข้ามายังใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช เดิมชื่อ "ปากน้ำปากพูน" กลุ่มคนที่อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิมมีทั้งชาวไทยและมุสลิม โดยชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ส่วนใหญ่เดินทางมาจากหนองจอก ส่วนคนไทยบางส่วนอพยพมาจากเมืองเพชรบุรี
ตำบลปากพูน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน มีผู้คนอาศัยประมาณ 32,097 คน 10,998 หลังคาเรือน "ความสุข" ของผู้คนที่นี่ เกิดจากการบริหารจัดการชุมชนอย่างครบวงจรของ องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน (อบต.ปากพูน) โดยได้รับการสนับสนุนจาก "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" (สสส.)
ธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต. ปากพูน อธิบาย กรอบแนวคิด การสร้างสุข จาก "ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" หรือสรุปแบบชัดๆคือ ความสุขเริ่มขึ้นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ว่า ธรรมชาติของการทำงานในแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ จำเป็นต้องมีข้อมูลแท้จริงของแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้ข้อมูลเป็น "อำนาจ" และกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ และจากกระบวนการจัดการข้อมูลของ อบต.ปากพูน ได้นำมาสู่การจัดการสุขภาวะของผู้คนในชุมชน 4 มิติ คือ กาย , จิต ,สังคม และ ปัญญา
ในด้านของ "กาย" ชุมชนปากพูน มีกิจกรรมที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับมิติสุขภาวะทางกาย อาทิ ช่วงก่อนการครองคู่ แต่ละคนในชุมชนจะได้เรียนรู้ผังเครือญาติของตนเอง รู้ข้อมูลความเกี่ยวข้องที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม เพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรม เมื่อเข้าสู่การแต่งงานและเข้าสู่ช่วงของการตั้งครรภ์ จะได้รับการดูแลจากระบบอาสาสมัครของชุมชน (แม่อาสา) ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำ และร่วมดูแลให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการฝากครรภ์ ได้รับอาหารเสริม นมวัวผสมเกลือไอโอดีนดื่มเพื่อบำรุงครรภ์ ซึ่งเป็นทั้งการบำรุงทั้งร่างกายและสมองของทั้งแม่และเด็กในครรภ์ รวมถึงการได้รับแจกวีซีดี บทเพลงบรรเลงของโมสาร์ท และการรับแจกหนังสือเล่มแรกที่แม่อ่านให้ลูกฟังเพื่อพัฒนาทางด้านตรรกะ และสติปัญญาของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ด้าน "จิต" อบต.ปากพูน ได้จัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นในการสร้างความเข้มแข็งของสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ผ่านกระบวนการแนวคิดจิตอาสา จิตสาธารณะ และการทำงานของระบบอาสาสมัครในชุมชน โดยมีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้เกิดจิตอาสาในกลุ่มคนทุกช่วงวัย เช่นเด็กวัยเรียน จะได้รับการอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขรุ่นเยาว์ (อสม.น้อย) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อชุมชน อาทิ การร่วมดูแลผู้สูงอายุ การร่วมตรวจคัดกรองโรค และทำหน้าที่เสมือนอาสาสมัครผู้ใหญ่
ส่วนด้าน "สังคม" ที่บ้านปากพูน มุ่งเน้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับทุกๆกิจกรรม เพื่อสร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สร้างให้เกิดการรวมกลุ่มเยาวชน เช่นกลุ่มคนอาสา กลุ่มองค์กรทางการเงิน กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสัจจะ กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯ ทำให้เกิดความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนในชุมชน โดยมุ่งเน้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม
สุดท้ายการพัฒนาด้าน "ปัญญา" มีการสร้างจิตสำนึกผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง พัฒนาความคิด ส่งเสริมคนในชุมชนให้ใช้สติ ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการติดอาวุธทางปัญญา รู้จักคิดวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ทำให้เห็นภาพรวมของสุขภาวะทั้ง 4 มิติ อย่างเชื่อมโยงและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างองค์รวม เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชน เช่นธนาคารความดี ที่มุ่งเน้นในผู้คนสะสมความดี ,กิจกรรมนักสืบสายน้ำ ที่นำเด็กนักเรียน มาเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำคลอง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่ตัวเด็กและคนในชุมชนอีกด้วย
การปฏิรูปชีวิต 4 มิติไปพร้อมๆกัน ที่ ตำบลปากพูน ทำให้วันนี้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น ทุกชีวิตพึ่งพาซึ่งกันและกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของผู้คนมีให้กันเสมอ
นอกจากนี้ อบต. ปากพูน ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนอื่นๆ เดินทางเข้ามาเรียนรู้วิถีแห่งการสร้างสุขโดยไม่ปิดกั้น ขณะเดียวกันก็ได้เดินทางไปเรียนรู้วิถีสร้างสุขจากชุมชนอื่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง สิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนืออื่นใดคือ คนปากพูน เชื่อว่า ความสุข ที่ถูกส่งต่อจากที่นี่จะกระจายไปสร้างความสุขให้กับชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ในฐานะ ผู้สนับสนุนหลักในการสร้างความสุขให้ชุมชนอย่างเป็นทางการ อธิบายว่า ทุกวันนี้ปัญหาสังคมซับซ้อนมากขึ้น การแก้ปัญหาต้องเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สสส. ทำหน้าที่เป็นกองหนุน ส่งเสริมให้ชุนชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จน นำไปสู่การชักชวนท้องถิ่นอื่นๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน
"แนวคิดสำคัญคือเราจะหา อบต. ต้นแบบ คนเหล่านี้จะเป็นคนคิดเอง หน้าที่ของเราคือหนุนให้เขาสามารถพัฒนาชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้ และให้ชุมชนอื่นๆมาเรียนรู้ร่วมกัน" หมอกฤษดา กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2553 สสส. ได้ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นผ่านโครงการต่างๆนับร้อยโครงการ โดย หวังว่าการผลักดันโครงการต่างๆ เหล่านี้ จะนำไปสู่ความมีสุขภาพดี ในความหมายกว้าง ซึ่งเป็นสุขภาวะ ที่ครอบคลุมต่อเนื่อง ทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพ ดังนั้น สุขภาพจึงมิได้มีความหมายจำกัดอยู่เพียงการไม่เจ็บป่วยหรือพิการเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการดำเนินชีวิตที่ยืนยาวของทุกคน
ผู้จัดการ สสส. เชื่อว่าในระยะยาว ชุมชนเหล่านี้จะสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเอง และหากชุมชนเข้มแข็งสามารถส่งต่อความรู้ และขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลาอีกไม่นานเกินรอ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
นับเป็นวิถีแห่งความสุขที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับโมเดลสร้างความสุขที่ "บ้านปาก พูน"
ที่มา นสพ.แนวหน้า
|