หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
วิจัยชี้คนไทยอ่านแค่วันละ94นาทีจี้เร่งพัฒนาห้องสมุดต่างจังหวัด

วิจัยชี้คนไทยอ่านแค่วันละ94นาทีจี้เร่งพัฒนาห้องสมุดต่างจังหวัด

ผลวิจัยชี้คนไทยอ่านหนังสือแค่วันละ 94 นาที เด็ก-ข้าราชการใช้เวลาว่างอ่านมากที่สุด ผู้สูงอายุน้อยที่สุด เด็กไม่อ่านหนังสือระบุเพราะขี้เกียจ เด็กชนบทพ่อแม่จนไม่มีเงินซื้อหนังสือแถมยืมอ่าน หากทำหนังสือขาดถูกปรับ แนะหน่วยงานรัฐเร่งพัฒนาห้องสมุดในชนบท

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคพาร์ค) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอผลวิจัย "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของไทยปี 2552" โดย ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผอ.ทีเคพาร์ค กล่าวว่า สถานการณ์การอ่านของคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง การทำวิจัยครั้งนี้เพื่อสร้างเครื่องมือในการสะท้อนความจริงที่ชัดเจนเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาลักษณะนิสัยในการอ่านของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

 รศ.ดร.วรรณี แกมเกตุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การทำวิจัยในครั้งนี้โดยศึกษาวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 5,865 คน และจากการจัดประชุมกลุ่มย่อย 156 คน และศึกษากรณีศึกษาที่มีลักษณะนิสัยการอ่านสุดโต่งทั้งกลุ่มที่ชอบอ่านและไม่ชอบอ่านอีกจำนวน 191 คน ซึ่งทั้งหมดมาจากกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 13 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย

 ทั้งนี้ ผลการวิจัยศึกษาพบสถิติที่น่าสนใจที่สะท้อนพฤติกรรมการอ่านของคนไทยหลายอย่าง เช่น โดยเฉลี่ยคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 94 นาทีต่อวัน โดยเด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างในการอ่านมากที่สุด อาชีพข้าราชการใช้เวลาว่างอ่านหนังสือมากที่สุด ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น ภิกษุ แม่บ้าน ทหารเกณฑ์ใช้เวลาว่างอ่านน้อยที่สุด รวมทั้งคนอายุ 49 ปีขึ้นไป และพบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตเมืองมีดัชนีการอ่านมากกว่าผู้อยู่ในเขตนอกเมือง ในขณะที่เด็กและเยาวชนที่ไม่อ่านหนังสือสะท้อนว่า สาเหตุที่ไม่อ่านเพราะขี้เกียจ แม้จะมีหนังสือ มีสถานที่ให้อ่านก็ไม่อยากอ่าน

 "ผลการวิจัยนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้คนไทยเพิ่มพฤติกรรมการอ่านหนังสือให้มากขึ้น โดยนำข้อค้นพบ คือ การมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นทุนเดิม มาพัฒนาในส่วนที่เด็กและเยาวชนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการอ่าน เช่น รูปแบบของหนังสือที่มีแต่เนื้อหา ไม่น่าสนใจ ไม่ดึงดูด" รศ.ดร.วรรณีกล่าว

 ดร.สุเทพ บุญซ้อน นักวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์การอ่านฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีช่องทางในการอ่านเข้ามาเบียดเบียนการอ่านหนังสือมากขึ้น เช่น สื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งจากการวิจัยพบว่าคนสนใจอ่านจากอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก เพราะมีความสะดวกมากกว่าและไม่มีค่าใช้จ่าย สถาบันสังคมโดยเฉพาะสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้น ครอบครัวต้องลงทุนหรือสนับสนุนเด็กอ่านหนังสือมากขึ้น

 "อุปสรรคของเด็กในชนบทคือ รายได้ผู้ปกครองที่ไม่มีกำลังพอซื้อหนังสือให้เด็กอ่าน การบริจาคหนังสือมือสองไปยังชนบท แต่บางครั้งหนังสือมีความเก่า ข้อมูลในหนังสือก็เก่าตามไปด้วย หรือนักเรียนที่ยืมหนังสือเรียน ผู้ใหญ่ก็ไปกำหนดว่า ต้องส่งคืนตอนสิ้นเทอมและห้ามหนังสือขาด หรือถ้าขาดให้จ่ายเงินแทน เด็กก็กลัวไม่กล้าอ่าน ไม่กล้าเอามาโรงเรียน เพราะกลัวว่าหนังสือจะชำรุดก่อนถึงวันส่งคืน ทำให้เป็นอุปสรรคในการอ่านหนังสือ หน่วยงานรัฐควรจัดให้มีโครงการพัฒนาห้องสมุดในต่างจังหวัดและในพื้นที่ชนบทมากขึ้น" ดร.สุเทพกล่าว

ที่มา : คมชัดลึก

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185