กระทรวงการต่างประเทศ (ผิด)พลาดและชุ่ย ?
ในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชารวม 3 ฉบับ รัฐสภา เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2553 กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอเอกสารข้อมูลทั่วไปมา 1 แฟ้ม มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชาระยะ 195 กิโลเมตร จากช่องสะงำ ศรีสะเกษ ถึงช่องบก อุบลราชธานี ที่ในเอกสารเขียนว่า “...ยังไม่มีการปักหลักเขตแดน” (หน้า 44) และ “...ไม่มีการปักหลักเขตแดนใด ๆ เลยในส่วนของระยะทาง 195 กิโลเมตร” (หน้า 45) การเขียนไว้เช่นนี้ก็ไม่ผิดหรอก แต่การไม่อธิบายถึงเหตุผลที่แท้จริงว่าเหตุไฉนจึงไม่มีการปักหลักเจตแดนบริเวณนั้นทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมา 103 ปีนับแต่ปี ค.ศ.1907 ปีสุดท้ายที่มีการประชุมคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสชุดที่ 1 ที่ทำการปักปันเขตแดนให้เป็นไปตามอนุสัญญา ค.ศ.1904 การไม่อธิบายเหตุผลที่แท้จริง เมื่อมองภาพรวมของข้อมูลที่ประกอบกันอยู่ทำให้มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะเชื่อได้ว่าควรจะเร่งเจรจาปักหลักเขตแดนในบริเวณนั้นเสียให้เรียบร้อย ซึ่งก็จะต้องรักษา JBC ไว้ให้เดินหน้าต่อไป และรักษาบันทึกความเข้าใจฯ 2543 ไว้เพื่อเป็นกรอบในการทำงานของ JBC นาทีนี้ผมเห็นว่านี่คือ “หัวใจสำคัญ” ของปัญหาทั้งหมดที่ต้องอภิปรายกันให้กระจ่าง ! นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมได้ใช้สิทธิอภิปรายในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2553 โดยใช้เวลาเฉพาะกับประเด็นนี้ไม่ต่ำกว่า 30 นาที กล่าวโดยสรุปสั้นที่สุดคือ.... การปักปันเขตแดน (Delimitation) จากช่องสะงำ ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบก อุบลราชธานี ผ่านบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหาร ความยาว 195 กิโลเมตร เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 103 ปีก่อน โดยเป็นที่ยอมรับกันทั้งสยามและฝรั่งเศสว่าสันปันน้ำบริเวณนั้นมีความชัดเจนตามธรรมชาติ ไม่ต้องปักหลักเขตแดน (Demarcation) อีก ขอโทษที่ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษนะครับ เพราะคำว่า “ปักปันเขตแดน” กับ “ปักหลักเขตแดน” (หรือที่บางครั้งผมพยายามจะใช้คำว่า “จัดทำหลักเขตแดน” ตามภาษาในบันทึกความเข้าใจฯ 2543) นั้นมีความต่างกัน การปักปันเขตแดนและการปักหลักเขตแดนเป็นขั้นตอนที่ 2 และที่ 3 ของการตกลงแบ่งเขตแดนกันระหว่างสองประเทศ โดยขั้นที่ 1 คือการกำหนดนิยาม (Definition) เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสนธิสัญญา และเมื่อทำเสร็จทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วจึงไปสู่ขั้นตอนการจัดทำแผนที่ที่อาจถือเป็นขั้นตอนที่ 4 ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการของประเทศคู่สัญญาจะต้องลงนามกำกับรับรองไว้ และเมื่อ “ปักปันเขตแดน” แล้วไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้อง “ปักหลักเขตแดน” ไว้ทุกที่ เส้นเขตแดนบริเวณที่ปักปันเขตแดนได้ชัดเจนโดยสภาพของธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องปักหลักเขตแดน ในกรณีของ 195 กิโลเมตรนี้มีความชัดเจนของสันปันน้ำ เป็นหน้าผา การเดินสำรวจของคณะกรรมการผสมในช่วงระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1906 ถึงก่อนวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1907 มีหลักฐานหลายชิ้นที่สรุปได้ว่าไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ ให้ต้องถกเถียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการผสมตกลงที่จะปักปันเขตแดนให้แตกต่างไปจากสันปันน้ำตามธรรมชาติ หรือเป็นไปตามแผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรักที่อุบัติขึ้นในโลกนี้ที่ปารีส ฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1907 หรืออีก 10 เดือนถัดมา ซึ่งก็มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่า แผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรัก และระวางอื่น ๆ อีก 10 ระวางที่จัดพิมพ์ในคราวเดียวกันล้วนเป็นแผนที่เถื่อน อย่าว่าแต่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศสจะไม่ได้ลงนามรับรองเลย แม้แต่เห็นยังไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะคณะกรรมการฯประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1907 ในประเด็นหลังนี้ กรมสนธิสัญญายอมรับแล้วในเอกสารชุดที่ส่งให้คณะกรรมาธิการฯว่า “...แผนที่ดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการปักปันผสมตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 เพราะคณะกรรมการปักปันผสมชุดนี้ได้สลายตัวไปก่อนที่แผนที่ชุดดังกล่าวจะจัดพิมพ์สำเร็จ” หลังจากทำผิดพลาดมาในปี 2543 ที่ไปเสนออดีตนายกฯชวน หลีกภัย จนก่อให้เกิดบันทึกความเข้าใจฯ 2543 ข้อ 1 (ค) และการดำเนินการต่อจากนั้นที่ไปเข้าทางกัมพูชาให้มีการปักหลักเขตแดนตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่เว้น 195 กิโลเมตร แถมยังตกหลุมพรางใหญ่ตกลงจะจัดทำกันในบริเวณตอนที่ 6 ตอนที่ 7 คือบริเวณปราสาทพระวิหารก่อน ทั้ง ๆ ที่การสำรวจหลักเขตแดน 73 หลักในระยะ 603 กิโลเมตรจากช่องสะงำไปจรดจังหวัดตราดทำไปได้เพียงครึ่งเดียว การตกลงจะจัดทำหลักเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร บวกกับบันทึกความเข้าใจฯข้อ 1 (ค) มีผลทำให้บริเวณนั้นเกิดเส้น 2 เส้นขึ้นมาทันที เส้นที่ 1 คือสันปันน้ำตามธรรมชาติที่สยามกับฝรั่งเศสยึดถือมาตั้งแต่ค.ศ. 1907 แม้ในปี 2505 ศาลโลกจะพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เราก็จะเพียงเสียพื้นที่เฉพาะบริเวณตัวปราสาทเท่านั้นตามแนวรั้วลวดหนามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 มีมติให้ล้อมไว้เป็นเขตปฏิบัติการ เส้นที่ 2 คือเส้นตามแผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรักที่กัมพูชายึดถือ และที่บันทึกความเข้าใจฯ 2543 ข้อ 1 (ค) ไปเขียนไว้ให้เป็นที่ถกเถียงว่าหมายความถึง พื้นที่ระหว่าง 2 เส้นนี้คืออาณาบริเวณที่รู้จักกันในนาม 4.6 ตารางกิโลเมตร เจรจาตามกรอบ JBC ที่เดินตามบันทึกความเข้าใจฯ 2543 ไปอย่างไรก็มีแต่เสียกับเสียครับ ! จะเสียมากหรือเสียน้อยเท่านั้น !! เพราะในการเจรจาย่อมมีได้มีเสียมีการประนีประนอมยอมกันใช่ไหม ? ถ้าคิดว่าจะเจรจากันตามกรอบนี้ต่อไปโดยที่เราจะยังคงยึดถือเส้นที่ 1 ตายตัวอย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพยายามจะรับปากแข็งขันในระยะหลัง ก็มีค่าเท่ากับไม่เจรจาแหละครับ เพราะกัมพูชาเขารุกคืบที่ละนิ้วที่ละฟุตจนเดินหน้าได้เป็นศอกเป็นวาอย่างนี้แล้ว มีหรือเขาจะยอมง่าย ๆ บนโต๊ะเจรจา ถ้าท่านนายกฯจริงใจที่จะไม่ถอยจากเส้นที่ 1 ตามวาจาจริง ถอนบันทึก JBC ออกมา แล้วเสนอกรอบการเจรจาใหม่ต่อรัฐสภาตามข้อเรียกร้องของผม ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ส่วนบันทึกความเข้าใจฯ 2543 นั้น ขอโทษนะครับ...ผมยิ่งอ่านซ้ำก็ยิ่งเห็น “ความ(ผิด)พลาด”, “ความชุ่ย” และ ฯลฯ ของกระทรวงการต่างประเทศ ในฉบับภาษาอังกฤษ ย่อหน้าที่ 2 เขียนไว้ว่า “Believing that the demarcation of land boundary between the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Cambodia...” โปรดสังเกตที่ผมขีดเส้นใต้คำว่า “the demarcation” ไว้นะครับ ฉบับภาษาไทยท่านเขียนไว้อย่างไรทราบไหม ? ท่านเขียนไว้อย่างนี้ครับ... “เชื่อว่าการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา...” ทำไม “the demarcation” ซึ่งหมายถึง “การปักหลักเขตแดน...” หรือภาษาในบันทึกความเข้าใจฯ 2543 นี้ที่อื่นหรือหัวเรื่องใช้ว่า “การจัดทำหลักเขตแดนทางบก” ถึงกลายมาเป็น “การปักปันเขตแดน...” ไปได้ ? แค่ตกหลุมยอม “ปักหลักเขตแดน...” ตลอดแนว โดยพาะช่วง 195 กิโลเมตร ที่ก่อให้เกิดเส้นที่ 2 ขึ้น ก็สุ่มเสี่ยงสูงต่อแนวโน้มการสูญเสียดินแดนในอนาคตมากแล้ว... นี่ยัง “(ผิด)พลาด”, “ชุ่ย” แปลผิดไประดับจะ “ปักปันเขตแดน...” กันใหม่เลยหรือ ? ถ้าผมเป็นคนช่างหาเรื่องมากกว่านี้ คงจะจับจุดย่อหน้าที่ 2 บันทึกความเข้าใจฯ 2543 ฉบับภาษาไทยนี้มาหาเรื่องกล่าวประณามกันได้มากกว่าคำว่า “(ผิด)พลาด”, “ชุ่ย” เป็นแน่ !
ที่มา ; ผุ้จัดการออนไลน์ |