นริศรา เล็งเพิ่มเงินรายหัวเรียนฟรีอาชีวะ (เดลินิวส์)
น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างการเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายประจำปีงบประมาณ 2554 แก่ผู้บริหาร รองผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบเทค) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ว่า การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญจาก 40:60 เป็น 60:40 ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่มีโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 จำนวนผู้เรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 47 แต่ปรากฏว่ายอดผู้เรียนมีการออกกลางคันต่อเนื่องจนถึงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 รวมแล้วเกือบร้อยละ 50 ซึ่งตนได้มอบให้ผู้บริหาร สอศ. ไปตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากการจัดการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ หรือ มาเรียนแล้วไม่ได้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ จึงออกไปเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยให้รายงานกลับมาภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ใช่เพื่อหาคนผิดในสถานศึกษา แต่เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงงบประมาณเรียนฟรี 15 ปีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รมช.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อ สอศ. ไม่สามารถที่จะทำในเรื่องของปริมาณให้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายได้ ตนจึงอยากจะให้เน้นในเรื่องของคุณภาพแทน โดยจะมีการปรับงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนรายหัวโครงการเรียนฟรีฯ ในส่วนของสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น จบแล้วทุกคนมีงานทำทั้ง 100% และเป็นสาขาวิชาที่มีรายได้เทียบเท่ากับการจบปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษา อาทิ ช่างยนต์ จะปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวต่อคนต่อปีจาก 6,500 บาทเป็น 12,000 บาท พาณิชย์นาวี จาก 6,500 บาทเป็น 25,000 บาท การโรงแรมและการท่องเที่ยว 5,500 บาทเป็น 9,000 บาท อย่างไรก็ตามตนได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนของ สอศ.ไปวิเคราะห์ตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อเตรียมจัดทำคำของบประมาณในปี 2555 ส่วนในปีการศึกษา 2554 ที่จะถึงนี้ก็สามารถที่จะขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ ซึ่งสำนักงบประมาณก็ไม่ขัดข้องเพียงแต่ขอให้เสนอตัวเลขที่ชัดเจนมา น.ส.นริศรา กล่าวด้วยว่า ตนได้มอบให้เลขาธิการ กอศ.ไปจัดตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปการอาชีวศึกษา เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปการอาชีวศึกษาภายใต้แผนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ซึ่งตนตั้งใจที่จะให้มีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยต้องเร่งจัดทำแผนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 |