หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
หม่อมอุ๋ย เตือน ศก.ไทยระวัง ฟองสบู่แตก ทั้งหุ้น-อสังหาฯ มาร์ค ตีปี๊ปเดือนหน้าเร่งสร้างความเป็นธรรม
"หม่อมอุ๋ย" เตือน ศก.ไทยระวัง "ฟองสบู่แตก" ทั้งหุ้น-อสังหาฯ "มาร์ค" ตีปี๊ปเดือนหน้าเร่งสร้างความเป็นธรรม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการรับมือของรัฐบาล" ในงานสัมนา ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของจีดีพี ปี′ 54 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ว่า  ปัญหาความไม่สมดุลในภาวะเศรษฐกิจโลกคงไม่หายไปง่ายๆ ตราบใดที่สหรัฐฯใช้นโยบายการเงินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เงินที่มีอยู่จำนวนมากก็จะไหลเข้าเอเชีย และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การค้าขาย และรายได้ภาคการเกษตรมากพอสมควร รัฐบาลตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้และเตรียมพร้อมจะรับมือความผันผวน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ภายในเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลจะเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ 1. การปรับโครงสร้างต้นทุนด้านราคา แก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งต้นทุนพื้นฐาน เช่น พลังงาน ต้นทุนเกษตร ปัญหาของแพง จะต้องมีการทบทวนโครงสร้างหลายตัวครั้งใหญ่ 2.การดูแลภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้าให้เข้ามาอยูในระบบ ได้รับการดูแลที่ดี เข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่ให้ถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าเศรษฐกิจปี 2554 มีโอกาสจะโตได้ 5-6% แต่มีความเสี่ยงทั้งทางด้านการบริโภคในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน และการส่งออก ซึ่งหากรัฐแก้ไขไม่ได้ จะไม่สามารถขยายตัวในระดับดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่หนักหนากว่าความเสี่ยงอื่นๆ คือความเสี่ยงเงินไหลเข้าประเทศ ตอนแรกตนก็ไม่ได้สนใจ จนนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาทะเลาะกับธปท.จนต้องลงมาดู และพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สหรัฐและยุโรปใช้นโยบายใส่เงินท่วมตลาด โดยดอกเบี้ยในสหรัฐและยุโรปต่ำมาก อยู่ที่ 0.25-0.125 %  และอาจจะเหลือ 0% ในเร็วๆนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยตราสารหนี้ในไทย อยู่ที่ 3.0-3.5% ทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยตั้งแต่มิถุนายน-กันยายน 2553 หรือเพียง 4 เดือน เงินไหลเข้าไทยถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงเท่ากับที่ไหลเข้าตลอดปี 2552 ที่ผ่านมาธปท.ได้แทรกแซงไปแล้ว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นอีก 2.50 บาท 

"นายกรัฐมนตรีบอกว่าเราต้องปรับปรุงความสามารถทางการแข่งขัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องค่อยๆ ให้โอกาสในการปรับตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภายใน 4 เดือนค่าเงินแข็งค่าขึ้นมาก ถึง 7.5% หรือ 2.5 บาท รัฐบาลต้องใส่ใจความรุนแรงของปัญหา รัฐไม่รู้ความลึกของมัน ต้องเข้าใจว่าปัญหาหนักกว่าที่ภาคเอกชนจะปรับตัวได้ทัน เพราะเท่าที่ดูค่าเงินดอลลาร์คงต้องอ่อนค่าลงไปอีก ดังนั้นโอกาสที่เงินจะหยุดไหลเข้าคงไม่เห็น รัฐบาลจึงจำเป็น ต้องเข้ามาช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เพื่อให้ผู้ส่งออกปรับตัว เพราะถ้าให้แข็งค่าต่อไป จนผู้ส่งออกจะล้มระนาว ซึ่งเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวว่า อยากเสนอรัฐบาลให้กันเงินที่จะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ด้วยการเก็บภาษีจากเงินต้นที่ไหลเข้ามา ในอัตราเท่ากับความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย หรือเก็บในอัตราที่น้อยกว่าก่อนก็ได้ เหมือนที่ประเทศบราซิลจัดเก็บ เพราะการเก็บในอัตราน้อยก่อนจะมีผลต่อจิตวิทยา ชะลอการไหลเข้าของเงินได้ แต่อย่าไปแตะเงินที่เข้ามาลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) และเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ค่าเงินก็จะไม่แข็งค่าขนาดนี้ 
 "น่าห่วงว่าใครจะใจกล้าตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เพราะธปท.ตัดสินใจได้แค่การแทรกแซง เกินกว่านั้นทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ทำก็อาจจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้" ม.ร.ว.ปรีดียาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดียาธรกล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือ จะเกิดสภาพคล่องมากมาย และเกิดปัญหา Asset price bubble  หรือราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากเป็นฟองสบู่ ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ และในตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นขึ้นไปถึง 30% จากระดับ 760 จุดในเดือนพฤษภาคม จนมาแตะระดับใกล้ 1,000 จุด ขณะนี้เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นแตกเพราะฟองสบู่ยังมีความเหนียวอยู่ แต่ตราบใดที่เงินทุนยังไหลเข้าแบบนี้ ความเหนียวก็จะบางลงและฟองสบู่แตกได้  

"หุ้นค่อยๆขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มแล้ว ก็จะเริ่มเห็นลักษณะที่ตึงตัว เพราะได้กำไรง่ายๆจากตลาดหุ้นก็ไปเอาจองซื้ออสังหาฯ รัฐบาลจะต้องมองไกลมากกว่าวันต่อวัน ที่ออกมาพูดวันนี้ เพราะเห็นตัวเลขนี้ชัดเจน ถ้าปล่อยไปก็จะเจอ 2 เด้ง  มีความเสี่ยงรุนแรง ในเรื่อง Asset price bubble จะหนักขึ้นทั้งหุ้นและอสังหาฯ เป็นปีไหนคงตอบไม่ได้ อาจจะเป็นปีหน้าก็ได้ ถ้าปล่อยให้แตกก็จบ"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐนั้น รัฐบาลตั้งงบเก่งแต่ใช้เงินไม่เก่ง เพราะมีคอร์รัปชั่นมากออกมาขัดกันไปหมด นายกรัฐมนตรีก็พยายามป้องกันปัญหา แต่พอไม่มีคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจก็ไม่เดิน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องจัดการให้เดินโดยที่ไม่มีคอร์รัปชั่น แม้จะยากแต่ก็ต้องทำ เพราะในปีหน้าภาคการส่งออกจะไม่ใช่พระเอก จึงจำเป็นต้องใช้การกระตุ้นจากรัฐบาล เป็นโจทย์ที่อยู่ในมือรัฐบาล เมื่อมีอำนาจที่จะทำก็ต้องทำให้ได้ 

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงิน และกรรมการการลงทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า การดูแลค่าเงินบาทคงต้องพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญระหว่างภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจาก 3% เป็น 3.5% รัฐบาลจะรับได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จาก 33 บาท มาอยู่ที่ 30บาท สุดท้ายภาระจะตกอยู่ที่เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน 

"ขณะเดียวกัน ธปท.มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 1.63 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าต้นปีที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 3 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับว่าธปท.จะขาดทุน 4.5 แสนล้านบาท แต่ในทุนสำรองฯไม่มีแต่เงินสกุลดอลลาร์ ยังมีเงินสกุลอื่นอีก 50% ดังนั้น ธปท.น่าจะขาดทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท" นายศุภรัตน์ กล่าวและว่า ทุนสำรองที่มีอยู่มาก อยากเสนอให้ธปท.แบ่งเงินบางส่วนมาปล่อยกู้ให้รัฐบาลใช้ลงทุนสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ส่วนภาคเอกชนให้กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ โดยกำหนดเงื่อนไขให้กู้เป็นเงินตราต่างประเทศเท่านั้น และให้ลงทุนในสินค้าทุนที่ต้องนำเข้า ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีต้นทุนต่ำ เกิดปัญหาหนี้สาธารณะลดน้อยลง รวมทั้งลดปัญหาเงินทุนไหลออก 

วันเดียวกัน สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จัดเสวนา  "IMF?s World Economic Outlook : Implications for Thailand and Asia " โดยนายโรเบอร์โต คาร์ดาเรลิ เศรษฐกรภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ถึง 7.5% ขณะที่ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัว 4% เนื่องจากฐานที่สูงของปีนี้และการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยควรใช้จังหวะช่วงที่เงินบาทแข็งสร้างอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภคในประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว 

"ค่าเงินในเอเชียที่ปรับแข็งค่าก็น่าจะใช้จังหวะนี้นี้นำเข้าสินค้าทุน เพราะขณะนี้สินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลง น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศในเอเชียสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นด้วย" นายโรเบอร์โต กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทและดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งสองตลาดต่างได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะอัดฉีดเม็ดเงินแก้เศรษฐกิจสหรัฐน้อยกว่าที่คาด ทำให้ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 29.96 -30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากช่วงเปิดตลาดที่ระดับ 29.88-29.91 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือครองเงินดอลลาร์แทน เพราะเห็นว่าประกาศของเฟดแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่แย่อย่างที่คิด

อย่างไรก็ตาม ประกาศของเฟดดังกล่าวกลับส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงตามตลาดต่างประเทศที่กังวลมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องในสหรัฐยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าระหว่างวันดัชนีสามารถปรับขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1,000.31 จุด ปรับขึ้น 4.27 จุด โดยดัชนีปิดตลาดที่ 983.96 จุด ลดลง 12.08 จุด หรือ 1.21% มูลค่าการซื้อขาย 32,134.72 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 158.76 ล้านบาท

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงเนื่องจากในช่วงบ่ายทางการเกาหลีใต้ได้ส่งสัญญาณจะออกมาตรการคุมเงินทุนไหลเข้า ทำให้นักลงทุนกังวลว่าไทยอาจจะมีมาตรการควบคุมตามออกมาด้วย

 

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่ามีสัญญาณฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ว่า เป็นข้อสังเกตที่ดี เพราะขณะนี้ภาวะเงินทุนที่ไหลเข้ามามีความเสี่ยงว่าอาจนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ราคาสูงขึ้นจนเกินพอดี ประเด็นนี้ ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้สินเชื่อมีกิจกรรมที่คึกคักมากขึ้น ทาง ธปท.ต้องดูแลให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจริง และต้องดูการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้มีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันมากจนเกิดการเก็งกำไร

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185