หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่มุสลิมไทย โพสต์
 
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
น้ำท่วม 2553 ความล้มเหลวของระบบเตือนภัยของไทย?

น้ำท่วม 2553’ ความล้มเหลวของระบบเตือนภัยของไทย? (ผู้จัดการออนไลน์)

จากที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่ได้เป็นกระแสข่าวมาก่อนว่า ฝนที่ตกติดๆ กันหลายวันๆ จะกลายเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ ที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี จนต้องรีบสร้างทีมเฉพาะกิจมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การระดมเสบียงอาหาร ของใช้ประจำวัน และยารักษาโรค มีการประชาสัมพันธ์ออกทางสื่อต่างๆ ทุกวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี
        
       
       สถานการณ์ในวันนี้ นับว่าน่าเป็นห่วงมากในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น 'พิษณุโลก' 'นนทบุรี' หรือ 'ปทุมธานี' ที่น้ำกำลังเพิ่มระดับมากขึ้น ส่วน'พระนครศรีอยุธยา' ก็หนักไม่ใช่เล่นเพราะระดับน้ำที่สูงกว่า 2 เมตรทำเอาชาวบ้านต้องขนย้ายของขึ้นมานอนบนถนน
       
       อีกทั้งการ คมนาคม อาทิ ถนนหนทาง และ ทางรถไฟบางสาย ที่ปัจจุบันถูกน้ำท่วมอย่างหนักจนไม่สามารถสัญจรผ่านไปผ่านมาได้ และไหนจะที่นาอีกหลายหมื่นไร่ ในเขต 'อุทัยธานี' และ 'ปราจีนบุรี' ที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำอย่างสิ้นหวัง
       
       เรียกได้ว่ากระทบหมดทั้ง การท่องเที่ยว การเกษตร รวมถึงคุณภาพชีวิตในหลายพื้นที่ถือว่าย่ำแย่หนัก อาทิ กรณีการลำเลียงผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลมหาราชหนีน้ำท่วมใน 'นครราชสีมา' การเฝ้าระวังขโมยขโจรที่จะฉวยโอกาสฉกข้าวของที่อพยพขึ้นมาบนถนน และล่าสุดกับ 'จระเข้' หลายร้อยตัว ที่แตกทะลักออกมาจากฟาร์มหลายแห่ง
       
       แม้รัฐบาลจะออกมาอัดฉีดเงินช่วยเหลือกว่า 100 ล้านบาท และออกมาเตือนให้ประชาชนขนของขึ้นที่สูง รวมทั้งมีการแจกกระสอบทราย แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ชัดเจนคือทุกๆ ความเคลื่อนไหวของสังคมในตอนนี้ ล้วนแต่เป็นการ 'แก้ปัญหาเฉพาะหน้า' ทั้งสิ้น แม้จะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หากแต่ถ้ามีการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ ความเสียหายคงลดน้อยลงมากกว่านี้หลายเท่า
       
       มาดูระบบพยากรณ์ของไทย แบบคลุกวงใน ว่าแท้ที่จริงแล้วมีสภาพการณ์เป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน
       
       ย้อนตำนานการพยากรณ์แบบโบราณ 
       
       “ในอดีตน้ำท่วมไม่เคยถูกจัดอยู่ในหมวดของ 'หายนะ' มาก่อน เพราะคนไทยเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำเรื่อยมา เพราะเพียงแค่สังเกตธรรมชาติแล้วเรียนรู้ที่จะปรับตัวตาม ก็สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข”
       
       นั่นคือคำบอกเล่าของ สมจิตร ดวงมาก ชาวพัทลุงวัย 55 ปี ในฐานะผู้ที่ได้การถ่ายทอดความเชื่อการสังเกตธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า คนโบราณจะมีความเชื่อหลายต่อหลายอย่างด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็จะมีเรื่องการพยากรณ์เรื่องดินฟ้าอากาศ ที่มีการสังเกตจากพฤติกรรมของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นแมวหรือมด โดยเรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อที่พูดต่อๆ กันมาจนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
       
       “สมัยก่อน ก่อนที่ฝนจะตก ตามความเชื่อคนโบราณจะมีสิ่งที่จะบอกให้รู้ล่วงหน้าหรือลางบอกเหตุว่า ฝนจะตกแล้ว จากการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์อย่างแมวและมด โดยแมวนั้นก่อนฝนตกจะมีการเอาเท้าหน้าไม่ว่าจะเท้าซ้ายหรือเท้าขวาไปเช็ดน้ำลายที่ปาก แล้วเอาเท้าที่มีน้ำลายนั้นมาลูบหน้าหรือเช็ดที่หน้าและจะแสดงพฤติกรรมแบบนี้เกือบตลอดทั้งวัน เมื่อเห็นแมวเป็นเช่นนี้ก็จะมีเรียกว่า แมวล้างหน้าที่เป็นสัญญาณบอกว่าอาจจะมีฝนตกในไม่ช้านี้ ขณะที่มดซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เป็นสิ่งบอกเหตุได้ดีเป็นอย่างดี มดที่ว่าก็ได้แก่ มดดำ มดคันร้อน ที่ก่อนฝนจะตกสัก 3 วันก็จะสังเกตได้ว่ามดต่างๆ เหล่านี้จะขนไข่ของตนเองขึ้นไปบนที่สูง และหลังจากนั้นสองถึงสามวันฝนก็ตกจริงๆ”
       
       แต่กับสมัยของวิทยาศาสตร์ สมจิตร บอกว่า ความเชื่อเหล่านี้ไม่สามารถช่วยอะไรได้อีกต่อไป เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัย จากแพ จากบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง หรือ การสัญจรด้วยเรือ ก็ถูกแทนที่ด้วยถนนหนทาง และรถรา
       
       “จากเดิมน้ำมาเราถือว่าเป็นเรื่องปกติ บ้านเราก็ออกแบบให้อยู่กับมันได้ ฤดูน้ำหลากไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้เราอยู่ติดพื้น เราสร้างเขื่อนสร้างอะไร น้ำมันก็เลยกลายเป็นภัยธรรมชาติ”
       
       สู่ยุคใหม่อันไร้ความน่าเชื่อถือ? 
       
       แต่ถ้าพูดการพยากรณ์อากาศในทุกวันนี้ หลายคนคงมักจะนึกถึงหนุ่มสาวหน้าตาดีที่มาพร้อมแบ็กกราวนด์แผนที่ประเทศไทย แล้วชี้บอกว่าตรงนั้น ตรงนี้ อากาศจะเป็นอย่างไร แต่ก็น้อยนักที่จะมีใครยึดคำนายเหล่านี้เป็นสรณะในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือประกอบกิจใดๆ เช่นเดียวกับคนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ไม่มีโอกาสทราบชะตากรรมของตัวเองล่วงหน้าเลย
       
       “ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแจ้งเตือนอะไรเป็นพิเศษมาก่อนเลย มีแค่บอกว่าช่วงนี้จะมีฝนตกหนัก ฝนตกถี่ ซึ่งเราก็เตรียมตัวรับมือนะ เราก็เอากระสอบทรายมาวางบ้าง ขนของไว้ข้างบนบ้าง แต่เราก็ไม่คาดคิดว่ามันจะหนักขนาดนี้ เพราะเท่าที่ได้ยินจากโทรทัศน์เราก็ไม่เคยรู้สึกเลยว่ามันจะทำให้น้ำท่วมถึงเมตร 2 เมตร แบบนี้ แล้วก็เห็นออกมาวิเคราะห์กันนักกันหนาว่า เป็นเพราะอะไรๆ แต่ในเมื่อรู้แล้วทำไมถึงไม่บอกกล่าวกันให้รู้มากๆ ล่ะ เพราะตอนนี้ก็ต้องหนีมาอยู่บ้านญาติ ข้าวของก็เสียหาย ถึงเราจะไม่โดนหนักอย่างบางที่ แต่แค่นี้เราก็รู้สึกว่าแย่มากแล้ว เพราะเราไม่เคยคาดคิดเลย ที่ผ่านมามันไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้เลยจริงๆ” จินดา มาลาแก้ว แม่ค้าริมฝั่งลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เปิดใจ
       
       หญิงแกร่งผู้นี้ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า การกันไว้ดีกว่าแก้ ย่อมดีกว่ามาเยียวยาความเสียหาย
       
       “ถ้าเกิดทายแล้วมันเกิดไม่ถูก อย่างน้อยมันก็ไม่เสียหายไง อย่างน้อยเราได้เตรียมตัว เราไม่ได้มีเรือ เราไม่มีกำลังคนจะขนของ จะทำอะไรก็ลำบาก”
       
       ข้อมูลมี แต่ไร้การต่อยอด
       
       ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นว่า จริงๆ แล้วปัญหาหลักในมาจากการที่ภาครัฐไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจน ส่งผลให้หน่วยงานที่มีข้อมูลอย่างกรมอุตุนิยมวิทยา กับหน่วยงานที่ต้องไปปฏิบัติอย่าง องค์กรปกครองทั้งหลาย ไม่ว่าจะส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นขาดการประสานงานกัน
       
       “การเตือนภัยธรรมชาติ หลักๆ ต้องมี 3 อย่างด้วยกัน คือข้อมูล ผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติ และการเตือนภัย แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ ปริมาณแบบนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม เอาไปบอกผู้บริหารท้องถิ่น ให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหารกักไว้ ความเสียหายมันก็จะน้อยลง”
       
       แม้ว่าข้อมูลจะมีประสิทธิภาพในการทำนายผลที่สูง จนสามารถทำนายได้ล่วงหน้าเป็นเดือน แต่พอหน่วยงานราชการไม่สนใจ หรือวางแผนอะไรรองรับเอาไว้ ทำให้ดูเหมือนการพยากรณ์ไม่แม่น ไม่ถูกต้อง ทั้งที่จริงแล้วไม่เกิดการนำไปขยายผล ซึ่งสาเหตุหลักมักมาจากความไม่กล้าหรือกลัวจะถูกประชาชนบริภาษ เพราะกลัวประชาชนจะตื่นตกใจ รวมไปถึงความชะล่าใจ เพราะไม่เคยได้เรียนรู้ หรือปลูกฝังให้ทราบถึงความจำเป็นของการเตือนภัย ตลอดจนไม่มีการนำบทเรียนในอดีตมาใช้ เพราะอย่างที่ทราบว่า ปัญหาลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นมาครั้งแรก แต่เกิดมาบ่อยครั้งแล้วจนนับไม่ถ้วนแล้ว
       
       “รัฐต้องมีความจริงใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร โดยกำหนดให้เป็นนโยบายชัดเจน เน้นที่การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด อบต. อบจ. ต้องออกมาให้ความรู้แก่ประชาชน ขณะที่หน่วยงานชลประทานเองก็ต้องระมัดระวังในการปล่อยน้ำ ควรจะพร่องน้ำออกมาก่อน เพราะรู้ว่าฝนจะตก พอฝนตกเขื่อนจะได้รองรับน้ำได้ แต่กลับเก็บน้ำไว้เต็มเลย พอฝนตกน้ำก็ล้นเขื่อน ล้นแล้วก็ไหลออกมาตามธรรมชาติ ประดังกับน้ำฝนที่มันท่วมพื้นที่” 
       ……..
       
       ถ้าการพยากรณ์แบบโบราณสามารถทำให้คนสมัยก่อนอยู่รอดอย่างไร้ปัญหากับ 'น้ำ' มาได้ หนทางข้างหน้านับจากวันนี้ไป คงต้องมานั่งคิดหาวิธีกันว่าจะนำภูมิปัญญาอันแสนไฮเทคในปัจจุบัน มาใช้ให้ถูกทางได้อย่างไร...

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/muslimthai/main/index.php on line 185