
วีรพงษ์ - ธีรศักดิ์
ดร.โกร่ง เล็งทิศทางเงินเอเชียแข็งค่า ห่วงไทยกำหนดนโยบายการเงินไม่สอดรับบาทแข็ง ...
นายวีรพงษ์ รามางกูร (ดร.โกร่ง) ประธานบริหาร บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) และอดีตรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ให้ความเห็นกรณีที่ธนาคารกลางของจีนประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ซึ่งอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดโลกว่า จีนน่าจะต้องการให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากสหรัฐฯลง ขณะเดียวกัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยังคงเป็นไปเพื่อลดความร้อนแรงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นดับเบิลดิจิต (ตัวเลข 2 หลัก)
"จีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตนอย่างไร หรือต่อให้ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากไป 5% ก็ไม่ต้องไปเป็นห่วงว่า เขาจะควบคุมเงินทุนไหลเข้าไม่ได้ หรือจะยิ่งทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่เขากำหนด เพราะต้องไม่ลืมว่า จีนยังไม่ได้เปิดเสรีการเงิน ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จำต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของการเปิดเสรีการเงิน (BIBF) เขาจึงสามารถควบคุมเงินทุนไหลเข้า/ออกได้ง่าย ไม่เหมือนกับประเทศไทย"
ดร.โกร่งกล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็ดี นโยบายดอกเบี้ยก็ดี เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นหลัก ถ้าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเดียวกับจีน จะต้องดูตัวเองว่า เศรษฐกิจเติบโตในลักษณะที่ร้อนแรงเช่นเดียวกับเขาหรือไม่ ถ้าไม่ จะไปขึ้นดอกเบี้ยตามเขา หรือไปเที่ยวส่งสัญญาณผิดๆว่า อัตราดอกเบี้ยโลกมีทิศทางขาขึ้นอีกแล้ว ก็จะเข้าตำราโง่ หนำซ้ำไม่ยอมมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือแยกแยะให้ออกเพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน
ขณะที่นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของจีน เป็นไปเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงมากมาตลอด จึงไม่ถือเป็นการสวนกระแสโลก ส่วนสาเหตุที่สหรัฐฯและยุโรปต้องกดดอกเบี้ยลงก็เพราะเศรษฐกิจเปราะบาง แต่จีนกลับกลัวว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเกินไป สิ่งที่จีนทำ จึงถือว่าเหมาะสม และถูกต้องกับสถานการณ์ของเขาแล้ว ส่วนเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัว ก็ทำถูกแล้วที่ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ถือเป็นแค่อาฟเตอร์ช็อก หลังเกิดแผ่นดินไหว เพราะโดยหลักการเมื่อจีนขึ้นดอกเบี้ย ก็กระตุ้นให้มีการขายเงินที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่น เพื่อโยกน้ำหนักการลงทุนไปที่จีน จึงทำให้ราคาทองคำ และน้ำมันดิบร่วง แต่ก็ถือเป็นแค่อารมณ์ช่วงต้นของตลาดเท่านั้น เช่นเดียวกับการที่เงินหยวนอ่อนค่าลง แทนที่จะแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ เพราะในระยะยาวแล้ว หยวนน่าจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่า นโยบายสหรัฐฯที่กดดันให้เงินหยวนแข็งค่ามาโดยตลอดประสบผลสำเร็จ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีปัญหามีส่วนสำคัญจากเงินหยวนที่อ่อนค่า ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีนมาก เมื่อจีนขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลถึงการแข็งค่าของเงินหยวน ก็จะทำให้สินค้าจีนแพงขึ้น ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าจีนลดลง เศรษฐกิจสหรัฐฯก็น่าจะดีขึ้นด้วย
"ไม่ต้องห่วงจีน เพราะเขาฉลาด แม้เงินหยวนจะแข็งค่า หรือทำให้สินค้าจีนแพงขึ้น แต่จีนจะสามารถสร้างดุลยภาพให้แก่ตัวเองได้ เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรง เกิดขึ้นเฉพาะบางภูมิภาค ยังไม่เคลื่อน ที่ไปพร้อมกันทั้งประเทศ จีนจึงสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังส่วนอื่นๆที่เศรษฐกิจยังไม่เติบโต ซึ่งทำ ให้ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า และถือเป็นการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนไปใส่ในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เกิดความสมดุลได้ และถ้าจีนปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเป็นระยะๆ เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น และเงินดอลลาร์ก็จะกลับมาแข็งค่าได้ แต่ ถ้าจีนขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วไม่ขึ้นอีก สถานการณ์ จะกลับเข้าสู่ภาวะเดิม คือ เงินดอลลาร์อ่อนค่า และสกุลเงินเอเชีย รวมถึงเงินบาทจะแข็งค่าต่อไป"
ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ไทยยังยืนยันด้วยว่า การขึ้นดอกเบี้ยของจีน ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ของไทยซึ่งอยู่ที่ 6% ขณะที่ผู้ประกอบการจีนมีศักยภาพที่จะรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ ที่สำคัญจีนสามารถควบคุมการไหลเข้า/ออกของเงินทุนได้ชะงัด จึงควบคุมค่าเงินหยวนขึ้น/ลงได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนยังมีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อสูงมาก แม้หยวนจะปรับขึ้นหลายครั้ง แต่ในท้ายที่สุด ผู้ซื้อก็ต้องสั่งซื้อสินค้าจากจีน เพราะราคาที่เสนอขายต่ำกว่าผู้ผลิตจากประเทศอื่น. |