สภาผ่านร่างกองทุนการออมสะสมเดือนละ100-1,000บาท
รัฐสภา : สภาผ่านร่าง กม.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปอายุ 20-60 ปีที่ไม่อยู่ในระบบราชการจ่ายเงินสมทบกองทุน 100-1,000 บาทต่อเดือน และรัฐบาลสมทบอีกส่วนหนึ่ง แล้วจะจ่ายให้เป็นรายเดือนหลังอายุ 60 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 338 เสียง รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในวาระที่ 1 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาขึ้นมาพิจารณาจำนวน 36 คน ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ จัดตั้งกองทุนให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว โดยเปิดให้ประชาชนผู้เข้าร่วมจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาทต่อเดือน แล้วรัฐจะจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยหลังจากที่อายุครบ 60 ปีจะได้รับเงินเป็นรายเดือน
ทั้งนี้ ในการอภิปรายส่วนใหญ่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เป็นห่วงว่าการบริหารงานของ กอช. จะขาดทุนเหมือนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในมาตรา 34 ที่กำหนดว่ารัฐบาลจะเฉลี่ยคืนผลประโยชน์เมื่อตอนที่สมาชิกกองทุนมีอายุ 60 ปี โดยจะให้ไปถึงตอนอายุ 80 ปี เข้าใจว่ารัฐบาลคงคำนวณจากค่าอายุเฉลี่ยของคนไทย แต่สงสัยว่าสมาชิกกองทุนมีอายุเกิน 80 ปีรัฐบาลจะยังจ่ายให้อยู่หรือไม่ หรือหากสมาชิกเสียชีวิตก่อนอายุ 80 ปีจะมีการจ่ายให้ลูกหลานในส่วนที่เหลือหรือไม่ ดังนั้น เห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขด้วยการกำหนดการเฉลี่ยคืนผลประโยชน์ให้กับสมาชิกตลอดอายุขัยแทนน่าจะเหมาะสมว่า
ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือมาตรา 43 ซึ่งกำหนดให้สามารถนำเงินกองทุนไปลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของกระทรวงการคลัง โดยต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มั่นคงไม่ต่ำกว่า 60% การกำหนดลักษณะนี้แสดงว่าอีก 40% เป็นการกำหนดให้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องตัดออกไปและแก้เป็นให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเท่านั้น ถ้าปล่อยแบบนี้เชื่อว่าจะซ้ำรอย กบข. แน่นอน
นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการที่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลามหลายประเด็น เช่น มาตรา 36 ระบุว่าสมาชิกของกองทุนที่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ให้จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนนั้นให้แก่ทายาท โดยให้บุตรได้รับ 2 ส่วน ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งมรดกของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้บุตรชายได้รับมรดกมากกว่าลูกสาว หากรัฐบาลยังไม่แก้ในประเด็นเหล่านี้เท่ากับเป็นการปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมเข้าถึงระบบสวัสดิการ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หากไม่มีการแก้ไขก็อาจสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อเรื่องอื่นๆได้
นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การจ่ายผลประโยชน์และเงินสมทบให้กับผู้ที่เป็นสมาชิกของ กอช. จะมีผลตลอดอายุไข ไม่ใช่จำกัดแค่อายุ 80 ปี นอกจากนี้หากมีสมาชิกเกิดทุพลภาพก่อนอายุ 60 ปีก็สามารถถอนเงินสะสมออกไปใช้ก่อนได้ และหลังจากอายุ 60 ปีแล้วก็ยังคงได้ผลประโยชน์และเงินสมทบอยู่ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของสมาชิกและต้องมีการจ่ายผลประโยชน์ให้กับทายาท คงต้องมีการแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป เพราะอาจขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม
“รัฐบาลคาดว่าเม็ดเงินที่จะใช้ในการจ่ายเงินสมทบตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท คิดเป็น 1% จากงบประมาณประจำปี 2554 และเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะอยู่ที่ 0.27 % เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเป็นการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบได้ถึง 26 ล้านคน” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวว่า ในส่วนของการนำเงินของ กอช. ไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์นั้น ยืนยันว่าจะมีการประเมินความเสี่ยงในหลักทรัพย์ที่จะลงทุนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญก็คงจะต้องมีการทบทวนเรื่องสัดส่วนของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงว่าควรอยู่ในสัดส่วนเท่าไร ควรจะมากกว่า 60% ตามร่างกฎหมายเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของเรื่องนี้คือต้องหาความสมดุลระหว่างการบริหารและการลงทุน เพราะมูลค่าและผลตอบแทนที่สูงย่อมจะมีผลต่อการจ่ายเงินบำนาญให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกในระยะยาว |