โอบามา สั่งลุยถก FTA มาเลย์
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แจ้งต่อสภาคองเกรสรัฐบาลมีแผนเปิดเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับมาเลเซียอีกครั้ง เตรียมดันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนการค้าที่สหรัฐกำลังเจรจากับ 7 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก หลังกลุ่มธุรกิจกังวลโดนสหภาพยุโรปแซงหน้าทยอยจับมือหลายชาติเอเชียทำเอฟทีเอแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐมีขึ้นในช่วงยามที่มาเลเซียได้เริ่มการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านการส่งออกรายสำคัญของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็มีผลสำรวจชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ห่วงกังวลการทำข้อตกลงการค้าของรัฐบาล "ในนามของประธานาธิบดี ผมยินดีที่จะแจ้งต่อคองเกรสว่า เรามีเจตนาจะรวมมาเลเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาว่าด้วยความตกลงการเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่กำลังดำเนินอยู่ด้วย" รอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าสหรัฐ กล่าวในจดหมายที่ส่งถึงแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อวันอังคาร รัฐบาลสหรัฐและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 7 ชาติได้เริ่มการเจรจาทำทีพีพีอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ต้นปี เจ็ดประเทศดังกล่าวประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน, ชิลี, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยการเจรจาในรอบที่ 3 จะมีขึ้นสัปดาห์นี้ที่บรูไน แผนการเปิดเจรจาทำเอฟทีเอกับมาเลเซียครั้งนี้ เป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของสหรัฐ ภายหลังความพยายามเมื่อหลายปีก่อนล้มเหลว เนื่องจากมาเลเซียไม่ต้องการเปิดตลาดในบางภาคการผลิต แต่คราวนี้ เคิร์กแจ้งไว้ในจดหมายถึงนางเพโลซีและในอีกฉบับที่ส่งถึงวุฒิสภาว่า มาเลเซียซึ่งกำลังดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างกว้างขวาง ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐว่าขณะนี้มาเลเซียพร้อมแล้วที่จะบรรลุข้อตกลงระดับสูงกับสหรัฐ เขากล่าวด้วยว่า การรวมมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาทำความตกลงทีพีพีจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต, การบริการ และเกษตรกรสหรัฐ ในการส่งออกสินค้า ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐไปยังมาเลเซียมีมูลค่าโดยรวมถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเกษตร 700 ล้านดอลลาร์ คำประกาศของสหรัฐซึ่งเป็นไปตามที่คาดหมายกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว มีขึ้นในวันเดียวกับที่อียูได้เปิดการเจรจาเอฟทีเอกับมาเลเซีย และเกิดขึ้นล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนที่อียูจะลงนามข้อตกลงเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐ ในวันพุธนี้ การรุกเจรจาการค้าเสรีอย่างดุดันของยุโรปได้เพิ่มความวิตกกังวลในกลุ่มองค์กรธุรกิจของสหรัฐ ที่กลัวจะเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดโลก หากรัฐบาลวอชิงตันไม่รีบตามให้ทัน กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มในสหรัฐต่างผิดหวังกับการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้มาแล้ว หลังจากที่เอฟทีเอดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองของสภาคองเกรส ทั้งที่รัฐบาลทั้งสองได้ลงนามกันไว้ตั้งแต่ 3 ปีก่อน อย่างไรก็ดี แม้ภาคธุรกิจจะสนับสนุนอย่างแข็งขัน แต่ชาวอเมริกันทั่วไปจำนวนมากเริ่มคัดค้านการทำเอฟทีเอต่างๆ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช สร้างไว้เป็นผลงานชิ้นเอก ผลสำรวจความเห็นชิ้นใหม่ จัดทำโดยวอลล์สตรีทเจอร์นัลร่วมกับเอ็นบีซีนิวส์ พบว่า ชาวอเมริกัน 53% เห็นว่าเอฟทีเอเป็นผลเสียกับประเทศ จำนวนดังกล่าวเพิ่มจาก 46% ของเมื่อ 3 ปีก่อน และ 32% ของผลสำรวจเมื่อปี 2542 รัฐบาลโอบามายังไม่กำหนดเส้นตายอย่างเป็นทางการในการบรรลุการเจรจากับมาเลเซีย แต่พวกที่สนับสนุนความตกลงนี้หวังว่าจะสามารถบรรลุการเจรจาได้ก่อนที่โอบามาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่ฮาวาย เดือน พ.ย. 2554-ไทยโพสต์ |