สยองแผน “สุเทพ”คิดการใหญ่ ไต่บันไดจากส.ส.ขึ้นเป็นนายกฯ
ยามเข้าตาจน ธาตุแท้ก็ปรากฏ สัจธรรมชีวิตที่ใช้กับมนุษย์ทุกผู้คน โดยเฉพาะสันดานของพวกนักการเมือง ตัวอย่างชัด ๆก็คือกรณี ประชาธิปัตย์ สาขาสุราษฏร์ธานี มีมติ ส่งสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.สุราษฏร์ธานี เขต 1 แทนชุมพล กาญจนะ ที่ต้องเว้นวรรคการเมืองห้าปีในคดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชุมพลและฝ่ายกฎหมายของพรรคประกาศชัดเจนว่า จะขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจ แล้วพลิกแผนจะดันสุเทพ กลับมาเป็นส.ส.เขต สุราษฏร์ธานีอีกสมัย ชักเข้าชักออก เล่นการเมืองแบบไม่มีหลักการ ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะสุเทพ คนนี้ไม่ใช่หรือที่ รีบชิงลาออกจากส.ส.สุราษฏร์ธานี แต่ไก่โห่ ตั้งแต่สองวันแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ 13 ส.ส.ประชาธิปัตย์กรณี ถือหุ้นสัมปทานของรัฐ โดยสุเทพอ้างแบบข้างๆ คูๆ ว่าเพื่อไม่ให้เรื่องคดีความมาทำให้เสียสมาธิในการทำงานเป็นรองนายกรัฐมนตรี เกรงจะต้องเสียเวลาในการสู้คดี ก็เลยลาออกจากส.ส. ทั้งที่เป็นแผนสุเทพ ที่ต้องการ เอาพื้นที่เลือกตั้งของตนเองไปให้คนในตระกูลเทือกสุบรรณ คือธานี เทือกสุบรรณ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯอบจ.หลังถูกศาลตัดสินให้เลือกตั้งนายกอบจ.สุราษฏร์ธานีใหม่ มาเป็นส.ส.แทน จนทำให้กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมเสียเงินไปหลายล้านบาทอันเป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่งปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ผ่านไปเกือบหนึ่งปี คดีหุ้นสัมปทาน ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานฝ่ายส.ส.-สว.ยังไม่มีการตัดสินคดี ถ้าสุเทพ ไม่ลาออกตอนนั้น แล้วรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีก่อนก็ไม่ได้เสียหายอะไรแม้แต่น้อย เพราะการไต่สวนคดี ตัวส.ส.-รัฐมนตรี-สว.ต่างก็ไม่ต้องไปขึ้นเบิกความไม่ต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ แค่เขียนคำชี้แจงเป็นเอกสารส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญก็เท่านั้น เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นระบบไต่สวนที่องค์คณะจะเข้ามาไต่สวนสืบหาข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อกฎหมายได้เอง เวลานั้น สุเทพไม่ลาออกจากส.ส. เหมือนกับเช่นอีกหลายคนอาทิ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทยและส.ส.นครราชสีมา เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคมและส.ส.พระนครศรีอยุธยา ก็สามารถเป็นทั้งส.ส.และรัฐมนตรีได้พร้อมกันในช่วงการสู้คดี ไม่ได้เสียเวลาในการทำงานให้กับรัฐบาล อย่างที่สุเทพยกเป็นข้ออ้างเลยแม้แต่น้อย ก็ต้องดูกันแล้วว่า ที่ประชุมส.ส.-คณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์-คณะกรรมการพิจารณาส่งคนลงเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ จะอธิบายกับสังคมอย่างไร หากจะเห็นด้วยกับมติของประชาธิปัตย์ สาขาสุราษฏร์ธานี ชวน หลีกภัย จอมหลักการ ผู้เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บัญญัติ บรรทัดฐาน จะชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นให้กับสังคมคล้อยตามได้อย่างไร หากจะอุ้มสมสุเทพกลับเข้าสภาในฐานะส.ส.อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยของสังคม แล้วสุเทพจะรับผิดชอบกับงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านมาอย่างไร? และหากประชาธิปัตย์จะบ้าจี้ตามสุเทพและสาขาสุราษฏร์ธานีจริง จะให้สุเทพ ไปหาเสียงในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุมอำนาจรัฐไว้ในมืออย่างเต็มที่ แบบนี้จะไม่เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งขันมากไปหรือ สำนึกการเมืองมีบ้างไหม เทพเทือก หากจะเล่นแบบแฟร์ๆ จริง ก็ควรต้องลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้วไปลงสมัครส.ส.ไม่ดีกว่าหรือ? ไม่ใช่จ้องจะกินรวบเอาทั้งหมด จะลงสมัครเอง เพื่อสกัดไม่ให้พรรคการเมืองใหม่แจ้งเกิด ที่ส่ง ชาญชัย ช่วยจันทร์ นักธุรกิจและอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมโศก จ.สุราษฎร์ธานี ญาติของมนตรี เพชรซุ้ม นายก.อบจ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งถือว่ามีโอกาสสูงที่การเมืองใหม่จะได้ส.ส.คนแรก เพราะคนสุราษฏร์ฯเบื่อเต็มที่แล้วกับพวก “เทือกสุบรร”ที่ผูกขาดหมดตั้งแต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยันรัฐมนตรี จนเคยสั่งสอนให้เห็นมาแล้วในการเลือกตั้งนายกฯอบจ. เมื่อปี 2552 ที่มนตรีม้านอกสายตา เอาชนะทั้ง ดำรง เทือกสุบรรณ ลูกพี่ลูกน้องสุเทพ และประวิช นิลวัชรมณี หนึ่งในห้าเสือสุราษฏร์ฯ จากประชาธิปัตย์แบบล็อกถล่ม จนประชาธิปัตย์สาขาสุราษฏร์ธานีผวาจะมีศึกล้มยักษ์ขึ้นอีก เลยเข้าทางสุเทพที่ใช้โอกาสนี้ ขอลงสมัครเสียเอง ด้วยการอ้างว่าเวลาหาเสียงมีน้อย 30 วัน ต้องเอาอดีตส.ส.ลง ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นมากนัก แต่ที่ถูกจับตามากที่สุดและหลายคนภาวนาให้เป็นข่าวลือ ก็คือที่วิเคราะห์กันไปว่านี่คือแผนไต่ฝัน บันไดขั้นสุดท้ายของสุเทพที่หวังจะเป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง! แม้ล่าสุดเจ้าตัวจะปฏิเสธแล้วว่า ที่ลงสมัครส.ส.ครั้งนี้ไม่ได้วางแผนคิดเป็นนายกฯ และแกนปชป.อย่างชวน หลีกภัย ก็ออกมาขวางสุดตัว อย่างไรก็ตาม ยังวางใจไม่ได้ เพราะการเมืองทุกอย่างพลิกผันได้หมด ยิ่งเมื่อดูเงื่อนเวลาแล้ว หากทุกอย่างเป็นไปตามปฏิทินที่กกต.วางไว้คือ จะมีการรับสมัครเลือกตั้งซ่อมในช่วงวันที่ 4-8 ตุลาคม เลือกตั้งล่วงหน้า 16-17 ตุลาคมและเลือกตั้งจริง 30 ตุลาคม เท่ากับว่า ช่วงของการเลือกตั้งและรู้ผล จะใกล้เคียงกับช่วงที่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์จะปิดคดีพอดี เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนคดีนี้วันสุดท้ายคือ 18 ตุลาคม จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีด้วยเอกสารอีกหนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นช่วงเวลาตัดสินคดีกับช่วงการเลือกตั้งซ่อมที่สุราษฏร์ธานีและประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจะใกล้เคียงกันพอดี สุเทพ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในสำนวนคดี 29 ล้านบาทและ 258 ล้านบาท จึงไม่ต้องถูกตัดสิทธิ์หากประชาธิปัตย์โดนยุบพรรค สุเทพ ที่ตีกันทั้งพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ และกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง จึงถูกมองว่า อาจคิดการใหญ่ รวบรวมเสียงส.ส.ในพรรคที่ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกของตน และขอแรงหนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะภูมิใจไทยให้หนุนหลังตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนอภิสิทธิ์ ถามว่าสูตรนี้เป็นไปได้ไหม หลายคนบอกว่า ยากส์จะเกิดขึ้นได้ บ้างบอกว่าสุเทพ แผลเยอะ แค่เรื่องที่ดินเขาแพงก็เหวอะแหวะเต็มที่แล้ว ไหนจะภาพหลอนในอดีต ทั้งสปก.-ป่าท่าชนะ-สหกรณ์โคออฟ ไม่นับรวมเรื่องส่วนตัวอะไรสารพัดที่รอจะถูกนำมาเล่นได้ทุกเมื่อ เจ้าตัวคงไม่อยากให้ตัวเองและครอบครัวเละมากไปกว่านี้ ที่สำคัญ ทุกคนประเมินว่าหากประชาธิปัตย์ถูกยุบจริง ตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ประชาธิปัตย์ต้องหนุนให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนก็คือ ชวน หลีกภัย ซึ่งคนปชป.ทุกคนพร้อมเทคะแนนให้แน่นอน หรือไม่ก็กรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ได้ภาพคนรุ่นใหม่ เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ ดีกว่า “เทพเทือก”เป็นไหนๆ-manageronline
|