อุปทูตซาอุฯ ยกคดีคลิปฉาวเทียบคดี "สมคิด" ชี้ 2 มาตรฐาน ด้าน ผบช.ก.ตร. ยัน "สมคิด" เข้า พ.ร.บ.ล้างมลทิน
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการประชุมของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาถึง พ.ร.บ.ล้างมลทิน กับการแต่งตั้งพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 เป็น ผช.ผบ.ตร. โดยเชิญนายนาบิล อัซรี่ อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงด้วย
โดยนายประชาตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช. ภ.5 เข้าเงื่อนไขของการล้างมลทินอย่างไร ในเมื่อพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหมายความว่า พล.ต.ท.สมคิด ไม่มีความผิด แต่มีการหยิบยก พ.ร.บ.ล้างมลทิน มาใช้ด้วยประโยชน์อะไร ในขณะที่การรื้อฟื้นคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จนนำไปสู่ขั้นตอนอัยการส่งฟ้องคดีต่อศาล ตรงนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นมาพิจารณาโทษทางวินัยใหม่หรือไม่
ขณะที่ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า สตช.ต้องยอมรับว่ามีการใช้วิธีอุ้มและซ้อมผู้ต้องหาอยู่มาก จากการหารือกับเจ้าหน้าที่จากซาอุฯ สอดคล้องกับความเห็นของชาวมุสลิมในภาคใต้ ซึ่ง สตช. จะต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้เสียหายให้มากกว่านี้ เพราะทันทีที่พล.ต.ท.สมคิด ประกาศไม่รับตำแหน่ง ก็มีการออกวีซ่าให้แก่ประชาชนช่าวมุสลิมทันที สตช.ต้องรื้อฟื้นมาตรการดำเนินการทางวินัย เราต้องเยียวยาเพื่อให้อุปทูตเข้าใจเพื่อนำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของสองประเทศให้กลับมาเหมือนเดิม แค่การประกาศไม่รับตำแหน่งไม่เพียงพอ จะต้องมีมาตรการมากกว่านี้
ด้านพล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ผบช.ก.ตร. กล่าวชี้แจงว่า ต้องแยกเรื่องการลงโทษทางวินัยกับการดำเนินคดีทางอาญาออกจากกัน พ.ร.บ.ล้างมลทินมีการบังคับใช้กับข้าราชการทุกประเภท ซึ่งกรณีของพล.ต.ท.สมคิด พนักงานสอบสวนและอัยการยุติการดำเนินคดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 แล้ว และได้รับประโยชน์จากการล้างมลทินคือไม่ต้องรายงานตนฐานต้องหาคดีอาญา และตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 79 (4) ระบุไว้ชัดเจนว่าหากมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ให้จำคุกหรือหนักกว่านั้น การลงโทษมีสถานเดียวคือปลดออก หรือไล่ออก หากเป็นกรณีที่พ้นจากราชการไปแล้วก็ยังมีโทษทางอาญาตามไปอีก ทั้งนี้ ตนยืนยันว่ารัฐบาลและสตช. พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้คลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งก.ตร. ได้นัดประชุมในวันศุกร์ที่ 24 ก.ย.เวลา 13.00 น. โดยจะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และจะคลี่คลายปัญหาได้อย่างไร เพราะในแง่ของกฎหมาย ทางก.ตร.ก็มีความเป็นห่วงอยู่
ทั้งนี้นายนาบิลกล่าวว่า วันนี้เป็นวันชาติของซาอุดีอาระเบีย ครบรอบ 80 ปี และเป็นวันสำคัญครบรอบ 50 ปี ในการก่อตั้งสถานทูตในประเทศไทย ถือว่าเราเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด แต่ความสัมพันธ์ได้เสื่อมถอยลงจาก 3 คดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตนมีคำถามต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่ากรณีที่กรรมาธิการฯ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับกรณีของ พล.ต.ท.สมคิด มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ที่ระบุว่าอีก 2 สัปดาห์จะมาหารือกันใหม่นั้น ขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้ยืนยันกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปแล้วว่า การเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของพล.ต.ท.สมคิด เท่าที่ทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนและหลายฝ่ายที่พยายามเชื่อมโยง 2 เรื่องนี้เข้าไว้ด้วยกันนั้น
นายนาบิล กล่าวต่อว่ายืนยันว่ารัฐบาลซาอุฯ ให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวมุสลิม แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันชาติซาอุฯ ซึ่งปกติจะเจ้าหน้าที่จะหยุดทำการ แต่วันนี้ก็ได้เปิดรับการตรวจลงตราผู้ที่จะไปแสวงบุญจำนวน 1,038 ราย และในวันจันทร์ที่ 27 จะเปิดรับอีก 2,000 ราย เราจะอำนวยความสะดวกและบริการพี่น้องชาวมุสลิมอย่างเต็มที่
นอกจากนี้เพิ่งได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์พบพฤติกรรมของนายตำรวจใหญ่กระทำไม่เหมาะสมกับข้าราชการตำรวจหญิง ทาง สตช. ยังดำเนินการทันที แต่กรณีพล.ต.ท.สมคิด ทำไมจึงไม่ดำเนินการเช่นนั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ต้องการแทรกแซงการกิจการของไทย แต่เป็นคำถามและข้อสงสัยส่วนตัว ทั้งนี้ทางสถานทูตซาอุฯ กับกระทรวงการต่างประเทศไทยมีการหารือและประสานกันตลอด ซึ่งการได้มาพูดคุยกันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นปกติในเร็ววันนี้ และถ้าทุกอย่างคลี่คลายความสัมพันธ์ก็จะกลับมาดีขึ้น ไม่เฉพาะทางด้านการทูตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของ 2 ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการชี้แจง นายนาบิล ได้มอบเอกสารแถลงการณ์สถานทูตซาอุดิอารเบียประจำประเทศไทย ให้นายประชา นำมอบให้สื่อมวลชนเผยแพร่โดยมีเนื้อหา โดยอ้างอิงกรณีที่มีข่าวในประเทศไทยกรณีการขอวีซ่าของชาวมุสลิม เพื่อไปร่วมประกอบพิธีฮัญจ์ (แสวงบุญ) ในประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น โดยยืนยันว่าชาวมุสลิมทั่วโลกสามารถที่จะเดินทางไปร่วมพิธีแสวงบุญได้ โดยมีการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าจากสถานทูต รวมถึงการดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี เนื่องจากพิธีกรรมดังกล่าวเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั่วโลก โดยในเรื่องนี้อุปทูตได้ยืนยันผ่านทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกษิต ภิรมย์ และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรมว่าสถานทูตได้เปิดให้บริการทำวีซ่าให้ชาวไทยมุสลิมทุกปี
แถลงการณ์ยังระบุว่า ในปีนี้ได้มีโควต้าการให้วีซ่ากับชาวไทยมุสลิมราว 13,000 เล่ม และขอยืนยันกับชาวไทยมุสลิมว่าสถานทูตจะให้การบริหารจัดการให้ชาวไทยมุสลิมเดินทางไปร่วมพิธีแสวงบุญด้วยความปลอดภัย อีกทั้งขอแสดงความเสียใจกับชาวไทยมุสลิมกลุ่มแรกที่เดินทางจากหาดใหญ่ไปแสวงบุญ ซึ่งขณะนี้ก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายไปยังนครเมกกะและเมดินา รวมถึงเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความปลอดภัย ขอยืนยันอีกครั้งว่าภายใต้การปกครองของกษัตริย์อับดุลราบิล อับดุล อาซิส พร้อมที่จะดูแลพี่น้องชาวมุสลิมจากทั่วโลก โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ และประเด็นอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนปิดการประชุม นายประชาได้ขอมติที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายในคดีของ พล.ต.ท.สมคิด ด้วย |