นิตยสารจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ประจำเดือน สิงหาคม นำเสนอเรื่องราวอันน่าชวนพิศวงของชาวพุทธ และ ผู้สนใจทั่วโลก ถึง ดินแดนอันเป็น สัญญลักษณ์ของชาวพุทธที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพลเมืองของ คนมุสลิม พุทธสถานดังกล่าวนี้คือ มหาวิหารบุโรพุทโธ ที่ตั้งอยู่ในใจกลางดินแดนของชาวมุสลิม โดยมีผู้สงสัย และ ตั้งสมติฐานกันว่า มหาวิหารแห่งนี้เดิมเคยมีทะเลสาปขนาดใหญ่ล้อมอยู่โดยรอบ แต่ปัจจุบัน ทะเลสาปดังกล่าวไม่เหลือร่องรอยให้เห็น เพราะมันกลายเป็น เรือกสวนไร่นาอันกว้างใหญ่ของชาวมุสลิม หนังสือเล่มนี้จะสร้างความกระจ่างให้กับผู้สงสัยได้รับรู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของ มหาวิหารบุโรพุทโธ อย่างละเอียด เพื่อคลายข้อสงสัยที่มีอยู่ในหัวใจของคนอีกหลายคน

| เรื่องโดย ชาห์โย จูเนดี และรีสกา วูลันดารี |
ภาพถ่ายโดย
|
สนธยาทอแสงลงมายังโต๊ะทำงานของผม อากาศชื้นและกลิ่นดินโชยชายในบรรยากาศ ฝนยามบ่ายโปรยละอองลงมาอย่างแผ่วเบา แขกหลายคนอ้อยอิ่งไม่อยากจากไปเพราะภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า คือวิหารบุโรพุทโธท่ามกลางสายหมอก เงาของสถูปองค์ใหญ่บนยอดงดงามจับตา แสงสีม่วงที่แผ่คลุมวิหารเสริมความงามให้ภูมิทัศน์ จากภัตตาคาร มาโนฮารา แขกในร้านได้ชื่นชมความงามของบุโรพุทโธ ซึ่งดูจะสร้างความพึงพอใจให้ผู้พบเห็นได้อย่างไม่รู้ลืม
ปราโตโม บริกรของโรงแรม แนะนำกิจกรรมให้แขกของโรงแรมอย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะเป็นการชมอรุณเบิกฟ้าบนยอดวิหาร การขี่จักรยานรอบวิหาร การขี่ช้าง หรือแม้แต่การนั่งชื่นชมความงามของวิหารจากอาคารโรงแรม
นับตั้งแต่มีการบูรณะวิหารบุโรพุทโธเมื่อปี 1973 โดยความร่วมมือของรัฐบาลอินโดนีเซียกับยูเนสโก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจกา (Japan International Cooperation Agency: JICA) ก็เข้ามาช่วยร่างแผนแม่บท เพื่ออนุรักษ์วิหารและพื้นที่รอบๆในปี 1979 สองปีให้หลัง แผนแม่บทซึ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไข กำหนดเงื่อนไขระบบ การจัดเขตพื้นที่ จากเขตหนึ่งซึ่งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองพุทธสถานและสิ่งแวดล้อมทางโบราณคดีในรัศมี 200 เมตรไปจนถึงเขตห้าซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานโบราณคดีแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจและป้องกันการทำลายพุทธสถาน
จากแผนแม่บทของไจกา องค์การยูเนสโกจึงได้ประกาศให้วิหารบุโรพุทโธและพื้นที่รอบๆเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 592 เมื่อปี 1991
การประกาศให้บุโรพุทโธเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ส่งผลให้การใช้ที่ดินในพื้นที่รอบวิหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยูดี ซูฮาร์โตโน นักวิจัยจากศูนย์อนุรักษ์มรดกบุโรพุทโธ ตั้งข้อสังเกตว่ามีโรงแรมเกิดใหม่อย่างน้อย 15 แห่งในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จากระดับไม่มีดาวจนถึงระดับห้าดาว ทั้งพวกที่อยู่บนถนนใหญ่ที่ทอดไปสู่วิหาร ไปจนถึงพวกที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเมโนเระห์ ทุกแห่งล้วนแข่งกันมุ่งเข้าสู่วิหาร “นี่คือปัญหาใหญ่ครับ” ยูดีบอก
บุโรพุทโธกลายเป็นแม่เหล็กทางเศรษฐกิจ หลังการขึ้นทะเบียนของยูเนสโก นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียและชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในไม่ช้า ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ก็แข่งกันแทรกตัวอยู่บนถนนสายหลักที่นำไปสู่วิหาร ยูดีบอกว่า “อย่าคิดว่าคุณจะมองเห็นวิหารได้จากถนนเลยครับ เพราะคุณจะเห็นแต่ป้ายโฆษณาติดเต็มไปหมดทั้งสองข้างทางจนสุดลูกหูลูกตา”
ไม่ใช่แค่ป้ายโฆษณาเท่านั้น สถานีรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รุกคืบเข้าสู่พื้นที่บุโรพุทโธ ในช่วงสามปีที่ผ่านมามีสถานีรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ผุดขึ้นหลายแห่งในเขตสามและเขตสี่ตามแผนแม่บทของไจกา คำสั่งของประธานาธิบดีที่ออกในเวลาต่อมาชี้ว่า เขตสามเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้สร้างที่พักอาศัยได้อย่างจำกัด รวมไปถึงกิจกรรมทางการเกษตร พื้นที่สีเขียว และสาธารณูปโภคบางอย่าง มาร์ซิส ซูโตโป หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์มรดกบุโรพุทโธ บอกว่า “พื้นที่รอบวิหารบุโรพุทโธกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งชาติและเป็นมรดกโลก ดังนั้นจึงควรมีการจัดระเบียบสถานีรับส่งสัญญาณต่างๆอย่างถูกต้องเหมาะสม”
ในมุมมองทางสถาปัตยกรรม มลพิษทางสายตาหรือ “ทัศนอุจาด” ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางกายภาพของวิหารบุโรพุทโธซึ่งสะท้อนให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบด้วย “ดังนั้นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับการปกปักรักษาตัววิหาร” ยูนุส ซาตรีโย อัตโมโจ อธิบดีกรมมรดกทางโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กล่าว
ประเด็นร้อนที่สุดในการจัดการสิ่งปลูกสร้างต่างๆในเขตบุโรพุทโธ คือโครงการศิลปะโลกชวา (Java World Art Project) เมื่อปี 2002 โครงการที่ริเริ่มโดยหน่วยงานราชการหลายแห่งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบบุโรพุทโธ ซึ่งถูกมองว่าไร้ระเบียบ
โครงการดังกล่าวมีแผนก่อสร้างศูนย์การค้าสามชั้น เพื่อรองรับร้านอาหารและร้านค้า 1,500 ร้าน ขึ้นทางทิศตะวันตกของบุโรพุทโธ รวมทั้งสถานีรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว โชคดีที่การคัดค้านของยูเนสโก ทำให้โครงการนี้มีอันต้องล้มพับไป “เราไม่ควรไปแตะต้องหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อแบบแปลนของวิหารและพื้นที่โดยรอบครับ” ยูนุสบอก
ถึงแม้จะมีแผนแม่บทและระบบการจัดเขตที่สมบูรณ์แล้ว การละเมิดกฎระเบียบก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ บุโรพุทโธอยู่วันยังค่ำ หากพิจารณาเขตหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่หลัก จะเห็นได้ชัดว่าไม่ควรมีอาคารใดนอกเหนือจากตัววิหารตั้งอยู่ในบริเวณนั้น แต่เมื่อปี 2003 มีการก่อสร้างที่จอดรถวีไอพีขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือในปี 2006 มีการสร้างเวทีละครและนาฏศิลป์สำหรับจัดงานแสดงต่างๆ ขึ้นทางทิศตะวันออกของวิหาร
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน อาทิ ยูดี เห็นว่าการสร้างอาคารใหม่ๆในเขตสองไม่สอดคล้องกับหลักการของไจกา ในบรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีพิพิธภัณฑ์เรือเดินสมุทรยักษ์ (ปี 2006) พิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงมูรี (ปี 2003) สวนนก (ปี 2003) ศูนย์การค้า (ปี 2003) ปางช้าง และโรงแรมมาโนฮารา รวมอยู่ด้วย
กระนั้น แนวคิดนี้อาจก่อให้เกิดข้อพิพาท หากนำไปเทียบกับคำสั่งประธานาธิบดีซึ่งอธิบายว่า เขตสองคือพื้นที่รอบเขตหนึ่ง กำหนดไว้สำหรับการพัฒนาอุทยานการท่องเที่ยวเพื่อเป็นสถานประกอบกิจกรรมของนักท่องเที่ยว งานวิจัย กิจกรรมทางวัฒนธรรม และการอนุรักษ์พื้นที่รอบวิหาร โรงแรมมาโนฮาราซึ่งอยู่ห่างจากวิหารราว 250 เมตร อาจเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญได้เช่นกัน เพราะจากโรงแรมแห่งนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินอีกเพียงห้านาทีก็จะถึงเชิงวิหาร
ปูร์โนโม ซิสโซปราเซเตียว ผู้อำนวยการของเปเตตามัน รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมแห่งนี้ อธิบายว่า หากพิจารณาจากแผนแม่บทของไจกาแล้ว เขตสองเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ทำการศึกษาของผู้ที่ประสงค์จะค้นคว้าเรื่อง บุโรพุทโธ ส่วนโรงแรมมาโนฮาราซึ่งเดิมมีชื่อว่าศูนย์ศึกษามาโนฮารา ตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านที่พักให้ผู้เข้ามาศึกษาวิจัย “แต่เนื่องจาก (เรา) มีรายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ท้ายที่สุดจึงต้องเปิดที่พักของนักวิจัยให้สาธารณชนเข้าพักครับ” เขากล่าว
อันที่จริง พื้นที่บุโรพุทโธอยู่ในเขตชนบท หากปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิหารบุโรพุทโธกับธรรมชาติรอบข้างเปลี่ยนไปอย่างมาก เสน่ห์ของวิหารก็อาจจืดจางลง ยูนุสบอกว่า “บุโรพุทโธและภูมิทัศน์โดยรอบนั้นแยกออกจากกันไม่ได้หรอกครับ”
แนวคิดเรื่องพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่นครมาเกลังย้ายเมืองหลวงจากมุนตีลันไปยังมุงกิด ซึ่งอยู่ห่างจากบุโรพุทโธไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณสี่กิโลเมตร ในทศวรรษ 1980 การใช้ที่ดินเริ่มเปลี่ยนไป “บริเวณที่เคยเป็น ทุ่งนาตอนนี้กลายเป็นอาคารสำนักงานแล้วครับ” ยูนุสบอก นับจากนั้น ก็มีผู้อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก
ฟีร์มัน นาปีตูปูลู หัวหน้าหน่วยพัฒนาพื้นที่ของเกาะชวาและบาหลี กระทรวงโยธาธิการ วิตกว่ายูเนสโกอาจถอดถอนบุโรพุทโธออกจากการเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพราะ “ไม่เคยมีการนำระบบจัดเขตพื้นที่มาใช้อย่างจริงจังและมีผลบังคับทางกฎหมายเลย" ฟีร์มันบอก ดังนั้นตอนนี้รัฐบาลจึงเร่งปรับปรุงแผนการใช้พื้นที่ของบุโรพุทโธอย่างจริงจัง
“พื้นที่ยุทธศาสตร์” รอบบุโรพุทโธได้รับการขยับขยายจนครอบคลุมอาณาบริเวณ 11.54 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ระบบจัดเขตพื้นที่ก็มีการบังคับใช้เข้มงวดขึ้น “ที่เห็นชัดๆคือบุโรพุทโธจะไม่กลายเป็นเมืองแน่ๆครับ” ฟีร์มันบอก การจัดการพื้นที่จะมีรัฐบาลกลางคอยควบคุมผ่าน “สภาท้องถิ่น” ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการพื้นที่บุโรพุทโธ ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นจะเริ่มบังคับใช้มาตรการต่างๆตามกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น อาจมีการสร้างศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจขึ้น ยูนุสบอกว่า “การส่งเสริมหมู่บ้านวัฒนธรรมรอบบุโรพุทโธอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ”
สายฝนที่โปรยปรายช่วยให้ความมืดปกคลุมเร็วขึ้น แสงจากโคมไฟที่ฐานทำให้บุโรพุทโธยิ่งทวีความงดงามตัววิหารดูเรืองรอง ต้นไม้ทาบเงาลงบนพื้นดิน ราวกับยอมจำนนต่อความวิจิตรงดงามและความโดดเด่นของวิหารท่ามกลางภูมิทัศน์โดยรอบที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป