 ยุคทองไม้ยาง - อุตสาหกรรมไม้ยางพาราสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีโดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ทะลุ 14,000 ล้านบาท พ่อค้าต้องแย่งกันซื้อวัตถุดิบ ทำให้ราคาไม้ยางพุ่งขึ้นเท่าตัว
|
ยุคทองไม้ยางพาราไทย ส่งออกจีน-อินเดียกระฉูด ปีนี้ออร์เดอร์ค้างกว่า 5 หมื่นตู้ พ่อค้าแข่งเดือดกว้านซื้อวัตถุดิบ ดันราคาสูงเท่าตัว ระบุอีก 5 ปีข้างหน้าไม้ยางพาราอีสานโค่นขายได้แล้ว ผวาล้นตลาด เพราะปลูกเพิ่มปีละ 5 แสนไร่
นายสุทิน พรชัยสุรี นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยและประธานกลุ่มโรงเลื่อยโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ไม้ยางพาราของไทยได้เข้าสู่ยุคทองต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยในปี 2551 มีรายได้ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ในปี 2552 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000-12,000 ล้านบาท และในปี 2553 มีแนวโน้มว่าจะทำรายได้มากถึง 14,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นประมาณ 20%
ทั้งนี้ตลาดรับซื้อใหญ่คือประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมามีออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการส่งมอบสินค้าไม่ทัน จึงมีออร์เดอร์ค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ในส่วนของโรงงานของตนมีออร์เดอร์ค้างในปีนี้ถึง 300 ตู้ และยังมียอดคงค้างโดยรวมอีกประมาณ 50,000 ตู้
อย่างไรก็ตามการพึ่งพิงเฉพาะตลาดจีนก็มีความเสี่ยงทางธุรกิจ ทางสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยได้พยายามที่จะลดความเสี่ยงโดยการหาตลาดใหม่รองรับไว้คือประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เพราะหากตลาดจีนเกิดปัญหาไม่ซื้อไม้ยางพาราจากไทยก็จะไม่มีผลกระทบ
นอกจากนี้การเปิดตลาดอินเดียยังสามารถที่จะรองรับผลผลิตไม้ยางพาราที่จะออกมาจากภาคอีสานในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะขณะนี้แต่ละปีทางภาคอีสานปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ไร่ และมีพื้นที่ปลูกยางมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาไม้ยางล้นตลาดและกระทบต่อราคาไม้ยางในอนาคต
นายสุทินกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการโค่นไม้ยางพาราปีละประมาณ 300,000-350,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำการส่งออก 2 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้ภายในประเทศ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้ยอดภายในประเทศลดลงเหลือประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร
"โรงงานอุตสาหกรรมไม้แข่งขันกันซื้อวัตถุดิบโดยไม่เกี่ยงราคา ขอให้มีวัตถุดิบก็แล้วกัน ทำให้ราคาไม้ยางพาราพุ่งขึ้นเท่าตัว ขณะนี้ไม้ยางพาราบางลักษณะ ขนาด 70 ต้น/ไร่ ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 100,000-150,000 บาท/ไร่ แต่ไม้บางลักษณะก็อยู่ในระดับต่ำสุดแล้วอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท/ไร่"
นายสุทินกล่าวด้วยว่า ไม้ยางพารายังมีแนวโน้มที่ดีอีกหลายปี แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็ยังมีกำไรน้อย เพราะการแข่งขันกันเองสูงมาก ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ประมาณ 500 แห่ง โดยโรงงานส่วนใหญ่ประมาณ 80% ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ |