ฉลามต้องอยู่น้ำลึก จากคอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก ไทยรัฐ
ผมได้รับจดหมายจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ถามถึงปูมหลังชีวิตของคณะผู้นำของสหภาพพม่า
นิติภูมิขอรับใช้เล่าชีวิตของผู้นำสูงสุดเลยก็แล้วกันนะครับ ผมหมายถึง พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งมาก ทำบุญทุกวันพระ ไม่ทานเนื้อสัตว์เด็ดขาด ท่านมีความสุขุมรอบคอบ รับฟังความเห็นของผู้อื่นและนิยมการประนีประนอม ชอบเล่นกอล์ฟ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังกินหมาก ฯลฯ
ตานฉ่วยเกิดเมื่อ 2 มีนาคม 2476 ในหมู่บ้านชนบทของภาคมัณฑะเลย์ พ่อแม่เป็นชาวไร่ยากจนข้นแค้น เมื่ออายุ 10 ขวบ พ่อตาย แม่หนีไปมีสามีใหม่ที่เป็นมุสลิม แม่จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ตานฉ่วยก็เลยไม่มีทั้งพ่อและแม่ ต้องทำมาหากินด้วยตัวเอง ความที่หน้าตาของท่านตานฉ่วยเหมือนแขก แถมแม่ยังหนีไปแต่งงานกับมุสลิม เพื่อนๆก็จึงมักจะล้อเด็กชายตานฉ่วยว่า "ไอ้ลูกแขก"
เด็กชายตานฉ่วยเป็นคนเงียบขรึม ไม่ค่อยยอมเป็นเพื่อนกับใครง่ายๆ เขียนโดยสรุปก็คือ ตานฉ่วยเป็นเด็กเก็บกด ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปเป็นคนพูดน้อย ทว่ารักษาคำพูด และสุขุมรอบคอบมาก
เด็กคนนี้เรียนหนังสือดี แต่ความไม่พร้อมทำให้ต้องออกจากโรงเรียน กลางคัน เด็กชายตานฉ่วยจึงเรียนไม่จบชั้นมัธยม 3 หลังจากออกมาหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวและตัวเองแล้ว ตานฉ่วยจึงกลับไปเรียนใหม่จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปลายใน พ.ศ.2494 เมื่อมีอายุ 18 ปี
รับประกาศนียบัตรมัธยมปลายปุ๊บ ตานฉ่วยก็ไปสมัครเป็นเสมียนไปรษณีย์ ที่อำเภอเมตทิลาปั๊บ ทำงานได้ 1 ปี จึงไปกรุงย่างกุ้งเพื่อสมัครเป็นทหาร แต่สอบเข้าได้เพียงเป็นนักเรียนนายร้อยสำรอง ไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยหลัก ใช้เวลาเรียนเพียง 6 เดือน ก็จบหลักสูตรนายร้อยสำรองรุ่น 9 เมื่อ 11 กรกฎาคม 2501
ร้อยตรีตานฉ่วย รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปฏิบัติงานสงครามจิตวิทยาสนามที่ 1 ผู้อ่านท่านก็คงทราบนะครับ ว่าพม่าเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยเยอะ ไม่ว่าจะเป็นไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ คะฉิ่น คะยาห์ ฯลฯ พวกนี้มีความประสงค์จะแตกแยกดินแดนออกไปตั้งเป็นประเทศอิสระทั้งนั้น หน้าที่ของร้อยตรีตานฉ่วยก็คือ ออกไปปฏิบัติการจิตวิทยากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆให้ภักดีต่อประเทศ
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยหลัก แต่ด้วยการทำงานอย่างหนัก และการศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมอยู่เสมอ ภายในเวลา 5 ปี ผู้หมวดตานฉ่วยได้พัฒนาตนจนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันการเมืองและวิทยาศาสตร์ ของกองทัพ
การทำงานอย่างหนักและอย่างเป็นระบบ ทำให้บั้นปลายท้ายต่อมาตานฉ่วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ของจังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน เป็นผู้บังคับการกรมได้ไม่เท่าไร ก็ได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 88 และผู้บัญชาการภาคของทหารบกในภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคอิรวดี
ภายในเวลา 32 ปี ตานฉ่วยเขยิบสถานะจากเสมียนไปรษณีย์มาเป็น นายทหารยศพลตรี ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก เมื่อ พ.ศ.2528
พม่าแตกต่างจากเราไทยที่นายทหารระดับสูงมักจะมีตำแหน่งหน้าที่ ทางการเมืองควบกันไปด้วย อีก 3 ปีต่อมา พ.ศ.2531 ตานฉ่วยก็ได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ดร.หม่อง หม่อง เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นทายาทของนายพลเนวิน ตานฉ่วยตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายของพลเอกซอหม่องยึดอำนาจจากรัฐบาล ดร. หม่อง หม่อง เมื่อการปฏิวัติยึดอำนาจประสบผลสำเร็จ ตานฉ่วยก็ได้รับรางวัลให้เป็นพลเอก ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งรองประธานสภาฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ ซึ่งคนทั้งโลกรู้จักสภานี้ดีในนามของ SLORC
พ.ศ.2535 เป็นปีทองของชีวิตอดีตไอ้ลูกแขกอย่างตานฉ่วย เพราะได้รับ ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ คือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อสลอร์คเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่ามาเป็นเมียนมาร์ คณะผู้ปกครองทหารเปลี่ยนชื่อจากสลอร์คมาเป็นสภาแห่งสันติภาพและการพัฒนาประเทศ State of Peace and Development Council หรือ SPDC อดีตเสมียนไปรษณีย์คนนี้ก็กลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่เป็นประธาน SPDC นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ราตรี 23 กรกฎาคม 2544 ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น นิติภูมิมีโอกาสตามพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไปเยือนพลเอก อาวุโสตานฉ่วย ที่บ้านของท่านในกรุงย่างกุ้ง ประโยคหนึ่งซึ่งผมได้ยินจากปากของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยเอง เมื่อท่านถูกถามเรื่องบ้านก็คือ "ฉลามต้องอยู่น้ำลึก"
คำพูดของตานฉ่วย ทำให้ผมนึกถึงการกระดิกพลิกตัวของนักการเมืองบ้านเราจำนวนไม่น้อย ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะท่านเล่นบทเป็นปลาซิว ปลา สร้อย ลอยอยู่แต่บนผิวน้ำ โผล่หน้าออกมาเย้วๆ อย่างไร้ราคาค่างวดทุกวันทางหน้าจอทีวี และหน้าหนังสือพิมพ์ เย้วมันทุกเรื่องอย่างไร้สาระ เย้วจนประชาชนเบื่อ ไม่เชื่อถือ!
นิติภูมิ นวรัตน์ |