ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ถึงความคืบหน้าเหตุอาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม เมื่อช่วงค่ำวานนี้ ว่า ผ่านไปกว่า 10 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังเร่งค้นหาคนงานอีก 2 คน ที่คาดว่ายังติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร ทั้งนี้ การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีเศษเหล็กและเศษปูนจำนวนมาก ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณใจกลางซึ่งเครื่องมือหนัก เช่น รถแบ็กโฮ ไม่สามารถเข้าถึงได้ และจากการใช้เครื่องมือสแกนใต้ซากอาคาร พบสัญญาณของโครงร่างมนุษย์ตอบกลับมาเพียง 1 ราย อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว และเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง
จากการสอบถามหัวหน้าคนงาน ได้ข้อมูลว่า ในจุดเกิดเหตุมีคนงานอยู่ 7 คน ส่วนอีก 30 คน สามารออกมาได้ก่อน โดยผู้เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อคือ นายรุ่ง แพรสานอกจากนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน เป็นคนงานไทย 2 คน ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านได้แล้ว 1 คน และกัมพูชา 2 คน
ด้านพล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตตา รอง ผบช.ภ.2 กล่าวเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ถึงกรณีอาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ถล่มลงมาจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ นายกฤษฎา ปฏิญัติโยธิน ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง นายทวีชัย สำราญวานิชหัวหน้าควบคุมการก่อสร้าง มหาวิทยาลัยบูรพา นายวัลลภ รุ่งเรือง วิศวกรออกแบบนายสุรพล งามเลิศ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง บริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และนายประทวน ฤทธิ์ดำรงค์ ผู้จัดการ บริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อหา นายกฤษฎา ปฏิญัติโยธิน ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และนายสำเรียง โพธิ์ศรีทัศ ผู้ที่นำคนงานเข้าไปทำงาน ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บ
"จากการสอบสวนในขณะนี้พบว่า ผู้ที่ลงไปข้างล่างของตัวอาคารช่วงที่เกิดเหตุตึกถล่มนั้นมีทั้งหมด 8 คน และตรวจสอบรายชื่อได้แล้วทั้งหมด 6 คน ยังสูญหายไปอีก 2 คน จึงได้ให้ดำเนินการช่วยเหลือขุดเจาะ" พล.ต.ต.สุวิระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกนั้นยังไม่คืบหน้า แต่ทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับการขุดเจาะของมูลนิธิเสียหายไปแล้ว 4 ตัว และในวันนี้ทางทหารจะนำเครื่องมีหนักเข้ามาช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 15 สิงหาคม เกิดเหตุอาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งคนงานกำลังก่อสร้างเทปูนเกิดถล่มขึ้นมากระทันหัน ทำให้คนงานประมาณ 35 คนวิ่งหนีกระเจิง ส่วนหนึ่งยังติดคาอยู่ในซากตึก โดยพ.ต.ท.สมคิด เฮียงเสถียร สารวัตรเวร สภ.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้รายงานให้ พ.ต.อ.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผกก.แสนสุข รุดมาตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า อาคารดังกล่าวจะสร้างเป็นห้องประชุมของคณะศึกษาศาสตร์ โดยใช้งบประมาณ 237 ล้านบาท ผู้ประมูลงานได้คือ บริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เลขที่ 53/9 หมู่ 2 แขวงบางพรหม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยทำสัญญาเลขที่ 8/2552 เริ่มสัญญา 11 กันยายน 2552 สิ้นสุดสัญญา 17 กันยายน 2554 รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง 675 วัน
ช่วงก่อนเกิดเหตุ นายสำเรียง โพธิ์ศรีทัศ ผู้รับเหมาช่วง และนายรุ่ง แพรสา หัวหน้าคนงาน ได้นำคนงานทั้งหมด 35 คน เข้ามาทำงาน โดยนายสำเรียงมีคนงานอยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 10 คน จึงได้ประสานงานกับผู้รับเหมารายอื่นที่ว่างงาน เพราะเป็นวันหยุดได้คนงานมาเพิ่มอีก 25 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา โดยเริ่มเทปูนตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 15 สิงหาคม บริเวณชั้น 2 ของอาคาร หลังจากนั้นได้เร่งงานพร้อมทั้งจ้างโอที ขณะเกิดเหตุได้มีเสียงลั่นของตัวอาคาร นายสำเรียงจึงได้นำคนงานในสังกัด 10 คน ลงไปชั้นที่ 1 เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น และเห็นว่าพื้นปูนแอ่นผิดสังเกต จึงได้ให้คนงานพยายามเอาไม้ค้ำยัน
ปูนมีน้ำหนักมากจึงทำให้ทรุดตัวอย่างรวดเร็วและพังทลายลงมา เมื่ออาคารเสียรูปทรงจึงได้ดึงตัวอาคารทั้งหมดเสียหาย พื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 ตารางเมตร น้ำหนักของปูนไม่น้อยกว่า 500 ตัน ยุบตัวลงทันที และมีคานปูนร่วมหล่นลงมาทับนายรุ่ง แพรสา เสียชีวิตทันที ส่วนคนที่เหลือต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด โดยนายสำเรียง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย รวมทั้งนายนะ และนางเรือน คนงานชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บ มีผู้นำส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนคนงานที่เหลือต่างหลบหนีไป คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ต่อมานายทรงพล จำปาพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายชัยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้รุดมาดูที่เกิดเหตุพร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยไม่น้อยกว่า 500 คนได้ระดมรถกู้ชีพเข้ามาช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากเป็นช่วงกลางคืน มีเพียงเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยได้ใช้อีเตอร์พยายามขุดเจาะเนื้อปูนเข้าไปในตัวอาคาร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร จนกระทั่งเวลา 03.00 น.ได้พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย จากการตรวจสอบด้วยกล้องอินฟาเรด
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดอาคารถล่มในครั้งนี้มาจากการก่อสร้างได้เร่งดำเนินการ ทำให้ขาดความปราณีต ซึ่งคนงานที่หายไปบางส่วนนั้น ไม่รู้ว่าหลบหนีไปหรือไม่ อาจกลัวความผิดเนื่องจากเป็นคนต่างด้าว ส่วนการดำเนินคดีนั้นวิศวกรผู้คุมการก่อสร้าง จะมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บ
ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น โดยจะทำการตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องของปูน เหล็ก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ช่วงนี้สถานการศึกษากำลังมีการก่อสร้างจำนวนมาก คงจะต้องมีนโยบายให้คุมเข้ม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรม รวมทั้งให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการก่อสร้างให้เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในการก่อสร้างครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เร่งแต่อย่างใด การทำงานทางบริษัทได้มาขออนุญาตเทปูน จึงได้อนุญาตไปส่วนสาเหตุที่แท้จริง ช่วง 1-2 วันนี้คงทราบ ช่วงนี้ต้องเร่งช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกก่อน
ดร.บรรพต วิรุณราช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ยันยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาอยู่ในบริเวณก่อสร้างแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเขตก่อสร้าง ได้ล้อมรั้วป้องกันเหตุร้ายไว้แล้ว สำหรับตัวอาคารที่ถล่มลงมานั้น เป็นอาคารหอประชุมของคณะศึกษาศาสตร์ ที่ถล่มลงมาเป็นคานในชั้นที่ 2 โดยหน่วยกู้ภัยอยู่ระหว่างยกวัตถุที่พังลงมา เพื่อช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ในซากตึกออกมา
นายสำเรียง กล่าวว่า การเทปูนได้นำคนงานมาทำงานทั้งหมด 35 คน ช่วงก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงลั่นบริเวณชั้นที่ 1 จึงได้นำคนงานลงไปช่วยกันเอาไม้ค้ำยันไม่ให้พื้นปูนทรุดตัว แต่ตนได้ออกไปเอาไฟฉายที่รถยนต์ เพราะมืดมาก ช่วงที่เข้ามาในตัวอาคารพื้นปูนได้ทรุดตัวลงมา จึงได้วิ่งหลบหนีกันออกมาได้หลายคน
ข่าวแจ้งว่า อาคารสร้างใหม่ดังกล่าว จะสร้างเป็นตึก 8 ชั้น ของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหอสมุดของมหาวิทยาลัยบูรพา สำหรับพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างอาคารดังกล่าว เคยเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย เมื่อมีการอนุมัติสร้างตึก จึงถมดินเพื่อทำการก่อสร้าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ตึกทรุดและถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้างก็ได้
ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" ตรวจสอบพบว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างคือบริษัท บิลเลียนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ทำสัญญากับ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 วงเงิน 237 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เคยรับเหมาก่อสร้างอาคารหอพักนิสิต (หลังที่ 2) วงเงิน 149.4 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2550
บริษัท บิลเลียนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 ทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 53/9 หมู่ที่ 2 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ผู้ถือหุ้น นายวรนนท์ พร้อมสุทธิพงศ์ 54.5 % นายจีนประสาน สุนทรภาคี 13.6% นายประทวน ฤทธิ์บำรุง 10% นางสาวคณารัชต์ แตงหนู 9% นายภูมิเบศร์ ทองคำสุก 9% นายวิรัตน์ เทียนสันต์ 1.8% นางสาว สุมิตรา ทองปน 1.8% มีนายวรนนท์ พร้อมสุทธิพงศ์ นาย จีนประสาน สุนทรภาคี นาย ประทวน ฤทธิ์บำรุง นายภูมิเบศร์ ทองคำสุก น.ส.คณารัชต์ แตงหนู เป็นกรรมการ
ผลประกอบการ ปี 2551 รายได้ 625.8 ล้านบาท กำไรลุทธิ 14 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทดังกล่าวได้งานรับเหมาก่อสร้างมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และอาคารแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล