|
ตลาดยางพารายังขาด 3 ล้านตัน/ปี ชี้ไทยเร่งคว้าโอกาส |
|
|
พัทลุง - สถิติเผยตลาดยางพารายังขาด 3 ล้านตัน/ปี ชี้จังหวะเหมาะของไทยเร่งป้อน สนง.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเผย ไทยเร่งพัฒนาคุณภาพ อย่าหวั่นเพื่อนบ้านขยายพท.ปลูก - เล็งขยายยังตลาดใหม่ อินเดีย บราซิล อาฟริกา ประเทศตะวันออกกลางป้องกันราคาตก นายทรงธรรม จั่นทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพัทลุง (สกย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยผลิตและส่งออกยางพาราได้มากเป็นอันดับต้นของโลก มีรายได้ประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี โดยรายได้กระจายเข้าสู่เกษตรกรยางพาราประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน นอกนั้นกระจายไปยังส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาส่งออกในรูปวัตถุดิบยางพาราธรรมชาติ ร้อยละ 67 ส่วนร้อยละ 13 นำใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปในประเทศที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นอกจากนั้น ยังต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้ยางมีราคาผันผวนเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดต่างประเทศ เมื่อตลาดโลกประสบกับวิกฤติ ก็ต้องส่งผลกระทบต่อยางพาราไทย เช่นในปี 2551 ถึงต้นปี 2552 เศรษฐกิจโลกวิกฤติ ส่งผลให้ยางพาราไทย ราคาลงมาอยู่ที่ 28-30 บาท / กก. ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นการแก้ปัญหาราคาที่ตกต่ำด้วย นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเปิดเผยว่า ภาวะยางพาราในขณะนี้ตลาดโลกยังมีความต้องการอีกมากถึง 12 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตทั้งโลกมีเพียงประมาณ 9 ล้านตันเท่านั้น จึงยังขาดอยู่ 3 ล้านตัน สำหรับประเทศไทย ในขณะนี้สามารถผลิตได้ 3.4 ล้านตัน / ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก กรณีประเทศเวียดนาม ลาว พม่า เขมร อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย จีน ขยายการปลูกยางพารามาอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่น่าหวั่นวิตกแต่อย่างใด เพราะศักยภาพยางพาราจะสู้ของประเทศไทยไม่ได้ เพราะไทยเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกยางพาราและมีคุณภาพ นายสุนันท์ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือพื้นที่การปลูกที่ค่อนข้างมีจำกัด หากมีการขยายปลูก มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด เพิ่มขึ้นก็จะทำการส่งผลกระทบทันที จึงมีจำเป็นหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิต คือการพัฒนาในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพราะขณะนี้ยางพารามีผลผลิต จำนวน 290 กก./ไร่ /ปี ควรจะผลักดันให้ได้ประมาณ 400 กก./ ไร่ / ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดยางพาราจีนจะไม่รับซื้อในราคาที่สูง ดังนั้น ทางไทยจึงจำเป็นต้องมีตลาดใหม่เพื่อรองรับ อย่าไปยึดเอาตลาดในประเทศ จีน ญี่ปุ่น แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันตลาดประเทศอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง บราซิล และอาฟริกา เป็นตลาดที่สำคัญมาก เมื่อประเทศไดไม่ซื้อ ก็จะนำไปขายประเทศอื่นได้ โดยให้มีการทำตลาดโดยตรง |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|