|
กระทรวงต่างประเทศ ไม่หวั่น ฮุนเซน ยื่นจดหมายฟ้อง ยูเอ็น |
|
|
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม ฮุนเซน ส่งจดหมายฟ้อง UN เพื่อประณามนายกฯ พร้อมยกเลิก MOU บอกคงกำลังทหารในพื้นที่กัมพูชา เป็นการละเมิดคำตัดสินของศาลโลก ด้านกระทรวงต่างประเทศไม่หวั่น ย้ำสามารถชี้แจงได้ว่า ไทยไม่เคยรุกราน ขณะที่นักวิชาการซัด ไทยกำลังปลุกกระแสชาตินิยมเล่นเกมการเมือง แนะจับมือกัมพูชาพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหาร
สำนักข่าวเกียวโด และเอพี รายงานวันนี้ (8 ส.ค.) ระบุ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อประณามคำแถลงในวันเสาร์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่พร้อมจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย กับกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 หรือ MOU 2543 และจะใช้วิธีทางการทูต และการทหาร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยเนื้อหาในจดหมาย ที่ส่งถึงองค์การสหประชาชาติ หรือ UN สมเด็จ ฮุน เซน ได้กล่าวย้ำถึงข้อพิพาทชายแดน ที่ได้รับการพิจารณาชี้ขาด ให้ได้รับการดูแลจากกัมพูชา โดยศาลโลกเมื่อปี พ.ศ.2505 และโดยองค์กรอื่น ๆ ในปี พ.ศ.2477 ซึ่งในการละเมิดคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงกำลังทหารในพื้นที่ วัดแก้วสิขเรศวร(Keo Sikha Kiri Svara) ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารเพียง 300 เมตร ภายในอาณาเขตของกัมพูชา อีกทั้ง ารขู่ว่าจะใช้กำลังทหารยังถือเป็นการละเมิดอย่างเปิดเผยต่อกฎบัตร UN ข้อ 2.3 และ 2.4 อีกด้วย
และความหวังเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อกัมพูชา สมเด็จฮุน เซนยัง ยังได้ถามต่อ นาย อาลี อับดุสซาลาม เตรกี (Dr. Ali Abdussalam Treki) ประธานสมัชชาฯ และนายวิทาลี ชูร์คิน(Vitaly Churkin) ประธานคณะมนตรีความมั่นคง-แห่งสหประชาชาติ เพื่อขอทำจดหมายเวียนแก่สมาชิก UN ทุกคน เกี่ยวกับข้อมูลในข้อพิพาทพื้นที่ชายแดน
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ทางกระทรวงต่างประเทศ ทราบเรื่องที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ส่งหนังสือถึงยูเอ็น ประท้วงท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่พร้อมจะยกเลิก เอ็มโอยู ปี 2543 และพร้อมใช้กำลังทหารรุกรานกัมพูชาแล้ว โดยยืนยันว่า ไทยสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาว่า เพราะมีทั้งพยานและหลักฐานว่า ไทยไม่ได้รุกรานกัมพูชา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นข้อพิพาท พร้อมกันนี้เชื่อว่า สมเด็จฮุนเซนคงเกิดความกังวล อย่างไรก็ตามจุดยืนของไทย การใช้กำลังทหารเป็นทางออกสุดท้าย
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่สมเด็จฮุนเซน ทำจดหมายเวียนให้ข้อมูล เรื่องเขาพระวิหารแก่สมาชิกยูเอ็นทุกชาตินั้น ต้องดูที่เนื้อหาก่อน ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ แต่ทางกระทรวงได้พยายามแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องปักหลักเขตแดน และการผลักดันกัมพูชาออกจากพื้นที่ข้อพิพาท
ขณะที่เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาเรื่องมรดกโลกกับปัญหาเขตแดนขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนางสาวมรกต เจวจินดา ไมยเออร์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า การนำประเด็นเขาพระวิหารมาใช้ปลุกกระแสรักชาติในขณะนี้ น่าจะเป็นการเล่นเกมการเมืองมากกว่า ซึ่งควรเลิกเถียงกัน แล้วมาร่วมมือกันแก้ปัญหา
โดยสิ่งที่สำคัญก็คือ ไทยต้องไม่ปฏิเสธกระแสของอาเซียนอย่างที่กระทำอยู่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในดินแดนนั้น แทนที่จะมองว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตแดนของใคร อย่างเช่น กรณีพื้นที่ทับซ้อนของประเทศเยอรมนี และโปแลนด์ สหภาพยุโรปก็สามารถจัดการพัฒนาให้เป็นแหล่งมรดกโลกที่สำคัญ โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขตแดนได้ เช่นนั้นแล้ว ไทยควรร่วมมือกับกัมพูชาในการรักษามรดกโลก หากยื้อต่อไป โอกาสที่จะหาทางออกมีน้อยมาก
ด้านนายอัครพงษ์ ค้ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติกำลังทำอยู่ เหมือนกำลังทำลายชาติ เพราะการเจรจาที่ผ่านมาไม่มีใครได้ประโยชน์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ส่วนเรื่อง MOU ปี 2543 หากยกเลิกอาจได้รับผลกระทบหลายด้าน เช่น พื้นที่ในหมู่บ้านร่มเกล้า ของประเทศลาว ที่อาจยื่นขอให้ตีความเพื่อดึงกลับไปเป็นพื้นที่ของลาวด้วย
ขณะที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก กล่าวว่า ไทยควรปักปันเขตแดนให้เสร็จก่อน แม้อาจจะหนีไม่พ้นที่ต้องปะทะกับกัมพูชา อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนดังกล่าวเป็นของไทย คงต้องหาทางขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร โดยแยกส่วนที่เป็นของไทยและกัมพูชาไว้อย่างชัดเจน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก  |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|