|
มาร์คซัดปัญหา เขาวิหาร ฝีมือ นพดล รับรองแถลงการณ์ร่วม51 |
|
|
มาร์คซัดปัญหา"เขาวิหาร" ฝีมือ"นพดล" รับรองแถลงการณ์ร่วม51 |
 |
|
 |
มาร์คซัดปัญหา"เขาวิหาร" ฝีมือ"นพดล" รับรองแถลงการณ์ร่วม51 ต้นเหตุไทยเสียเปรียบ ปลุกปชช.ชนยูเนสโก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมชี้แจงกรณีคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก มีมติเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทที่กัมพูชาเสนอว่า การแสดงออกของคนไทยในการปกป้องดินแดนนั้น มีความหมายสำคัญ ทำให้ชาวโลกและองค์กรระหว่างประเทศรู้ว่าคนไทยรู้สึกต่อปัญหาดังกล่าวอย่างไร ส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลกมีมติเลื่อนการพิจารณาข้อเสนอของกัมพูชา ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบออกไป 1 ปี
ห่วงพระวิหารทำปท.แตกแยก
นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงและไม่สบายใจ แม้คณะกรรมการมรดกโลกจะรับฟังความเห็นของไทย แต่ความสับสนที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความขัดแย้งภายในประเทศ มีการกล่าวหากันไปมา ซึ่งการแสดงความเห็นขัดแย้งกันเองจะไปเป็นประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชา ฉะนั้น จึงพยายามให้จัดเวทีพูดคุยในลักษณะไม่กระทบกระเทือนการดำเนินการของรัฐบาลในการปกป้องอธิปไตยและดินแดน
ย้ำจุดยืนรบ.ไทยยึดสันปันน้ำ
นายกฯยังยืนยันว่าจุดยืนรัฐบาลไทยยึดหลักว่าเขตแดนถูกกำหนดโดยสนธิสัญญา คือสันปันน้ำ ส่วนแผนที่ที่จัดทำเป็นเพียงวิธีการค้นพบและนำมาแปลงลงกระดาษว่าสันปันน้ำอยู่จุดใด ซึ่งไทยไม่ได้ยอมรับแผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสขณะนั้น เป็นแผนที่ที่ถูกต้อง ปัญหาที่ยังไม่ได้ข้อยุติสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลโลกว่าแล้วแต่จะตกลงกันว่าเขตแดนอยู่จุดไหน โดยกัมพูชายึดถือแผนที่เป็นตัวกำหนดเขตแดน ส่วนไทยยึดตามสนธิสัญญาเป็นหลัก
ทั้งนี้ หลังคำพิพากษาศาลโลก เกิดปัญหาการจัดทำหลักเขตแดนหรือมุมมองของเขตแดนของสองประเทศไม่ตรงกัน จึงมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปี 2543 มีสาระสำคัญคือ ต้องนำปัญหาข้อขัดแย้งทั้งหมดไปดำเนินการจัดทำหลักเขตแดนผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ซึ่งระบุจะยึดถือตัวสนธิสัญญา แผนที่ที่จัดทำและเป็นผลงานของคณะกรรมาธิการร่วมและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมามีการละเมิดเอ็มโอยูมาตลอด และการดำเนินการจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการ เจบีซีคืบหน้าช้าและน้อยมาก
ซัดแถลงฯร่วมปี51ทำไทยเสียเปรียบ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัมพูชาใช้วิธีการที่ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบ ซึ่งทางขึ้นที่สะดวกที่สุดอยู่ในฝั่งไทย จึงเป็นจุดที่รัฐบาลไทยต้องคัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียว และพยายามผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกร่วมกันของสองประเทศ ต่อมาปี 2551 นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ไปดำเนินการออกแถลงการณ์ร่วมเสมือนเป็นการยอมรับให้ทางกัมพูชาสามารถเดินหน้าในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวได้ จึงถือเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง แม้ตอนหลังไทยจะยกเลิกแถลงการณ์ร่วม โดยศาลตัดสินว่า เป็นโมฆะแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการในขณะนั้น เป็นผลให้กรรมการมรดกโลกรับรองมติที่กัมพูชาเสนอขึ้นไป จากนั้นมากัมพูชาต้องทำแผนบริหารจัดการ เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาจึงพยายามสกัดกั้น ไม่ให้ปัญหาลุกลามมากระทบกับเรื่องเขตแดนไทย และเมื่อปี 2552 เราประสบความสำเร็จในการที่จะไม่ให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และเลื่อนมาพิจารณาในปี 2553
เปิดให้ปชช.ส่งความเห็นถึงยูเนสโก
นายกฯกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องการย้ำคือ เราประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นไม่ให้กัมพูชาใช้วิธีรุกคืบเข้ามา เพื่อนำไปสู่การอ้างสิทธิ์บริเวณรอบปราสาท และอาจมีผลในเรื่องอธิปไตยและดินแดนของไทย ดังนั้น เวลา 1 ปีข้างหน้า เราต้องทำงานหนัก เพื่อทักท้วงสิ่งที่กัมพูชาพยายามทำว่าสร้างความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเราอย่างไร จึงอยากให้ประชาชนคนไทยที่สนใจแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ร่วมกันศึกษาหาข้อมูล แล้วนำความคิดเห็นของคนไทยถ่ายทอดไปยังบรรดาประเทศสมาชิกของมรดกโลก กรรมการมรดกโลก และตัวยูเนสโก
ส่วนในพื้นที่ ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการวางกำลัง เรื่องของชุมชนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะดำเนินการรักษาสิทธิ์หลายวิธีการ เริ่มจากวิธีการทางการทูต ซึ่งในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมไปดำเนินการ ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาทั้งหมด เป็นการปกป้องอธิปไตย ดินแดน
ปัดผลปย.ทับซ้อนชี้MOUเป็นคุณ
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า แถลงการณ์ร่วมปี 2543 ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะไม่ได้เป็นการยอมรับแผนที่ ตรงกันข้ามเอ็มโอยู 2543 เป็นคุณในการสกัดกั้นไม่ให้กัมพูชารุกคืบไทยได้ โดยทำให้กัมพูชา ไม่สามารถใช้แผนที่ดังกล่าวไปอ้างกับคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งขณะนี้พิสูจน์ได้แล้วว่าในเอกสารที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกปี 2553 ไม่สามารถจัดส่งแผนที่ที่สมบูรณ์ได้ เพราะต้องรอกระบวนการของการจัดทำหลักเขตแดนโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ซึ่งเป็นกลไกตามเอ็มโอยู 2543 ให้ได้ก่อน ซึ่งในเรื่องการจัดทำเขตแดนนั้น รัฐบาลต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯก่อน ยืนยันรัฐบาลไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งทางธุรกิจหรือการเมือง จึงขอให้ความมั่นใจและพร้อมต่อสู้ให้ถึงที่สุด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืน
รมว.กห.ชี้สัมพันธ์ด้านทหารยังปึ๊ก
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปในปี 2554 ว่า ทุกอย่างยังปกติ ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการเพิ่มกำลังทหาร เพราะกัมพูชาไม่เพิ่มเราก็ไม่เพิ่ม เป็นไปตามเอ็มโอยู ที่สองประเทศลงนามร่วมกันเมื่อปี 2543 ขั้นตอนต่อไปคงเป็นการหารือพูดคุยกันของรมว.ต่างประเทศทั้งสองประเทศ เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนการประชุม
ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมไทยกับรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนใหญ่เป็นการหารือเรื่องชายแดน ยาเสพติด แรงงานเถื่อน ส่วนประเด็นเขตแดนคงต้องรอดูข้อพิจารณา การดำเนินการขณะนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ถ้ามีอะไรก็สามารถต่อสายพูดคุยกับ พล.อ.เตีย บันต์ได้อยู่แล้ว ความสัมพันธ์ด้านการทหารยังดีไม่มีอะไร
ช่องสะงำเงียบผู้ค้า2ปท.ปิดร้านหนี
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการค้าชายแดนไทย-เขมรด่านถาวรช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ยังคงซบเซา ประชาชนทั้งสองฝั่งประเทศเข้ามาจับจ่ายซื้อของกันน้อยกว่าปกติ พ่อค้าไทยมาเปิดร้านขายของน้อย สาเหตุมาจากการที่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศไม่มั่นสถานการณ์หลังคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปเป็นปี 2554
นายเกริกไกร ผ่องแผ้ว นอภ.ภูสิงห์ กล่าวว่าสาเหตุที่ประชาชนมาซื้อของน้อย ไม่ใช่เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ แต่ช่วงนี้เป็นฤดูทำนา
เช่นเดียวกับ นายเอก บุญยืน อายุ 31 ปี ชาวบ้านอัลลองเวง ผู้คุมคนงานก่อสร้างตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำกล่าวว่า แม้จะมีข่าวปราสาทพระวิหาร แต่ผู้คนพื้นที่อัลลองเวงไม่มีใครตื่นตระหนก คงใช้ชีวิต ข้ามมาทำงานฝั่งไทยตามปกติ
แม่ทัพเขมรเยี่ยมปลุกขวัญทหาร
พล.อ.สะเรือน ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาเดินทางไปเยี่ยมปลุกขวัญทหารที่ชายแดนไทยด้าน จ.อุดรมีชัยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังฝ่ายกัมพูชากล่าวว่า ทหารไทยเคลื่อนพลประชิดชายแดน และผบ.กัมพูชามีแผนจะเดินทางต่อไปยังบริเวณปราสาทตาเมือนกับปราสาทตาควายด้วย ขณะที่สำนักข่าวใกล้ชิดรัฐบาลอ้างคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.สะเรือนระบุว่า ไม่เคยมีนโยบายรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต้องเตรียมป้องกันตัวเอง และอธิปไตยของประเทศ
"เราไม่เคยมีนโยบายรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะต้องเตรียมตัวป้องกันตนเองเพื่อพิทักษ์อธิปไตยของประเทศ" สำนักข่าวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล อ้างคำกล่าวของ พล.อ.สะเรือน
ยันMOU43ป้องไทยเสียดินแดน
มีความเห็นจากพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร โดยนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัย์กล่าวว่า การทำเอ็มโอยูปี 2543 ที่เกี่ยวข้องกับการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขึ้นทะเบียนองกัมพูชามีปัญหา และไม่ทำให้เราเสียดินแดน ทั้งนี้ บางรัฐบาลได้ไปเซ็นอะไรบางอย่างไว้ ทำให้กัมพูชามีช่องทางในการขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ ดังนั้น ยืนยันว่าเอ็มโอยูดังกล่าวยังมีความจำเป็น
จี้เลิกเอ็มโอยู43-เปิดเวทีระดมความเห็น
ส่วนนายสำราญ รอดเพชร รักษาการรองหัวหน้าพรรค รักษาการโฆษกพรรค และนายสุริยะใส กตะศิลา รักษาการเลขาธิการพรรคร่วม แถลงจุดยืนของพรรคที่เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 2543 รวมทั้งเอ็มโอยูฉบับต่างๆที่ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เพราะถ้าไม่ชี้ให้เห็นผิดตั้งแต่แรกจะสร้างความคลุมเครือและสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนให้กัมพูชา ทั้งนี้ เอ็มโอยู 2543 เป็นการเปิดช่องให้แผนที่อัตราส่วน 1:200,000 เข้ามามีบทบาทในอนาคต พร้อมกันนี้อยากให้รัฐบาลเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆได้แสดงความเห็น
แนะนายกฯชูพระวิหารเป็นวาระแห่งชาติ
ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไป 1 ปี เป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่ใช่ชนะคดี ประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหารเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะเกี่ยวกับดินแดน ส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาด้วยสันติวิธียึดการเจรจา จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการระดับชาติรวมทุกภาคส่วน มาระดมความคิด กำหนดยุทธศาสตร์ปกป้องผืนแผ่นดินและผลประโยชน์ของชาติร่วมกัน เหมือนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย
ปชช.หวั่นทำให้ไทยสูญอธิปไตย
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,148 คน ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2553 เรื่องประชาชนคิดอย่างไรกับ กรณี “ปราสาทพระวิหาร” ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.51 เห็นว่า เป็นปัญหาที่มีมานาน ซึ่งส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา รองลงมา อยากให้เจรจาอย่างสันติ เพื่อนำไปสู่ข้อยุติที่น่าพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนความวิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.18 กลัวว่า จะเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ รองลงมา กลัวไทยจะสูญเสียเขตแดนรอบปราสาทพระวิหารไป และกลัวว่า จะเกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
ส่วนสิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.96 ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนชาวไทยและต่างชาติได้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รองลงมาต้องการให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมของข้อมูล และแผนที่แสดงเส้นแบ่งเขตแดน และเฝ้าระวังติดตามความเคลื่อนไหวของกัมพูชา ดูแลความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย |
|
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|