รัฐควรให้งบประมาณอุดหนุนชาวนาอย่างเป็นระบบ แทนการบิดเบือนกลไกการตลาด โดยการทำให้ราคาข้าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การรับจำนำข้าวในปี 2547 รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดถึง 4,000 บาท เป็นผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเปลี่ยนนโยบายจากการรับจำนำไปเป็นการประกันรายได้เกษตรกรแทน...
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาวนา และการเพาะปลูกข้าวของประเทศไทย ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การอุดหนุนข้าวไทย : เพื่อชาวนา หรือ เพื่อใคร" ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นประธาน และจัดให้มีขึ้นโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้า การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม (Tepcot) รุ่นที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วานนี้ (21 มิ.ย.) นั้น
ผู้สื่อข่าวซึ่งร่วมสังเกตการณ์ด้วย รายงานว่า นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้า ไทย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมชาวนาไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุปให้แก่ภาครัฐว่า ควรให้การอุดหนุนชาวนารูปแบบใด จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด นโยบายประกันรายได้ชาวนากับการรับจำนำข้าว อย่างไหนดีกว่ากัน และถึงมือชาวนามากกว่า ขณะที่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและรายได้แก่เกษตรกรในระยะยาว ควรดำเนินการภายใต้แนวคิดการลดจำนวนชาวนาไทย หรือลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวลง เพื่อให้ราคาข้าวสูงขึ้น และยืนราคาได้อย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปใน 3-4 ประเด็น คือ รัฐควรให้งบประมาณอุดหนุนชาวนาอย่างเป็นระบบ แทนการบิดเบือนกลไกการตลาด โดยการทำให้ราคาข้าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การรับจำนำข้าวในปี 2547 รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดถึง 4,000 บาท เป็นผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเปลี่ยนนโยบายจากการรับจำนำไปเป็นการประกันรายได้เกษตรกรแทน โดยสรุปแม้จะพูดถึงการคิดคำนวนราคาอ้างอิง ที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่วงสัมมนาตอบรับระบบประกันรายได้ว่า ประโยชน์ตกถึงมือชาวนามากกว่าการรับจำนำ ซึ่งผลการสำรวจของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ชาวนาได้ประโยชน์จากการรับจำนำเพียง 36.8% ส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 60% ตกอยู่ในมือคนอื่น ซึ่งหมายถึงนักการเมือง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะร่วมกันล้อมกรอบนักการเมืองด้วยการลดอำนาจพวกเขา ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับนโยบายข้าว "อย่าเอานักการเมืองมายุ่งกับการแทรกแซงราคาข้าว เพราะไม่มีวันจะทำให้ราคาข้าวดีขึ้นได้ สิ่งที่ทำได้ คือ ประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น และจัดระบบการประกันรายได้อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้งบประมาณรัฐรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร หรือมีพื้นที่เพาะปลูกจริง" นอกจากนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีข้อเสนอปรับช่องโหว่ของการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกว่า ระยะยาว หากลดพื้นที่ปลูกข้าวลงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน ราคาข้าวจะสูงขึ้นได้ทันที
ด้านนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีการพูดเรื่องข้าว และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นร้อยๆครั้ง ตลอดอายุราชการ 45 ปี แต่ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากข้อถกเถียงเดิมๆ ที่ว่าใครได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐมากกว่ากัน ระหว่างชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก แม้วันนี้จะมีเรื่องใหม่เข้ามาบีบว่า จะเอาระบบจำนำกลับมาดี หรือคงการประกันรายได้ต่อไป แต่ท้ายสุดทุกฝ่ายยังย่ำอยู่กับที่ และวนอยู่กับปัญหาเดิมๆ "เวลาเราพิจารณาปัญหา เราควรมองต้นเหตุของปัญหา เริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งถึงวิธีขายข้าวไปต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาลจริงๆ"
นายสมพลกล่าวถึงสิ่งแรกที่ต้องทำคือ จะช่วยให้ชาวนาพ้นจากความยากจนอย่างไร ซึ่งการจะพ้นความยากจนได้ ไม่ใช่เอาราคาข้าวเป็นตัวกำหนด หาไม่แล้ว 500 ปีก็ยังแก้ไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน นี่เป็นทางหนึ่งที่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่รายได้จากการปลูกข้าวอย่างเดียว "ประเด็นต่อมาคือการสร้างประสิทธิภาพในการผลิต กี่ปีมาแล้วที่ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่กลับมีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดเพียง 300-400 กก.ต่อไร่ ขณะที่เวียดนาม 700-800 กก.ต่อไร่ และสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่ เรายังมีปัญหาคุณภาพด้วย ถ้าแก้ปัญหาดิน ระบบน้ำและการชลประทาน ปุ๋ย ปัจจัยการผลิต รวมถึงพันธุ์ข้าวได้ เราก็จะพูดเรื่องราคาเป็นลำดับต่อไปได้ไม่ยาก"
นายสมพลพูดถึงปริมาณผลผลิตที่สูงกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ราคาข้าว และสินค้าเกษตรไทยอ่อนไหวง่าย โดยราคาสินค้าต่ำเมื่อต้นฤดู แต่จะสูงขึ้นช่วงปลายฤดูว่า สิ่งที่ต้องทำระหว่างทางจากต้นฤดูถึงปลายฤดูเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าวคือ การเก็บสต๊อก เมื่อราคาดี ก็นำออกขาย วิธีการนี้จึงออกมาในรูปของการรับจำนำข้าวโดยรัฐให้ราคา 80% หากราคาดี เกษตรกรไถ่คืนได้ แต่เมื่อกรณีนี้ถูกบิดเบือนไป รัฐบาลจึงใช้นโยบายประกันรายได้แทน ฉะนั้น การประกันรายได้วันนี้ จึงไม่ใช่การสร้างเสถียรภาพของราคาอย่างที่เข้าใจกัน "ถ้าต้องการสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกร ต้องดูเรื่องการผลิตให้มีคุณภาพ และได้ผลผลิตต่อไร่สูง อย่ามุ่งแต่จะขายอย่างเดียว ที่สำคัญต้องหยุดการคอรัปชันที่โกงกันตั้งแต่ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก นักการเมือง และข้าราชการให้ได้ ตราบเท่าที่ยังทำตรงนี้ไม่ได้ เราทั้งหมดยังคงอยู่ในวังวนเดิมๆ ซึ่งเป็นวังวนของความยากจนในหมู่ชาวนาอยู่วันยันค่ำ" นายสมพลกล่าวในที่สุด