คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในทุกๆธุรกิจทุกๆสินค้าล้วนต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ รู้จักและมีความต้องการที่จะใช้สินค้านั้นๆ แต่ว่าจะประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีใดล่ะ จึงจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดีที่สุด Road Show เป็นการทำการตลาดแบบ Below the line ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจและสินค้าให้เป็นที่รู้จัก โดยไม่ผ่านสื่อโฆษณา วิธีที่มักพบว่าใช้กันบ่อยๆในการ Road Show ก็คือ การจัดคอนเสิร์ตของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม 150 ที่ใช้ทั้งโลโซ บิ๊กแอสและบรรดานักร้องแนวร็อคของค่ายแกรมมี่เป็นตัวดึงดูดให้คนเข้ามาชม หรืออย่าง True Coporation หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ในประเทศไทย ก็ยังใช้การ Road Show ด้วยคอนเสิร์ตของบรรดานักล่าฝันจาก True Academy Fantasia เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองด้วยเช่นกัน แต่ก็ใช่ว่า Road Show จะมีอยู่แค่การจัดคอนเสิร์ตเพียงวิธีเดียว ยังมีอีกมากมายหลายวิธีที่บรรดาธุรกิจนิยมนำมาใช้ เช่น การจัดประกวดหาหนุ่มสาวดัชชี่ ของ Dutch Milk, การประกวดหานักร้อง The Star ของค่ายแกรมมี่ แม้กระทั่งการประกวดสาวงามตามจังหวัดต่างๆของหลายๆตราสินค้า ก็เป็นหนึ่งในวิธีการประชาสัมพันธ์ตามแบบฉบับของ Road Show เพียงแค่ธุรกิจต่างๆรู้ถึงวัฒนธรรม ความชอบ ความต้องการของผู้บริโภค ก็สามารถจัด Road Show เพื่อสนองต่อความต้องการได้ไม่ยาก แล้วมุสลิมล่ะ! ถ้าต้องการจะประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตนเองในแบบของ Road Show จะทำยังไง ที่แน่ๆคงไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ตแบบบังๆ จัดประกวดหานักร้องนำวงมุสลิมแบนด์ หรือจัดประกวดมุสลิมะฮ์งามประจำหมู่บ้านอย่างแน่นอน เพราะกฎข้อหนึ่งของการตลาดก็คือต้องไม่ขัดกับวัฒนธรรมของกลุ่มลูกค้า และหากเป็นลูกค้ามุสลิม Road show ก็ต้องไม่ขัดกับหลักศาสนา ตัวอย่าง Road Show หนึ่ง คือการจัดอบรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้กับนักศึกษาตามที่ต่างๆทั้งในประเทศและนอกประเทศ ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ รูปแบบของงานนี้เป็นการดึงจุดเด่นของศูนย์ฯซึ่งก็คือความรู้เรื่องฮาลาลมาใช้เป็นแก่นหลักในการทำ Road show ซึ่งนอกจากจะทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความรู้ในเรื่องฮาลาลให้กับกลุ่มเยาวชนมุสลิมอีกด้วย เช่นเดียวกับวารสารโรตีมะตบะที่ดึงเอาจุดเด่นของตนในเรื่องของการเขียนและการทำหนังสือมาเป็นแก่นของ Road Show ของตน โดยตระเวนจัดอบรมการเขียนให้กับโรงเรียนกว่า 20 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นแฟนหนังสือตัวยง ซึ่งถ้าจะให้บรรณาธิการของวารสารโรตีมะตะบะไปแสดงคอนเสิร์ตให้น้องๆดูก็คงเจอก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ ผลพวงจากภารกิจครั้งนี้ได้ทำให้วารสารโรตีมะตะบะเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังได้กลุ่มเยาวชนที่สมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรตีมะตะบะ ทั้งในรูปแบบของนักเขียน และเครือข่ายขายวารสาร สองตัวอย่างนี้ทำให้รู้ว่า บางครั้งการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ Above the line อย่างโฆษณาเสมอไป กับยุคภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบนี้ บางทีการหันมามอง Below the line อย่าง Roadshow อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าก็เป็นได้ โดย ชานนท์ ยิ้มใย ที่มา นิตยสารริสกี [email protected] |