มติชน: ชิงจุฬาราชมนตรีคึกคัก แบ่ง2ขั้วใหญ่ ใต้เสนอ"อาศีส" กลางดันคนใกล้ชิด"สวาสดิ์"เปิดโผ7ตัวเต็ง  นายพิเชษฐ สถิรชวาล เลขาฯคณะกรรมการกลางอิสลาม (ปัจจุบัน)
การชิงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนใหม่แทน"สวาสดิ์"ส่อเค้าคึกคักและเร้าใจ แบ่งสองขั้วใหญ่ แกนนำมุสลิมภาคใต้เสนอ "อาศีส" ชี้วัยวุฒิ-คุณวุฒิเหมาะสมรู้ปมไฟใต้ กลางหนุนคนใกล้ชิดอดีตผู้นำ เปิดโผ 7 ตัวเต็ง การคัดเลือกสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่ แทน นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 16พฤษภาคมนี้ บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก โดยผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เคลื่อนไหวสนับสนุนบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามคนที่ 18 ของประเทศไทย ขณะที่มีรายชื่อผู้ที่คาดว่าจะได้รับการคัดสรรเป็นจุฬาราชมนตรีปรากฎออกมาแล้ว 7คน
ผู้สื่อข่าวภูมิภาค"มติชน"ประจำจ.พระนครศรีอยุธยา รายงานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ว่า สมาคมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย เชิญผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำ 38 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมที่โรงแรมอยุธยาแกรนด์ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 2 พฤษาคม เพื่อหารือถึงการทำงานของสมาคมฯและหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเลือกสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่
นายประดิษฐ์ รัตนโกมล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่ จะสรรหาในวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เนื่องจากการคัดเลือกจุฬาราชมนตรี มีกระบวนการหลายขั้นตอน
"ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้สอบถามหลายคนมีตัวเลือกอยู่ในใจแล้ว ผมยืนยันว่าการประชุมร่วมกันครั้งนี้ไม่มีการล๊อบบี้ ให้เลือกใครคนใดคนหนึ่ง อย่างที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง"นายประดิษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมของสมาคมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย ครั้งนี้มีตัวแทน 35 จังหวัดเข้าร่วมประชุม 260 คน จากจำนวนสมาชิก 38 จังหวัด จำนวน734 คน ส่วนผู้ที่ไม่เข้าร่วมประชุมให้เหตุผลว่าติดธุระสำคัญอย่างไรก็ตามในการประชุม นายสมาน มาลีพันธุ์ อายุ 73 ปี อดีตประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี หนึ่งในตัวเต็งคาดจะลงสมัครเลือกสรรจุฬาราชมนตรี สายภาคกลางคนใกล้ชิดอดีตจุฬาราชมนตรี ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ลงสมัครรับการสรรหาจุฬาราชมนตรี มาจากสองขั้วใหญ่ ที่ลงสมัครคือผู้สมัครจากสายภาคใต้ มีชาวมุสลิมในภาคใต้ รวมทั้งอดีตนักการเมืองชาวมุสลิมให้การสนับสนุน และผู้สมัครสายภาคกลาง เป็นการรวมกลุ่มของอิสลามในพื้นที่ พยายามผลักดันให้คนใกล้ชิดอดีตจุฬาราชมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรม ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
นายอิสมาแอล หมินหวัง กรรมการอิสลามประจำจ.สงขลาเปิดเผยว่า ในส่วน 14 จังหวัดภาคใต้มีมติชัดเจน เสนอ นายอาศีส พิทักษ์คุมพล เป็นผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนต่อไป ด้วยความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะนายอาศีสเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาของมุสลิมทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ไม่ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาล ซึ่งสามารถสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่เกิดกับรัฐบาลได้ การแก้ปัญหาในทุกวันนี้จะต้องมองในมิติใหม่ ๆ ของปัญหา นอกจากนั้นนายอาศีส ยังเป็นบุคคลที่มีความสามารถหลายด้าน รวมทั้งพูดได้หลายภาษา ทั้งภาษามลายู ภาษาอาหรับ สามารถทำงานประสานกับภาครัฐได้อย่างดี
"คุณอาศีส พิทักษ์คุมพล เป็นคนที่มองคนออก บอกคนง่ายและใช้คนเป็น เท่าที่ร่วมงานกันมา ถือเป็นคนที่เก่ง สังคมยอมรับ มีความรู้ด้านศาสนา ไม่ได้สนับสนุนเพราะเป็นคนในภาคใต้ แต่ในฐานะเป็นคนกลางประสานกับมุสลิมทั่วประเทศได้ "นายอิสมาแอลกล่าว
นายวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลากล่าวว่า สนับสนุนนายอาศีส เพราะมีความรู้ความสามารถที่โดดเด่น โดยเฉพาะความรู้ด้านศาสนา ไม่เป็นสองรองใคร รู้ลึกซึ้ง เพราะสนใจศึกษาอยู่ตลอดเวลาแม้ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีความรู้เป็นพิเศษทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมนุษยวิทยา มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.)สงขลา อีกทั้งวัยวุฒิ 63 ปี ไม่อาวุโส ไม่อ่อนวัย จนเกินไป เดินทางไปไหนมาไหนคล่องตัว
นายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจ.ปัตตานี เปิดเผยว่า การเลือกตั้งจุฬาราชมนตรีควรเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติ เพียบพร้อมไปด้วยความดีงามสิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ควรเป็นผู้ที่มีประวัติด่างพร้อย ทั้งตัวเองและส่วนรวม ควรเลือกคนที่ไม่เสนอตัวเองและไม่หาเสียง และผู้สมัครต้องไม่มีความอยากได้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จุดนี้ตามหลักการศาสนาและหลักการโดยทั่วไป
นายกริยา กิจจารักษ์ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 14 จังหวัดภาคใต้ว่า อยากขอโอกาสคนภาคใต้มีโอกาสได้รับใช้สักครั้งหนึ่ง จากการประชุมหลายครั้งขอความเห็นในที่ประชุมเห็นสรุปเสนอคนเดียว คือนายนายอาศีส เพื่อคัดเลือกและสรรหาเป็นจุฬาราชมนตรี
" ในภาคใต้จะไม่ประชุมอีก เพราะก่อนหน้านี้ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหลายครั้งกว่าจะเลือกคุณอาศีลได้ขณะนี้ผมใช้วิธีเดินสายขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามทั้ง 14 จังหวัดและไม่ได้บล็อกอะไร แต่ใช้โอกาสอันนี้ให้คนใต้มีโอกาสรับใช้พี่น้องมุสลิมบ้าง เหลืออีกเพียงไม่กี่จังหวัดแล้วที่ผมไปทำความเข้าใจ"นายกริยากล่าวและว่า การเลือกตั้งในวันที่ 16 พฤษภาคม หากผลออกมาไม่ใช่คนของภาคใต้ต้องเคารพสิทธิ แต่จะสูญเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่ของคนภาคใต้ หากจุฬาราชมนตรีไม่ใช่เป็นคนของภาคใต้
นายสุริยา ปันจอร์ คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สตูล และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่า จะมีผู้เสนอชื่อเพื่อคัดสรร ประมาณ 7-8 คน เท่าที่ทราบในภาคใต้ นั้นจะเสนอ นายอาศีล เพียงคนเดียว ส่วนภาคกลาง คาดว่าจะเสนอนายอรุณ บุญชม, นายอรุณ หมันเอเล๊าะ, นายสมาน มาลีพันธ์, นายชาฟีอี นภากร, นายทองคำ มาหะหมัดและ นายวินัย สมาอูน
"ผมอยากได้จุฬาราชมนตรีที่มีความสะอาด บริสุทธิ์ มีความรู้ มีคุณธรรมและสิ่งสำคัญคือไม่มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องในการสรรหากคนใดมีปัจจัยเกี่ยวข้องเลือกไม่ได้และจะไม่เลือกโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าไม่มีความบริสุทธิ์"นายสุริยากล่าว
นายพลางกูร วงศ์ลือเกียรติ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า อยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถ อยากได้ผู้นำที่ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ประเด็นสำคัญคือการเป็นผู้นำที่แท้จริง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีศักดิ์ศรีที่แท้จริง
"สำหรับ จ.เชียงใหม่ ประชุมคณะกรรมการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา และจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 พฤษภาคม เพื่อให้นโยบายและแนวคิดอิสระในการใช้ดุลยพินิจเลือกดูคนที่มีความตั้งใจจริง ขอให้มองคนที่ให้ความสำคัญต่อทั้งศาสนาและสังคม เพราะชาวไทยมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อยในสังคม จะทำอย่างไรให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย"นายพลางกูรกล่าว
นายพลางกูร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายคนที่ขึ้นมาเสนอแนวนโยบายต่อคณะกรรมการอิสลามเชียงใหม่ ทั้งนายทวี ซาฟาอี ดร.อิมรอม และนายสมาน มาลีพันธุ์ ทุกคนเข้าข่ายดีหมด ทั้งจากประวัติการทำงานเพื่อสังคมและศาสนามามากมาย ต้องพิจารณากันเต็มที่
"ภาคเหนือเรามีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย จ.เชียงใหม่มีคณะกรรมการ 15 คน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก จังหวัดละ 11 คน กำแพงเพชรอีกนิดหน่อย ทุกคนยืนยันจะเดินทางไปใช้สิทธิ เราอยากให้รวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามีความไม่ลงรอยกันในคณะกรรมการกลางและสำนักจุฬาราชมนตรี"นายพลางกูรกล่าว
|