มุสลิมไทยดอทคอม คาดว่า เบลเยี่ยมจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายห้ามสวมชุดนิกอบ และบุรก้า
ซีเอ็นเอ็น โฆษกรัฐสภาเบลเยี่ยมกล่าวว่า การโหวตจะมีขึ้นในบ่ายวันพฤหัส เพื่อตัดสินว่าควรจะออกกฎหมายห้ามสตรีมุสลิมสวมชุดคลุมหน้าแบบนิกอบ และบุรก้าหรือไม่ 
หากเสียงข้างมากของ ส.ส. เห็นชอบกับการออกกฎหมายดังกล่าว เบลเยี่ยมจะกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายห้ามสวมชุดแบบคลุมหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีขั้นตอนหลังจากนี้ ที่สภาสูงจะต้องพิจารณาหลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่มีแนวโน้มว่าวุฒิสภาจะเห็นพ้องกัน หากผ่านความเห็นชอบในขั้นตอนแรก
สมาชิกสภาส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า แรงจูงใจที่ทำให้เห็นชอบกับการออกกฎหมายดังกล่าว มาจากทั้งด้านความปลอดภัย และศีลธรรม
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Denis Ducarme แห่งพรรคลิเบอรัล รีฟอร์มิสต์ มูฟเม้นท์ กล่าวว่า ในความเห็นก็คือผู้ที่เดินตามท้องถนน ควรจะได้เห็นหน้าเห็นตาซึ่งกันและกัน และที่ต้องปกป้องคือ ค่านิยมในเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของสตรี
พรรคดังกล่าวเป็นผู้ร่างกฎหมาย และอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคต่างๆ อย่างกว้างขวาง Ducarme ย้ำว่า ไม่เป็นความจริงที่ว่า อิสลามเรียกร้องให้ผู้หญิงแต่งกายแบบคลุมหน้า มุสลิมส่วนใหญ่ในเบลเยี่ยม และยุโรปไม่ยอมรับเครื่องแต่งกายเช่นนี้ และจำนวนผู้แต่งกายแบบปิดหน้ามีเพียง 10 % เท่านั้น ซึ่งส่วนมากได้รับอิทธิพลจากปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ซึ่งนิยมให้ผู้หญิงแต่งกายเช่นนี้
ผู้แต่งนิกอบ และบุรก้าทั้งประเทศมีประมาณ 300 400 คน ผลสำรวจหัวข้อศาสนา และชีวิตสังคมของสำนักสำรวจพิว ระบุว่า เบลเยี่ยมมีมุสลิมประมาณ 281,000 คน คิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
อับดุลเลาะฮฺ บาสติน ผู้นำทางการเมืองของมุสลิม กล่าวเตือนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า การออกกฎหมายห้ามอาจมีผลในทางตรงกันข้าม คือ เหมือนเร่งเร้าให้มีผู้อยากแต่งนิกอบ หรือบุรก้ามากขึ้น
เมื่อ 6 ปีที่แล้วเมือง Maaseik ในเบลเยี่ยมมีการห้ามสวมบุรก้า ซึ่ง Jan Creemers ผู้ว่าราชการเมือง ฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากชุมชนมุสลิมเชื้อสายมอร๊อกโกในเมืองนี้ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัจจุบันเมืองนี้ไม่มีคนแต่งกายแบบคลุมหน้าแม้แต่คนเดียว
หากผ่านกฎหมายดังกล่าวออกมาใช้บังคับ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 15 25 ยูโร (20-33 ดอลล่าร์) หรืออาจถูกจำคุก 1 7 วัน
องค์กรนิรโทษกรรมสากลเตือนว่า กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดหลักกฎหมายสากล รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และศาสนา
Claudio Cordone รักษาการเลขาธิการองค์กร ฯ ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า ผู้หญิงจะต้องไม่ถูกบังคับในทุกกรณี โดยไม่ว่ารัฐ หรือปัจเจกบุคคล ก็ไม่มีสิทธิบังคับผู้หญิงให้คลุมศีรษะ หรือคลุมหน้า และในทำนองเดียวกัน การออกกฎหมายห้ามไม่ให้แต่งกายเช่นนั้น ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว - www.muslimthai.com
|