สำนักข่าวมุสลิมไทย การแต่งตั้งผู้หญิงอาหรับขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรใหม่ของ UN เจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในกรุงนิวยอร์ค กำลังหาวิธีรวบรวมองค์กรเกี่ยวกับสิทธิสตรี ที่มีอยู่ในหลายหน่วยงานของสหประชาชาติ เข้าเป็นองค์กรเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมากขึ้น และผู้นำขององค์กรใหม่ของผู้หญิงนี้ ยังต้องดำรงตำแหน่งเป็นถึงระดับรองเลขาธิการสหประชาชาติเสียด้วย 
ปัจจุบันกิจกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงของสหประชาชาติ ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ แผนก Advancement of Women (DAW), สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการใหญ่ ในด้านประเด็นระหว่างเพศและความก้าวหน้าของสตรี (OSAGI), หน่วยงานสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้หญิง (UNIFEM) และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมเพื่อความก้าวหน้าของสตรีระหว่างประเทศ (INSTRAW) ซึ่งการรวบรวมองค์กรเหล่านี้เข้าเป็นหนึ่งเดียว จะเป็นโอกาสครั้งแรกของสหประชาชาติ ที่จะส่งเสริมสิทธิของสตรีในตะวันออกกลาง โดยการแต่งตั้งสตรีจากกลุ่มอาหรับขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรใหม่นี้ หลายปีที่ผ่านมา องค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสตรีส่วนมากจะอยู่ในเมืองหลวงของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และมูลนิธิเอกชน เพื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคนั้นๆ 
ในขณะที่นักต่อสู้เพื่อประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง รวมทั้งกลุ่ม NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโลกอาหรับ กลับถูกละเลย แม้จะประสบความสำเร็จอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม เนื่องมาจากที่รัฐบาลของตะวันตกเป็นผู้ให้เงินทุนแก่กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับผู้หญิงในสหประชาชาติ ดังนั้น จึงมีอิทธิพลครอบงำกลุ่มเหล่านี้ ให้เห็นความสำคัญเฉพาะในประเทศ และพื้นที่ที่สนใจเท่านั้น การแต่งตั้งผู้หญิงอาหรับขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรใหม่นี้ จะช่วยกดดันให้รัฐบาลกลุ่มตะวันออกกลาง ให้เกียรติกับข้อตกลงในสนธิสัญญายกเลิกการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบกับผู้หญิง (CEDAW) ที่ได้ร่วมลงนามไว้ และยังเป็นการสื่อไปยังรัฐบาลกลุ่มประเทศอาหรับว่า หน่วยงานระหว่างประเทศแห่งนี้จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ความร่วมมือสนับสนุนในเรื่องนี้ ประเทศในตะวันออกกลาง และอัฟริกาเหนือเกือบทุกประเทศ ได้ลงนามในสนธิสัญญา CEDAW ยกเว้นซูดาน และโซมาเลีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการชุมนุมนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวด้านสตรีในโลกอาหรับที่กรุงนิวยอร์ค ในการประชุมคณะทำงานเพื่อสถานภาพสตรีครั้งที่ 5 โดยมีการแสดงความยินดีกับความสำเร็จที่ผ่านมา เช่น การที่จอร์แดนยกเลิกกฎเกณฑ์ที่บังคับผู้หญิงเกี่ยวกับการเดินทาง เป็นต้น ครั้งนี้นับว่าต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ถึงความเคลื่อนไหวของสตรีในระดับโลก ซึ่งจะถูกจับตามองจากสตรีในกลุ่มประเทศอาหรับ ตั้งแต่แบกแดดถึงคาซาบลังก้า เพื่อรอเวลาที่ผู้หญิงอาหรับจะผงาดขึ้นชูธงแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะผู้นำองค์กรใหม่เพื่อสตรีในสหประชาชาติในเร็ววันนี้ - www.muslimthai.com |