มุสลิมไทยดอทคอม อุละมะอฺร่วมการประชุมทบทวนการฟัตวาเกี่ยวกับความหมายของญิฮาดใหม่ ปารีส อุละมะอฺที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมการประชุมทบทวนการฟัตวาเกี่ยวกับความหมายของญิฮาดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งต้องมีการเคารพในความศรัทธาของผู้อื่น และมีเรื่องสิทธิของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง 
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองมาร์ดิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี มีอุละมะอฺระดับสูงจากซาอุดี้อาระเบีย ตุรกี อินเดีย เซเนกัล คูเวต อิหร่าน มอร๊อกโก และ อินโดนีเซีย รวมทั้ง มุสตาฟา เคอริค มุฟตีใหญ่จากบอสเนีย เชคอับดุลเลาะฮฺ บิน บัยยะฮฺ จากมอริตาเนีย และเช้คฮาบิบ อะลี อัล-จิฟรี จากเยเมน เข้าร่วมในการประชุมนี้ โดยมีการสรุปความเห็นว่า การฟัตวาของ Ibn Taymiyya อุละมะอฺคนสำคัญในสมัยศตวรรษที่ 14 ที่ฟัตวาว่าการญิฮาด คือการใช้ความรุนแรง การต่อสู้ด้วยอาวุธ รวมทั้งแนวคิดแคบๆ ที่แบ่งแยกโลกออกเป็นเพียง 2 ส่วน คือ มุสลิม กับ กาเฟรฺ นั้นไม่เหมาะสมกับโลกในปัจจุบันแล้ว
โอซามา บินลาเด็น เองยังอ้างคำฟัตวาของ ตัยมิยาอฺ ในการเรียกร้องให้มุสลิมลุกขึ้นมาญิฮาดต่อต้านอเมริกา โดยการอ้างอิงจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่ประชุมดังกล่าวเห็นพ้องกันว่า ผู้ใดที่อ้างหรือแสวงหาการสนับสนุนจากฟัตวาดังกล่าว และเรียกร้องให้มีการสังหารชีวิตของมุสลิมด้วยกันเอง หรือบุคคลที่นับถือศาสนาอื่น แสดงว่าเขาเข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของการญิฮาดที่แท้จริง
แถลงการณ์จากการประชุมยังระบุว่า ไม่มีมุสลิมคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถประกาศการญิฮาด ด้วยการเข้าร่วมในการใช้อาวุธประหัตประหาร โดยลำพัง
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุละมะอฺระดับผู้นำเชื้อสายปากีสถาน ในลอนดอน ได้ออกฟัตวาหนา 600 หน้า ซึ่งระบุการต่อต้านการก่อการร้าย และการประชุมดังกล่าวก็เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของอุละมะอฺระดับผู้นำจำนวนหนึ่ง ที่ต้องการจะแปลความหมายออกมาหักล้างกับการโน้มน้าวของกลุ่มหัวรุนแรง ที่มีอิทธิพลกับมุสลิมจำนวนไม่กี่กลุ่มในโลก
อีกฟัตวาหนึ่งที่ประกาศในดูไบเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพในประเทศโซมาลี ซึ่งฟัตวาดังกล่าวเน้นให้มุสลิมไม่ส่งเสริมการใช้อาวุธ หรือความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
อุละมะอฺในที่ประชุมดังกล่าวมีความเห็นว่า ฟัตวาของตัยมิยาอฺ ซึ่งอนุญาตให้มุสลิมตัดสินคนอื่นว่าตกศาสนา และประกาศสงครามต่อสู้กัน เป็นฟัตวาที่ใช้ในประวัติศาสตร์สมัยที่พวกมองโกลบุกเข้ามารุกรานดินแดนมุสลิม แต่ปัจจุบัน สังคมต่างๆ ประกอบด้วยคนจากหลากหลายศาสนา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และยังมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันในแต่ชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการเปิดใจกว้าง ความอดทน และมีมิตรจิตรมิตรใจต่อกัน จึงจะนำพาให้เกิดสันติสุขในสังคมนั้นๆ
Aref Ali Nayed ชาวลิเบียซึ่งเป็นประธานสถาบันความคิด และวิจัย Kalam ในดูไบ ได้สรุปในที่ประชุมว่า แนวความคิดเก่าๆ สมัยที่อิสลามเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบันที่มีการแบ่งแยกเป็นประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีมุสลิมอยู่ทุกหนแห่งในโลก และไม่ได้มีการแบ่งแยกตามภูมิศาสตร์ และการเมือง
โดยเฉพาะมุสลิมต้องทำความเข้าใจว่า การปกครองแบบแบ่งแยกศาสนาไม่ได้จะเป็นปฏิปักษ์กับอิสลามเสียทั้งหมด - www.muslimthai.com
|