สำนักข่าวมุสลิมไทย ตุรกีไอเดียบรรเจิดเปิดตัวหุ่นยนต์ตัดเนื้อกะบ๊าบ
เบรุต เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบการผลิตกะบ๊าบตุรกีในยุโรป (ATDID) ได้จัดงานออกร้านขึ้น ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในงานมีการเปิดตัวหุ่นยนต์ FFDR-V12D4 ซึ่งสามารถตัดเนื้อกะบ๊าบได้ 120 ชุด ใน 1 ชั่วโมง นับเป็นนวัตกรรมสำหรับพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมผลิตกะบ๊าบในอนาคต 
Ahmet Kalyoncu หนุ่มชาวไซปรัสวัย 34 ปี เคยขายกะบ๊าบอยู่ในลอนดอนใต้หลังจบการศึกษา แต่ปัจจุบันเขาอยู่ในเวียนนา เป็นผู้จัดการบริษัท Doner-Robotu ซึ่งคิดค้นเครื่องชนิดนี้เปิดเผยว่า เขาได้แนวคิดจากญาติซึ่งเป็นวิศวกร และนำมาปรับใช้ผลิตหุ่นยนต์ซึ่งติดกล้องดิจิตอลที่สามารถจับความหนา-บางของชิ้นเนื้อกะบ๊าบได้ ซึ่งเนื้อที่หั่นออกมาจะมีความหนาขนาดแผ่นขนมปังกรอบเท่ากันทุกชิ้น และมีรสอร่อย รวมทั้งสะอาด แต่ไม่ได้หมายความว่าเครื่องมือดังกล่าวจะมาทำหน้าที่แทนคน เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีคนที่อยู่ประจำเครื่อง เพียงแต่เครื่องจะทำได้เร็วกว่า สะอาด และสวยงามเท่านั้น
กะบ๊าบ เป็นวัฒนธรรมแซนด์วิชแบบตุรกี ได้แพร่เข้ามาในเยอรมันครั้งแรกในปี 1971 โดยผู้อพยพชาวตุรกี Mahmut Aygun เปิดร้านขายกะบ๊าบขึ้น และ 40 ปีต่อมาอาหารว่างชนิดนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวเยอรมัน
ปัจจุบันมีร้านขายกะบ๊าบกว่า 15,000 ร้านในเยอรมัน ซึ่งทำให้คนประมาณ 74,000 คนได้มีงานทำ Tarkan Tasyumruk ประธานสมาคมกล่าวว่า ตัวเลขการขายกะบ๊าบในเยอรมันอยู่ที่ปีละ 2.5 พันล้านยูโร (3.3 พันล้านดอลล่าร์) ซึ่งแสดงว่ากะบ๊าบเป็นฟาสต์ฟูดที่ได้รับความนิยมมากในเยอรมัน ตามตัวเลขของ ATDID มีบริษัทที่ผลิตเนื้อสำหรับทำกะบ๊าบ 350 แห่งในเยอรมัน ซึ่งต้องใช้เนื้อวันละกว่า 400 ตัน ซึ่งบริษัทเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในเยอรมันมากที่สุดในทวีปยุโรป
กล่าวกันว่า ปัจจุบันกะบ๊าบเป็นที่นิยมเทียบเท่าอาหารว่างหลักของชาวเยอรมัน ซึ่งได้แก่ไส้กรอกโรยผงกระหรี่ หรือไส้กรอกแบบแฟรงเฟิร์ต ด้วยราคาชิ้นละประมาณ 2.50 ยูโร 4 ยูโร ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบที่ลูกค้าเลือก
อนึ่ง บริษัทรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์เยอรมัน ยังเห็นความสำคัญของอาหารชนิดนี้ โดยได้ไปเปิดเต็นท์โชว์รถในงานแฟร์ดังกล่าวด้วย www.muslimthaI.com
|