ผู้หญิงยังถูกกดค่าแรงในประเทศที่ร่ำรวย
ปารีส องค์กรความร่วมมือและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยรายงานเนื่องในวันสตรีสากล เมื่อวันจันทร์ ที่ 8 มีนาคมว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมควรดำเนินความพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องค่าแรงงานระหว่างหญิง-ชาย

ในรายงานระบุว่า แม้ในประเทศที่ร่ำรวย ผู้หญิงก็ยังถูกกดค่าแรง โดยเฉลี่ยได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณ 1 ใน 5 ในขณะที่ผู้หญิงต้องมีหน้าที่ในการดูแลครอบครัว และลูก นอกเหนือจากการเคียงบ่าเคียงไหล่ในการพยุงเศรษฐกิจของครอบครัว

Monika Queisser ประธานฝ่ายนโยบายสังคมของ OECD ระบุว่า นายจ้างมักเห็นว่า การที่ผู้หญิงต้องหยุดงาน หรือเอาเวลาที่ควรมาทุ่มเทให้กิจการไปดูแลครอบครัว เป็นข้อด้อยในการพิจารณาค่าแรง หรือเงินพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสผู้หญิงมากเท่าที่ควรในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง

รายงานดังกล่าวระบุว่า ช่องว่างระหว่างค่าแรงเห็นได้ชัดในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งผู้ชายจะได้ค่าแรงมากกว่าผู้หญิงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
จากการที่ผู้หญิงในเกือบทุกประเทศ มีภาระหน้าที่ในการดูแลเด็กๆ และญาติพี่-น้องมากกว่าผู้ชายเป็น 2 เท่า ทำให้ผู้หญิงไม่อาจขยายเวลาทำงานไปมากกว่าเดิมได้ ตัวเลขยังระบุว่า ร้อยละ 25 ของผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน ต้องปฏิเสธงานพิเศษนอกเวลา เพื่อหน้าที่ในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมีตัวเลขเพียงร้อยละ 6 ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงที่มีลูกต้องเลี้ยงดูจะต้องพยายามเลือกงาน ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ ในการเลี้ยงดูอนาคตของสังคมมากกว่าปกติ

ประเทศอื่นที่ช่องว่างระหว่างค่าแรงชาย-หญิงห่างกันอย่างน่าสังเกต ได้แก่ เยอรมัน แคนาดา และอังกฤษ ซึ่งมีตัวเลขความแตกต่างห่างกัน 20 เปอร์เซ็นต์ จากค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ระบุไว้ไม่เกิน 17.6 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่เบลเยี่ยม และนิวซีแลนด์ เป็น 2 ประเทศที่มีความต่างระหว่างค่าแรงชาย-หญิง น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจำนวนผู้หญิงที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 62 ในปี 2008 ในขณะที่ปี 1970 มีผู้หญิงทำงานนอกบ้านเพียงร้อยละ 45 คน
|