สิทธิที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงในประเทศมุสลิม
เบรุต สตรีหลายพันคนในเลบานอนกำลังต่อสู้เพื่อให้ลูก และสามีได้สัญชาติตามมารดา โดยตามกฎหมายปี 1925 ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยที่เลบานอนยังอยู่ในอาณัติของประเทศฝรั่งเศส ระบุว่าชายชาวเลบานอนที่แต่งงานกับหญิงต่างชาติเท่านั้น ที่จะมีสิทธิขอให้ภรรยาและลูกถือสัญชาติเลบานอนได้
จากข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้บางครอบครัวในเลบานอนมีสมาชิกจาก 2 สัญชาติ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ความยากลำบากตกแก่เด็ก โดยบางครั้งเด็กไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับเด็กที่มีพ่อ-แม่เป็นชาวเลบานอน บางกรณีเด็กเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อเข้าถึงบริการของรัฐ แต่บางครั้งเด็กถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง จากประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง
ตัวอย่างหนึ่งคือ ซามิร่า ซูอัยดาน วัย 48 ปี ซึ่งแต่งงานกับชาวอียิปต์ แต่ต้องดูแลลูก 4 คนหลังจากสามีตายไปแล้ว เธอร้องต่อศาลขอสัญชาติเลบานอนให้ลูก โดยใช้เวลาถึง 9 ปี ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาทนายเรียกเธอไปพบเพื่อแจ้งว่า ศาลได้ยอมตามคำร้องซึ่งทำให้เธอดีใจมาก โดยคิดว่าเธอจะได้เป็นผู้หญิงคนแรกในเลบานอนที่ได้รับสิทธิเช่นนี้

แต่ความหวังของเธอต้องมลายไปในพริบตา เมื่อมีการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลดังกล่าว ทุกปีซามีร่าต้องเสียเงินจำนวนมาก ไปกับการต่อใบอนุญาตอยู่อาศัยในประเทศให้กับลูกทั้ง 4 คน ในฐานะพนักงานทำความสะอาด ซึ่งเป็นงานที่เธอต้องทำเพื่อหาเลี้ยงลูกตั้งแต่ปี 1994 เธอต้องเก็บเงินไว้ให้มากพอสำหรับจ่ายเป็นค่าต่ออายุดังกล่าว มิฉะนั้นลูกของเธอจะถูกเนรเทศไปยังประเทศอียิปต์
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายขวา ร่วมกับองค์กรเพื่อสตรี ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเป็นร่างกฎหมายเสนอแก่รัฐสภา
กรณีเดียวกันเกิดขึ้นในอีก 3 ประเทศอาหรับ ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ และโมร๊อกโก ซึ่งการแก้ไขกฎหมายประสบความสำเร็จในไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กลุ่มที่ต่อต้านการเปลี่ยนกฎหมายในเลบานอนได้แก่กลุ่มคริสเตียน ซึ่งมีอยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศเลบานอน โดยมีการอ้างเหตุผลว่าจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในประชากรกลุ่มต่างๆ และมีความเกรงกันว่า จะทำให้ชาวปาเลสไตน์ที่แต่งงานกับผู้หญิงเลบานอนพลอยได้สัญชาติไปด้วย
ผู้พิพากษา John Qazzi ซึ่งเป็นผู้ที่พิพากษาให้ซามีร่าได้สิทธิถ่ายทอดสัญชาติแก่ลูกๆ ในศาลชั้นต้นระบุว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับสิทธิ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิง-ชายล้วนๆ ประเด็นเรื่องสัญชาติเป็นเพียงข้ออ้าง ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะในประเด็นใดๆ ผู้หญิงในเลบานอนก็จะตกเป็นผู้รับเคราะห์ทั้งสิ้น
|