มุสลิมไทยดอทคอม ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป ติงมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ www.muslimthai.com บรัสเซลส์ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป ติงมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ อาทิ การสุ่มเรียกคนที่เดินตามถนนเพื่อสอบถามและตรวจค้น ว่าเป็นการฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชน โดยให้หยุดใช้วิธีการดังกล่าวไว้ก่อน  ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป ติงมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ
สำนักข่าวเอเอฟพี.เผยแพร่แถลงการณ์ที่ลงนามโดยผู้พิพากษา 7 คน แห่งศาลสิทธิมนุษยชนในบรัสเซลส์ ซึ่งรวมทั้งเซอร์นิโคลัส บรัตซา จากประเทศอังกฤษ สรุปใจความว่า อำนาจในการใช้กฎหมายดังกล่าว ขัดต่อการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน โดยการเรียกสอบถามกระทำในที่สาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความอีดอัด เพราะหลายคนไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเขามีสิทธิที่จะกระทำได้
ศาลบอกปัดไม่รับฟังข้อโต้แย้งของทางการอังกฤษที่ว่า การสอบถามรายละเอียดต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับผู้เดินทาง หรือท่องเที่ยว ซึ่งต้องผ่านสนามบินต่างๆ และตามกฎหมายนี้ ทางการสามารถเรียกให้ใครก็ตามหยุดเพื่อตอบคำถาม ไม่ว่าที่ไหน โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และไม่มีทางให้เลือกเป็นอย่างอื่น
มีรายงานระบุว่า ในเดือนกันยายน ปี 2003 รัฐบาลอังกฤษต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวน 30,400 ปอนด์ ให้แก่เควิน กิลลาน และเพนนี ควินตั้น 2 ชาวอังกฤษที่นำเรื่องขึ้นร้องเรียนต่อศาล หลังจากถูกตำรวจเรียกให้หยุดเพื่อสอบถาม ก่อนเข้าไปชมงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ และในปีที่ผ่านมานี้เอง มีรายงานจากหน่วยสำรวจอิสระเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย ของลอร์ดคาร์ลิล แห่งเบอร์ริว เปิดเผยว่า ชาวอังกฤษถูกเรียกให้หยุดเพื่อสอบถาม เดือนละตั้งแต่ 8,000 ถึง 1 หมื่นคน แต่ในจำนวนนี้ไม่มีใครถูกดำเนินคดีต่างๆ
มุสลิมในอังกฤษได้รับผลร้ายจากกฎหมายนี้ไปเต็มๆ โดยถูกเรียกตัวสอบถามเพียงเพราะความเป็นมุสลิม โดยไม่มีมูลเหตุน่าสงสัยอื่นใด
ควินตั้นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายนี้ เธอให้เหตุผลว่า ควรมีความเคารพในความเป็นส่วนตัว ไม่ใช่อ้างกฎหมายด้านความปลอดภัยอย่างเดียว
คริส เกรย์ลิ่งค์ แห่งฝ่ายกิจการภายในประเทศกล่าวกับหนังสือพิมพ์อินดิเพนเด้นท์ เมื่อวันพุธที่ 13 มกราคมนี้ ว่า เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะหากนำกฎหมายที่ใช้ต่อต้านการก่อการร้ายออกมาใช้อย่างสะเปะสะปะ กฎหมายดังกล่าวก็จะเสื่อมความศักดิ์สิทธ์และน่าเชื่อถือ และอาจถึงกับไม่มีผลเมื่อต้องการนำมาใช้จริงๆ ในอนาคต
เขาถึงกับให้คำมั่นว่า จะพิจารณาลดบทบาทของฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ในบางภาคส่วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษยังคงตกลงใจที่จะอุทธรณ์คำตัดสินของศาลอียู. โดยหน่วยตำรวจนครหลวงได้ออกแถลงการณ์ว่า จะขอให้ศาลอนุมัติให้ใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ปี 2000 ในหมวดที่ 44 ต่อไป โดยจำกัดเขตการใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงลอนดอน
การอ้างกฎหมายหมวดดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเซอร์เอ็ดเวิร์ด เคลย์ นักการทูตวัยเกษียณอายุ ถูกตำรวจเรียกขอตรวจค้น ระหว่างเดินทางไปทำงานเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา - มุสลิมไทยดอทคอม
|