สำนักข่าวมุสลิมไทย จาการ์ต้า ชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคน ลงโฆษณาขายไตในเว็ปไซต์โฆษณา ซึ่งบางชิ้นหั่นราคาถูกสุด เพียง 50 ล้านรูเปียฮฺ (5,300 ดอลล่าร์) ต่อไต 1 ข้าง ท่ามกลางสิ่งของธรรมดาอื่นๆ ที่ลงโฆษณาขาย มีโฆษณาชิ้นหนึ่งใน klanoke เว็ปไซต์ ระบุว่า ชายวัย 16 ปี ต้องการขายไตข้างหนึ่งในราคา 350 ล้านรูเปียห์ หรือแลกกับรถโตโยต้า คัมรี่ 1 คัน และโฆษณาเหล่านี้ล้วนระบุข้อมูลที่แท้จริงโดยไม่อับอาย ทั้งชื่อ อาชีพ และสถานภาพ รวมทั้งหมายเลขสำหรับดิดต่อกลับ นอกจากนั้นยังมีการบรรยายสรรพคุณว่าเป็นไตที่ดีเลิศ เนื่องจากเจ้าของปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือเสพยา เป็นต้น 
หลายคนที่ลงโฆษณากล่าวว่า มีปัญหาเรื่องหนี้สินของครอบครัว รวมทั้งสินเชื่อของธนาคารที่ค้างชำระ อีลิซ่า วัย 18 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกาศขายไตที่เปิดเผยว่า ครอบครัวของเธอมีหนี้สินหลายหมื่นดอลล่าร์ เนื่องจากกิจการร้านค้าของบิดาล้มเหลว และบ้านถูกไฟไหม้ ทำให้ต้องมาอาศัยบ้านยายอยู่ ขณะนี้แม่ต้องไปทำงานเป็นแม่ครัว และพ่อช่วยงานในร้านชำของลุง ซึ่งเงินเดือนของทั้งคู่ไม่พอเลี้ยงลูก 4 คน รวมทั้งจ่ายค่าเล่าเรียน ทำให้อีลิซ่าซึ่งเป็นพี่คนโตตัดสินใจประกาศขายไต และได้ปฏิเสธผู้ซื้อที่เป็นคนชาติเดียวกันไปแล้ว 2 ราย เนื่องจากไม่ได้ราคาตามที่ตั้งไว้ (800 ล้านรูเปียห์) อีกกรณีหนึ่งคือแอนดี้ กราฟฟิค ดิไซเนอร์ วัย 22 ปี ซึ่งเล่าว่ามีชาวจีน และชาวยุโรป ติดต่อกลับมาเพราะสนใจโฆษณาของเขา และให้ราคา 200 ล้านรูเปียห์ ซึ่งมากกว่าที่เขาตั้งไว้ 4 เท่า แอนดี้เปิดเผยว่า ผู้ซื้อต้องการใบใบรับรองแพทย์ และถามว่าเขายินดีไปผ่าตัดที่ต่างประเทศหรือไม่ แต่หลังจากโต้ตอบกันทางอีเมล์ได้พักหนึ่งก็หายเงียบไป แอนดี้บอกว่าต้องการเงินสักก้อน เพื่อตอบแทนผู้ที่อุปถัมภ์เขามาเหมือนเป็นลูกแท้ๆ การขายอวัยวะในอินโดนีเซียเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และปรับเงินไม่เกิน 300 ล้านรูเปียห์ แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ทางการปล่อยปละละเลยในการตรวจสอบเว็ปไซต์ และกฎหมายก็ยังไม่รัดกุมพอ จึงยากต่อการบังคับใช้ อานัส ยูซุฟ หัวหน้าหน่วยตำรวจสากลอินโดนีเซียกล่าวว่า กฎหมายด้านสาธารณสุขระบุว่าการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถกระทำได้โดยเหตุผลเพื่อมนุษยธรรม แต่ไม่ได้มีการให้คำจำกัดความที่ชัดเจน จึงทำให้ยากแก่การพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม มีความขัดแย้งกันระหว่างข้อมูล 2 ด้าน โดยหน่วยตำรวจสากลระบุว่า ได้รับรู้การขายไตหลายรายในอินโดนีเซีย แต่แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกล่าวว่า ไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ ยูซุฟยังกล่าวว่า การตกลงซื้อ-ขายอวัยวะเป็นไปในทางลับ และส่วนมากมักไปผ่าตัดนอกประเทศ ทำให้ยากแก่การฟ้องร้อง ส.ส.อินโดนีเซียกล่าวว่า การซื้อ-ขายอวัยวะมักมีกลุ่มมาเฟียคอยควบคุม โดยจะเข้าไปเจรจาชักชวนผู้มีฐานะยากจนในพื้นที่ห่างไกลให้ยอมขายไต และเขาคิดว่าพวกมาเฟียนี้เองที่โพสต์โฆษณาลงเว็ปไซต์ วิธีที่จะช่วยลดกิจกรรมที่ผิดกฎหมายนี้ได้ คือการให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงความเสี่ยงในการปลูกถ่ายอวัยวะ และต้องคอยสอดส่องควบคุมเว็ปไซต์โฆษณาต่างๆ แต่การแก้ปัญหาที่กล่าวมาอาจจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะหากปราศจากหนี้สิน และความยากจนแล้วไซร้ ก็คงไม่ต้องประกาศขายอวัยวะเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัว และทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต - www.muslimthai.com |