เจดดะฮฺ เชค อะฮฺมัด บิน กัสซิม อัล-ฆัมดี ประธานคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมศีลธรรม และปกป้องความเสื่อมทราม แห่งมักกะฮฺ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ โอกัสของประเทศซาอุดี้ อาระเบีย ว่า การปะปนกันระหว่างหญิง-ชาย ในอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยเฉพาะในชีวิตประจำวันตามปกติ และเขาไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีผู้ที่ต่อต้านอย่างแข็งกร้าว ในการริเริ่มเปิดการศึกษาแบบสหศึกษา ในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีคิง อับดุลเลาะฮฺ (KAUST) ทั้งๆ ที่ผู้ที่ต่อต้านเหล่านั้น ก็ยังใช้ชีวิตปกติธรรมดาในสังคมที่มีการปะปนระหว่างหญิง-ชาย เช่น การมีคนรับใช้หญิงอยู่ในบ้าน เป็นต้น เชค อัล-ฆัมดี ยังเสริมอีกว่า มีเพียงอุละมะอฺส่วนน้อยเท่านั้น ที่ห้ามการปะปนระหว่างหญิง-ชายอย่างเด็ดขาด โดยมีหลักฐานอ่อนในเรื่องนี้ และยังนำพาให้หลงออกห่างจากความเป็นจริงในสมัยของท่านศาสดา (ศอลฯ) อีกด้วย ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่มีการแบ่งแยกสังคมระหว่างหญิง-ชายในสมัยท่านศาสดา (ศอลฯ) รวมทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่าซอฮาบะฮฺ ซึ่งเป็นสาวก และสหายสนิทของท่านศาสดา (ศอลฯ) 
นอกจากนั้น เขายังแย้งว่า ในกฎหมายอิสลามไม่ได้ปรากฏคำว่า mixing (ปะปน รวมกัน ผสม) และยังกล่าวว่า ในชาริอะฮฺไม่ได้มีการห้ามหญิง-ชาย ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ในการทำงาน เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตในสังคมร่วมกัน ไม่เหมือนในเรื่องอื่นๆ ที่ชาริอะฮฺกำหนดอย่างชัดเจน เช่น ในเรื่องการหย่า การค้าขาย หรือข้อกำหนดในสงคราม ซึ่งเป็นไปได้ว่า การห้ามมิให้มีการปะปนกันระหว่างหญิง-ชาย อาจเป็นการขยายความจากการต้องห้ามที่กำหนดเฉพาะ ทั้งๆ ที่ในชีวิตประจำวันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นสิ่งอันตรายในการเชื่อมโยงการห้ามปะปนระหว่างหญิง-ชาย กับมิติทางวิทยาศาสตร์ของกฎหมายชาริอะฮฺ ซึงจะทำให้กฎหมายอิสลามถูกมองในด้านลบ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นมรดกอันเลอเลิศของอิสลาม ในประเทศซาอุดี้ อาระเบีย มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสังคมหญิง-ชาย รวมทั้งมีการแยกทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และแม้แต่ในภัตตาคาร ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ซึ่งจัดพื้นที่ให้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
|