เจนีวา ผลประชามติในสวิส ฯ ก่อให้เกิดความผิดหวัง และโกรธเคืองไปทั่วโลก บาบาคาร์ บา ทูตเจนีวาประจำโอไอซี.กล่าวกับ สวิสอินโฟ เมื่อวันจันทร์ (30/11) ว่ารู้สึกประหลาดใจและผิดหวังอย่างมากเมื่อได้ทราบผลนี้ และถึงกับเกรงว่า เรื่องนี้จะเป็นที่ยินดีของกลุ่มหัวรุนแรง เนื่องจากสามารถนำไปใช้หาประโยชน์ได้ และมุสลิมต้องตื่นตัวให้มากขึ้น เพื่อตั้งรับกับกระแสการเกลียดกลัวอิสลามที่ซ่อนอยู่ 
อิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือเป็นอันดับ 2 ในประเทศสวิส ฯ โดยมีมุสลิมประมาณ 400,000 คน ในสวิสมีมัสยิด และสถานที่นมาซประมาณ 160 แห่ง แต่ส่วนมากเป็นการนำโรงงานหรือโกดังเก่า มาดังแปลงเป็นที่ชุมนุมประกอบศาสนกิจ ทั่วประเทศมีมัสยิดที่มีหออะซาน 4 แห่ง ซึ่งไม่เคยได้ใช้ในการประกาศเชิญชวนให้เป็นที่รบกวนชาวบ้าน มุฟตีอาลี โกมาอฺ แห่งอียิปต์ให้ความเห็นว่า ผลที่ปรากฏออกมาเช่นนี้แสดงว่า มุสลิมสวิสได้ละเลยที่จะให้ความใส่ใจต่อความเป็นจริง และประเมินความกลัวที่ซ่อนอยู่ในสังคมสวิสต่ำเกินไป สิ่งแรกที่จะต้องแก้ไขโดยด่วน คือการเร่งสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย และส่งเสริมความสมานฉันท์ ซึ่งทางองค์กรในอียิปต์พร้อมเสมอที่จะร่วมมือในการช่วยเหลือ จาเบอร์ อัล-อาลาวานี นักคิดมุสลิมและผู้อำนวยการสถาบันคอร์โดบา ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ความเกลียดกลัวอิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วในยุโรป และมีการกระตุ้นให้เพิ่มขึ้นโดยกลุ่มขวาจัดในประเทศต่างๆ ซึ่งกล่าวอ้างว่าต้องการปกป้องเอกลักษณ์ของสังคมชาวคริสต์ในยุโรป ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่อาจให้คำจำกัดความได้ว่า เอกลักษณ์เช่นที่ว่านั้นคืออย่างไร ในเรื่องนี้ สภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม ออกมาแสดงความกังวลในเรื่องสิทธิของมุสลิมที่จะประกอบศาสนกิจ นิฮาด อาว๊าด ผู้อำนวยการ CAIR ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ให้หาโอกาสแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลการโหวตนี้ โดยเขาแนะนำว่า หากอเมริกายังสงบปากสงบคำในประเด็นที่กำลังร้อนแรงนี้ จะทำให้ดูเหมือนสนับสนุน และจะทำให้ถูกมองในด้านลบจากโลกมุสลิม อย่างไรก็ดี มีการเตือนจากผู้นำอิสลามในหลายประเทศว่าให้มุสลิมอยู่ในความสงบ และพิจารณาหามาตรการในการตอบโต้ การกระทำที่ขาดการไตร่ตรอง อาจกลายเป็นผลดีในทางการเมืองแก่ฝ่ายตรงข้าม มิสเฟอร์ อัล-คาฮฺตานี นักคิดชาวซาอุดี้ เรียกร้องให้มุสลิมในตะวันตกเร่งสร้างความเข้าใจอันดีต่อศาสนิกอื่น ความท้าทายคือ การยอมรับในการตัดสินใจของสังคมหลัก แต่ต้องหันกลับมาพยายามลบล้างความคิดเก่าๆ ออกจากสมองของผู้มุ่งร้าย โดยการสร้างแบบอย่างที่ดี และผสานความคิด และคุณค่าแห่งอารยธรรมอิสลามเข้าสู่สังคมสวิส ฯ
นักกฎหมายออกมาตั้งคำถามหลังจากทราบผลประชามติ ว่าการห้ามสร้างหออะซานดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสวิส และกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติหรือไม่ ขณะนี้การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ทั้งในประเทศสวิสเอง และทั่วโลก กำลังกระหึ่มด้วยการประณามว่า เป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพในประเทศ รวมทั้งผิดแบบอย่างการปกครองแบบแยกศาสนาออกจากการเมือง รัฐมนตรียุติธรรม เอเวอลีน วิดเมอร์-ชลัมฟ์ กล่าวว่า มติดังกล่าวจะต้องนำไปบรรจุในกฎหมาย แต่มีข้อแนะนำว่า สามารถคว่ำมตินี้ได้ เนื่องจากการห้ามนี้อาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ของสภาแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งได้เป็นผู้ควบคุมศาล ฯ ในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถตัดสินเมื่อมีผู้พยายามละเมิด รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เบอร์นาร์ด คุชเน่อร์ กล่าวในรายการวิทยุ RTLว่า เขารู้สึกอัปยศอดสู เพราะมตินี้เท่ากับเป็นการกดขี่ทางด้านศาสนา และเป็นการแสดงความไม่มีน้ำใจ อัสมา จาฮังกีร์ เจ้าหน้าที่พิเศษดูแลด้านเสรีภาพทางศาสนา ของสหประชาชาติ กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงออกอย่างชัดแจ้งถึงอคติ และการเลือกปฏิบัติ แดเนียล วอร์เนอร์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน-สวิส กล่าวว่า ต่อไปนี้ประเทศสวิสคงต้องลำบากขึ้นในการอธิบายต่อโลกอิสลาม เพราะความเป็นประเทศที่ใจกว้าง และสนับสนุนพหุวัฒนธรรม ได้เลือนหายไปแล้วเพราะมติดังกล่าว เขาคิดว่าต่อไปเศรษฐีอาหรับคงจะต้องคิดหนัก หากจะพิจารณาถึงสถานที่ท่องเที่ยวครั้งต่อไป รวมทั้งความเป็นกลางของสวิส ฯ ในปัญหาตะวันออกกลางควรจะต้องถูกทบทวนด้วย อะยาตอลเลาะฮฺมุฮัมมัด ฮุสเซน ฟัดดิลละฮฺ มุฟตีใหญ่แห่งชีอะฮฺเลบานอน กล่าวว่า มติดังกล่าวได้เพิ่มความกดดันแก่ปัญหาระหว่างศาสนา และเพิ่มความสงสัยในเสรีภาพด้านศรัทธาของมุสลิมในตะวันตก ชาวสวิส ฯ ในเมือง Anto Seil ที่โหวตสนับสนุนการห้ามสร้างหออะซานกล่าวว่า ถ้าเขาไปอยู่ในประเทศอื่นๆ เขาก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับประเทศนั้น เปรียบเทียบกับมุสลิมเมื่อเข้ามาในประเทศสวิส ฯ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมให้ได้เช่นกัน - www.muslimthai.com |