มุสลิมไทยดอทคอม www.muslimthai.com อับดุลเลาะ หวังนิ / แวดาโอ๊ะ หะไร โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา วันแรกของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1430 ที่ชายแดนใต้คึกคัก พี่น้องชาวไทยมุสลิมแห่ซื้ออาหารละศีลอดแน่นขนัด ถนนหลายสายแปรสภาพเป็นตลาดนัด
โดยเฉพาะย่านขึ้นชื่ออย่าง จะบังติกอ กลางเมืองปัตตานี ส่วนอำเภอชายแดนอย่างตากใบ สุไหงโก-ลก มุสลิมมาเลย์ข้ามฝั่งจับจ่ายทั้งอาหารคาวหวานและน้ำตาล กรมการค้าภายในขอความร่วมมืออย่ากักตุนสินค้าหรือขายของเกินราคา  รอมฏอนที่ปัตตานีคึกคัก
ภายหลังจากที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้วันแรกของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1430 ตรงกับวันที่ 22 ส.ค.2552 ปรากฏว่าตั้งแต่เช้าตรู่ พี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เริ่มประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเข้าสู่การ ถือศีลอด หรือ ปอซอ เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้บรรยากาศทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างเงียบเหงา ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเก็บตัวอยู่กันแต่ในบ้าน กระทั่งบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงช่วงแดดร่มลมตก บรรยากาศจึงเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากพี่น้องชาวมุสลิมได้ออกมาจับจ่ายซื้ออาหารกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมไว้ละศีลอด หรือเปิดปอซอในช่วงที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทำให้ตามตลาดและย่านการค้าทุกแห่งมีพ่อค้าแม่ขายนำอาหารคาวหวานมาตั้งจำหน่ายจนแน่นขนัด ช่วงเดือนรอมฎอนนี้ ถนนหลายสายและตามตรอกซอกซอยจะมีแม่ค้านำอาหารมาวางขายตามฟุตบาท จนกลายเป็นตลาดนัดอาหารไปโดยปริยาย เช่น ย่านจะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งนับเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง ยิ่งช่วงใกล้เวลาละศีลอด ยิ่งมีผู้คนมากมายมาเบียดเสียดกันซื้ออาหาร เป็นอย่างนี้ทุกวันตลอดเดือนรอมฎอน และหลังจากละศีลอด หรือเปิดปอซอในแต่ละวันแล้ว ประชาชนที่นับถืออิสลามก็จะพร้อมใจกันไปละหมาดตะรอเวียฮฺ ซึ่งเป็นการละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนรอมฎอน (กิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺ) ด้วยความศรัทธา  อาหารในเทศกาลรอมฏอน ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ จ.นราธิวาส จากการตระเวนตรวจสอบตามตลาดสดใหญ่ๆ ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด ปรากฏว่ามีพี่น้องชาวไทยมุสลิมออกมาจับจ่ายหาซื้ออาหารสด อาหารสำเร็จรูป และขนมหวานกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะตลาดสดในเขตพื้นที่ติดต่อกับชายแดนมาเลเซีย เช่น อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.แว้ง จะมีชาวมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลามนิยมข้ามพรมแดนเข้ามาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดฝั่งไทย ทำให้บรรยากาศคึกคักมากเป็นพิเศษ
อาหารที่ขายดีมักจะเป็นอาหารทะเล ขนมหวาน และอินทผลัมเชื่อม จากการสอบถามพ่อค้าแม่ขาย ทำให้ทราบว่า สาเหตุที่ชาวมาเลย์แห่มาซื้อของฝั่งไทย เพราะราคาถูกกว่าฝั่งโน้นมาก ความคึกคักดังกล่าวทำให้สภาพเศรษฐกิจดูพลิกฟื้นจากความซบเซาได้พอสมควร นายชินพล ดิตถวิโรจน์ เจ้าหน้าที่การค้าภายในจังหวัดนราธิวาส ได้ขอความร่วมมือร้านจำหน่ายสินค้าไม่ให้มีการกักตุนสินค้า หรือจำหน่ายสินค้าเกินราคา โดยเฉพาะน้ำตาลที่มีความต้องการมากเป็นพิเศษในระยะนี้ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายความมั่นคง ได้มีการจัดกำลังออกลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจจุดสกัดอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลอบก่อเหตุร้ายในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด |