สำนักข่าวมุสลิมไทย ศาลยกฟ้อง กรณีพิเชษฐ ฟ้องเลขาสุรินทร์ และพวกฐานซ่องโจร
เมื่อเช้าวันที่ 28 เมษายน 2554 ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง กรณีพิเชษฐ์ สถิรวาล ฟ้อง "สุรินทร์ ปาราเร่" เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนใหม่ ข้อหา ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
แหล่งข่าวแจ้งว่า กรณีนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้อง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการ ในข้อกล่าวหา หรือ ฐานความผิด ปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 31 มกราคม 2554
 ภาพ พิเชษฐ สถิรชวาล

สรุปข้อเท็จจริงคดีนายพิเชษฐ สถิรชวาล ฟ้อง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ข้อหา ปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม
คำฟ้อง
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เป็นจำเลย ข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ตามคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒๔/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ จำเลยได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา จำเลยได้มีหนังสือที่ สกอท.๐๓.๑๓๒/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๓ เรื่องเชิญประชุม ส่งมายังโจทก์ และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทั้งประเทศ โดยบทบัญญัติของกฎหมายและข้อบังคับตามข้อ ๑ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานการประชุมมีอำนาจลงนามในหนังสือเชิญประชุม
การที่จำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นเลขาธิการได้ออกหนังสือเชิญประชุม และลงชื่อในหนังสือเชิญประชุมส่งให้แก่คณะกรรมการกลางฯ อ้างว่าตนมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือเชิญประชุม การกระทำของจำเลยเป็นการปลอมตนว่าเป็นผู้มีอำนาจลงนามในตำแหน่งเลขาธิการ หนังสือเชิญประชุมดังกล่าวจึงไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง เพราะไม่ได้ลงนามโดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริง จึงถือได้ว่าเป็นเอกสารปลอม แล้วจำเลยได้นำเอกสารที่ปลอมนั้นส่งให้แก่โจทก์จึงเป็นความผิดใช้เอกสารปลอมด้วย เหตุเกิดที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ และบ้านเลขที่ ๒๐๘/๖ ซอยเทพไพเราะ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลลำหิน เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แต่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง

ภาพโดมทอง คลองเก้า
ข้อเท็จจริง ๑. วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๙ นายพิเชษฐฯ ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙
๒. ระหว่างที่นายพิเชษฐฯ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ นายพิเชษฐฯ และตัวแทนได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานของคณะกรรมการกลาง โดยการ ถอดถอน เปลี่ยนแปลง กรรมการกลางบางคนหลายครั้ง ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกลางฯ หลายครั้ง
๓. วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯ กรรมการฯได้เสนอวาระเร่งด่วน พิจารณาปรับโครงสร้างการบริหารคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประธานในที่ประชุมได้ขอมติที่ประชุมสมควรนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาหรือไม่ ที่ประชุมมีมติให้นำวาระเร่งด่วนดังกล่าวเข้าพิจารณา และที่ประชุมมติเห็นชอบให้ยกเลิกตำแหน่งการบริหารองค์กรคณะกรรมการกลางฯ ทุกตำแหน่ง ยกเว้นประธานคณะกรรมการกลางฯ และเห็นชอบตามรายชื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ (พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ)
๔. ภายหลังจากที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ฯ ได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ พล.ต.ต.สุรินทร์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งและออกหนังสือเชิญประชุมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
๕. ตำแหน่งเลขาธิการ เป็นตำแหน่งที่พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ได้บัญญัติในมาตรา ๑๖ วรรคท้าย “ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นรองประธานกรรมการฯ เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น” ตำแหน่งตามมาตรา ๑๖ วรรคท้าย เป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ และกฎหมายไม่ได้บัญญัติในเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง
ทางพิจารณาคดี นายพิเชษฐฯ ได้นำพยานเข้าเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำนวน ๒ ปาก คือ นายพิเชษฐ สถิรชวาล และนายไพศาล พรหมยงค์ ได้เบิกความในทำนองเดียวกันว่า
๑. ตามมาตรา ๑๙ (พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม) บัญญัติให้คณะกรรมการกลางมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งไว้เป็นพิเศษ ดังนั้นคณะกรรมการกลางฯ และตัวข้าฯ (นายพิเชษฐ) ซึ่งเป็นเลขาธิการต้องดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ๖ ปี หรือไม่ก็ลาออก จึงจะพ้นจากตำแหน่ง
๒. การพิจารณาและมีมติปรับโครงสร้างไม่มีผลให้ข้าฯ (นายพิเชษฐ) พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ เพราะข้าฯ (นายพิเชษฐ) ยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอีกปีเศษ ปัจจุบันต้องถือว่าข้าฯ (นายพิเชษฐ) ยังเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ ตามกฎหมายอยู่
๓. ข้าฯ (นายพิเชษฐ) ยังได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เรื่องที่จำเลยปลอมเอกสาร
๔. จากการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ได้ความว่าวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯ กรรมการฯได้เสนอวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างการบริหารคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประธานในที่ประชุมได้ขอมติที่ประชุมสมควรนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาหรือไม่ ที่ประชุมมีมติให้นำวาระเร่งด่วนดังกล่าวเข้าพิจารณา และที่ประชุมมติเห็นชอบให้ยกเลิกตำแหน่งการบริหารองค์กรคณะกรรมการกลางฯ ทุกตำแหน่ง ยกเว้นประธานคณะกรรมการกลางฯ และเห็นชอบตามรายชื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ นายไพศาล พรหมยงค์ พยานโจทก์ยอมรับตามบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว
๕. นายไพศาลฯ ตอบทนายจำเลยถามค้านตอนหนึ่งว่า ตามรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อความว่า นายพิเชษฐฯ ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า “ในฐานะเลขาธิการน้อมปฏิบัติตามท่านประธานคณะกรรมการกลางฯ จึงขอให้ที่ประชุมให้คณะกรรมการชุดนี้บริหารสักสองเดือนได้หรือไม่ เมื่อครบก็พร้อมที่จะให้ท่านจุฬาราชมนตรีปรับโครงสร้างก็ไม่ขัดข้อง”
๖. นายไพศาลฯ ตอบทนายจำเลยถามค้านตอนหนึ่งว่า ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ไม่ทราบว่านายพิเชษฐฯ ได้ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวหรือ แต่ทราบว่ามีการดำเนินคดีอาญา และร้องที่ ปปช.
๗. เมื่อไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ได้ ๒ ปาก โจทก์ขอเลื่อนคดีเพื่อนำนายอดิศักดิ์ อัสมิมานะ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประชุเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๓ ศาลเห็นว่า การเลื่อนคดีเพื่อไต่สวนพยานนายอดิศักดิ์ฯ ก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนขึ้น ข้อเท็จจริงที่ได้ในวันนี้เพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จึงให้งดการไต่สวน คดีเสร็จการพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ให้รอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันนี้ (วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔)
คำพิพากษา บันทึกคำพิพากษาด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๑
โจทก์ฟ้องว่า (ตามฟ้อง)
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ตามหนังสือเชิญประชุมเอกสารหมาย จ.๖ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามมติที่ประชุมเอกสารหมาย จ.๑๑ ดังนั้นไม่ว่ามติที่ประชุมดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามติที่ประชุมดังกล่าวได้ถูกเพิกถอนแล้วหรือไม่ในขณะที่จำเลยทำหนังสือเชิญประชุมเอกสารหมาย จ.๖ ดังนั้นการที่จำเลยลงลายมือชื่อในตำแหน่งเลขาธิการกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในเอกสารหมาย จ.๖ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมหรือใช้เอกสารปลอมตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง – www.muslimthai.com |