สำนักข่าวมุสลิมไทย ละครน้ำเน่าตุรกีบุกอาหรับ ผู้หญิงติดกันงอมแงม
สำนักข่าวอัล-อาราบิญา - ขณะนี้ดูเหมือนหนังโทรทัศน์ประเภทนิยายประโลมโลกย์จากประเทศตุรกี กำลังเข้าไปตีตลาดในหลายประเทศอาหรับ จนทำให้ผู้ดูโทรทัศน์อาหรับติดกันงอมแงม

สิ่งที่แตกต่างก็คือ หนังโทรทัศน์ของตุรกีปรากฏสิ่งต้องห้ามหลายประการที่ไม่เคยมีในหนังอาหรับ อาทิ แอลกอฮอล์ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และ การทำแท้ง
ผู้ชมจากอิรักคนหนึ่งบ่นว่าเบื่อหนังอาหรับ เพราะเนื้อเรื่องซ้ำซากที่มักจะเกี่ยวกับความรุนแรง และสอนศีลธรรม ชี้ถูก-ผิดในชีวิต แต่หนังจากตุรกีจะเน้นความรู้สึก ความขัดแย้งทางจิตใจ ของความรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเค้าโครงแบบอย่างหนังตะวันตก ที่แต่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมประเพณี และภูมิหลังของมุสลิม
ยกตัวอย่างหนังโทรทัศน์เรื่อง Noor (ชื่อเดิมในตุรกี Gumus) ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแรกที่มีการพากย์ภาษาอาหรับ เป็นเรื่องของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่พลิกผันจากความยากจนไปสู่ความร่ำรวย โดยการได้แต่งงานกับเศรษฐี และในที่สุดก็ถูกทอดทิ้งเพราะสามีมีผู้หญิงอื่น
หนังสือพิมพ์ Hurriyet ของตุรกีรายงานว่า คนอาหรับอายุเกิน 15 ปี เป็นแฟนละครเรื่องนี้กว่า 85 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 50 ล้านคนเป็นผู้หญิง ซึ่งจำนวนนี้เทียบเท่ากับกว่าครึ่งของผู้หญิงอาหรับ ที่เป็นแฟนละครน้ำเน่าอาหรับใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
Sengul Ozerkan อาจารย์สอนด้านโทรทัศน์ และนักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมในอิสตันบูลกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตกใจ เพราะตลอดมาตุรกีเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างตะวันตก กับตะวันออกกลาง
แต่อุละมะอฺซาอุดี้ ชี้คซอและฮฺ อัล-ลุฮัยดาน แสดงความเห็นต่อต้านละครน้ำเน่าตุรกีเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า เนื้อหาของละครตรงข้ามกับธรรมชาติของความเป็นมุสลิม และเป็นตัวแทนของประชาชนในสังคมแบบปฏิเสธศาสนาของตุรกี
แต่ Enas Mohammed คนเขียนบททำงานในกรุงลอนดอนกล่าวว่า ปัจจุบันหนังอียิปต์ก็เริ่มที่จะมีเนื้อหาเปลี่ยนไป กล้าแสดงออกมากขึ้น และเข้าไปแตะต้องในเรื่องต้องห้ามมากกว่าเดิม
ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ 22 ประเทศสั่งหนังโทรทัศน์ตุรกีเข้ามาฉาย ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ Hurriyet แสดงว่า ตุรกีเริ่มส่งออกหนังโทรทัศน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และประเทศอาหรับซื้อหนังตุรกีเป็นมูลค่า 3 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ประเทศที่ซื้อมากที่สุดคือ กรีซ และบราซิล - www.muslimthai.com |