สำนักข่าวมุสลิมไทย หลายฝ่ายเกรงภราดรภาพมุสลิมแผ่อิทธิพลแนวคิดประชาชน
สำนักข่าวเอเอฟพี., อัล-อาราบิญา – กิจกรรมด้านประชาธิปไตยของประชาชนชาวอียิปต์ในรอบหลายสิบปีนับว่าประสบความสำเร็จ โดยมีผู้มาลงประชามติจำนวนมาก แต่มีความกริ่งเกรงกันว่า กลุ่มนิยมอิสลามจะได้รับประโยชน์จากการลงมติครั้งนี้มากกว่ากลุ่มอื่นในบางด้าน

ผลการลงมติที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (21/03) ปรากฏว่า ร้อยละ 77 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และส.ส.ภายใน 6 เดือนข้างหน้า
โดยจะเห็นว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมมีอิทธิพลในกลุ่มระดับรากหญ้า ซึ่งลงคะแนนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่กลุ่มหนุ่ม/สาวที่เป็นหัวหอกในการลุกฮือขึ้นขับไล่อดีตประธานาธิบดีมุบารัก ลงมติไม่เห็นด้วย โดยข้อแย้งคือ กำหนดเวลาที่ฝ่ายกองทัพตั้งขึ้นกระชั้นเกินไป ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเครือข่ายองค์กรระดับล่างได้ ซึ่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะได้เปรียบกว่า และอีกประการหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญค่อนข้างจำกัดและไม่ครอบคลุม
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อัล-อะฮฺรอม กล่าวว่า การลงประชามติเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร ทุกคนก็ได้ชัยชนะในฐานะที่เป็นเสียงที่มาจากประชาชนที่แท้จริง
กลุ่มหนุ่ม-สาวสมานฉันท์เพื่อการปฏิวัติ กล่าวให้กำลังใจแก่สมาชิกว่า ไม่ควรรู้สึกว่าเป็นการพ่ายแพ้ แต่ควรให้ความเคารพในผลของประชามติ และเร่งเตรียมตัวในการทำงานขั้นต่อไป
แต่สมาชิกกลุ่มหนุ่ม-สาวหลายคนไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ สุลัยมาน ฆูดา เขียนในหนังสือพิมพ์อัล-มัสรี อัล-ญูม ว่า ถึงแม้ว่าการลงคะแนนครั้งนี้จะบริสุทธิ์ แต่ก็เห็นได้ว่า มีอิทธิพลทางความคิดบางอย่างแฝงอยู่ โดยเฉพาะแนวคิดของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และแนวโน้มด้านศาสนานิยมทั่วๆ ไป โดยมีการกล่าวหาว่า มัสยิดเป็นสถานที่ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้
คอลัมนิสต์ ซาลาม อะฮฺหมัด ซาลามา เขียนในหนังสือพิมพ์ อัล-ชูรูก ว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รณรงค์ปลูกฝังแนวคิดให้แก่ชาวบ้านว่า เป็นหน้าที่ตามศาสนาที่จะต้องลงคะแนน “เห็นด้วย” ในขณะที่บางคนกล่าวว่าลงคะแนนเห็นด้วยเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา
ฆูดา เน้นว่า กองทัพต้องดูให้ดีก่อนจะมอบอำนาจให้กับใคร เพราะประธานาธิบดีต้องมาจากบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้ง และต้องเป็นผู้ปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่ใช่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม
ชาวอียิปต์กว่า 14 ล้านคน ลงมติเห็นด้วย ในขณะที่ประมาณ 4 ล้านลงมติไม่เห็นด้วยในการลงประชามติที่ผ่านมา ถึงแม้จะเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด แต่นักวิจารณ์แย้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมายังคงมีเค้าของการปกครองระบอบมุบารัก และจะให้ดีก็ควรยกเครื่องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ - www.muslimthai.com |