สำนักข่าวมุสลิมไทย ข้อตกลงใหม่ด้านพรมแดนคูเวต-อิรัก
สำนักข่าวตะวันออกกลาง – หนังสือพิมพ์รายวัน Al-Seyassah อ้างคำกล่าวของ จัสเซ็ม อัล-มุบารากี รัฐมนตรีคูเวต ซึ่งดูแลด้านต่างประเทศในส่วนโลกอาหรับ ว่า อิรัก และคูเวต ได้ตกลงเงื่อนไขในการสร้างแนวกันชนระหว่างประเทศ โดยทั้ง 2 ประเทศต้องร่นเขตชายแดนเข้าไปฝั่งละ 500 เมตร และต้องทำให้เป็นเขตปลอดบ้านเรือนและประชาชน โดยมีแต่ทหารรักษาชายแดนเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหวในแนวเขตนี้

เกษตรกรชาวอิรักจำนวน 50 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ชิดชายแดนจะต้องย้ายลึกเข้าไปอยู่ในเขตอิรัก โดยคูเวตจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านใหม่ให้
3 ปีหลังจากอิรักบุกคูเวตในปี 1990 สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านข้อตกลงลำดับที่ 833 ในการปักปันเขตแดนระหว่างอิรัก กับคูเวต โดยคูเวตได้เขตแดนเพิ่มจากพื้นที่ที่เดิมเป็นของอิรัก
ในปี 2006 ทั้ง 2 ประเทศลงนามในข้อตกลงลักษณะเดียวกัน หลังจากเกษตรกรอิรักยุติการสร้างท่อส่งน้ำความยาว 200 กิโลเมตร ซึ่งคูเวตได้แย้งว่ารุกล้ำเข้ามาในดินแดน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คูเวตจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกตรกรอิรัก โดยจะนำเงินไปวางที่สหประชาชาติ แต่ข้อตกลงนี้ยังไม่มีการดำเนินการต่อ
คูเวตยังเรียกร้องให้มีการตกลงปักปันเขตแดนทางทะเล โดยรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันคูเวตกล่าวว่า ได้มีการตกลงกันในหลักการกว้างๆ สำหรับการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำมันในทะเลซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันมาช้านาน คือบ่อน้ำมันรูมัยล่า ในเขตน่านน้ำของอิรัก ซึ่งต่อเนื่องอยู่กับบ่อริตก้า ในเขตคูเวต
หลังจากซัดดัม ฮุสเซน สั่งบุกคูเวต สหประชาชาติได้มีมติคว่ำบาตรอิรักภายใต้มาตรา 7 ของข้อตกลง UN ซึ่งอิรักได้รณรงค์ให้หลุดพ้นจากบทลงโทษดังกล่าวมาช้านาน แต่คูเวตได้แสดงการต่อต้าน โดยแย้งว่า หากต้องการถูกปลดปล่อยจากพันธนาการ อิรักจะต้องทำข้อตกลงด้านชายแดนเสียใหม่ และต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการก่อสงครามเป็นจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลล่าร์ให้แก่คูเวตด้วย - www.muslimthai.com |