ถาม สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมีอะไรบ้าง?
ตอบ สิ่งที่ทำให้เสียศีลอดมี 7 ประการ คือ
1. กินและดื่ม โดยเจตนา
2. อาเจียรโดยเจตนา
3. มีเลือดประจำเดือน
4. มีเลือดอันเนื่องจากการคลอดบุตร
5. หลั่งอสุจิโดยเจตนา
6. สูบบุหรี่
7. สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม
ถาม ใส่ยาตา ทำให้เสียศีลอดไหม?
ตอบ การใส่ยาตา ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่ประการใด
ถาม การฉีดยา ทำให้เสียศีลอดไหม?
ตอบ การฉีดยา ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่ประการใด ไม่ว่าจะฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกล้ามเนื้อก็ตาม แต่ถ้าป่วยถึงกับต้องฉีดยา ศาสนาก็ผ่อนผันให้ไม่ต้องถือศีลอดในวันที่ป่วย แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ในเวลาที่หายป่วยแล้ว
ถาม แม่บ้านถามมาว่า เมื่อเราปรุงอาหารในเดือนรอมฎอนเพื่อนเตรียมละศีลอด เราจะชิมเพื่อให้รู้รสชาดอาหารได้ไหม?
ตอบ การชิมอาหาร โดยใช้ลิ้นแตะให้รู้รส แล้วบ้วนทิ้งไป โดยไม่กลืนเข้าไปในลำคอ ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่อย่างใด
ถาม หากคนหนึ่งคันหู จำเป็นจะต้องแคะหู ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ การแคะหู ไม่ทำให้เสียศีลอดแต่ประการใด
ถาม คนที่ไม่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน โดยไม่มีข้อผ่อนผันตามหลักศาสนา ศาสนามีข้อชี้ขาดว่าอย่างไร?
ตอบ การถือศีลอด เป็นหลักการหนึ่งของหลักการอิสลาม 5 ประการ คนที่ปฏิบัติตาม เรียกว่า "มุสลิม" ส่วนคนที่ไม่ปฏิบัติตามโดยปฏิเสธ เรียกตรงกันข้ามคือ "ไม่ได้เป็นมุสลิม" ถ้าไม่ปฏิบัติตามโดยปล่อยปะละเลย เรียกว่า "คนชั่ว" แต่ไม่ได้ถือศีลอดตามที่ได้ถามมา ท่านนบีบอกว่าแม้จะถือศีลอดใช้เป็นปี ก็ไม่มีผล
ถาม การละหมาดกิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺนั้นมีภาคผลอย่างไร?
ตอบ ท่านนบี
กล่าวว่า ความว่า "ผู้ใดปฏิบัติละหมาดค่ำคืนรอมฎอน (กิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺ) ด้วยความศรัทธา และหวังผลานิสงค์จากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยในความผิดที่ได้กระทำมาแล้ว"
ถาม กิยามุรอมฎอน หรือตะรอเวียฮฺนั้น ท่านนบีฯ ละหมาดกี่ร็อกอะฮฺ?
ตอบ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รายงานว่า "แท้จริงท่านนบี
ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอะฮฺ (ตะรอเวียฮฺ 8 และวิตริ 3 รวมเป็น 11 ร็อกอะฮฺ) ไม่ว่าในหรือนอกเดือนรอมฎอน" ญาบิร รายงานว่า "ท่านนบี
ได้ละหมาดกับสาวก 8 ร็อกอะฮฺ และละหมาดวิตริ"
ถาม การละหมาดวิตริแบบ 3 ร็อกอะฮฺ เห็นบางมัสญิดทำแบบ 1 สลาม และบางมัสญิด ก็ทำแบบ 2 สลาม แบบไหนถูกซุนนะฮฺกันแน่?
ตอบ ถูกซุนนะฮฺทั้ง 2 แบบ คือ ทั้ง
ก. 1 สลาม โดยละหมาด 3 ร็อกอะฮฺรวด ในร็อกอะฮฺแรก หลังจากอ่านฟาฏิฮะฮฺแล้ว อ่านซับบิฮิสฯ ในร็อกอะฮฺที่สอง อ่านฟาฏิฮะฮฺแล้วอ่านกุลยาอัยฯ ในร็อกอะฮฺที่สาม อ่านฟาฏิฮะฮฺแล้วอ่านกุลฮุวัลลอฮฺฯ นั่งตะชะฮุดเสร็จแล้วให้สลาม
ข. 2 สลาม โดยละหมาด 2 ร็อกอะฮฺแล้วนั่งตะชะฮุดแล้วให้สลาม แล้วลุกขึ้นตั๊กบีรละหมาดอีก 1 ร็อกอะฮฺ นั่งตะชะฮุดเสร็จแล้วให้สลามรวมเป็น 2 ตะชะฮุด 2 สลาม
ถาม ละหมาดวิตรินั้น ที่เห้นส่วนใหญ่จะทำกันในเดือนรอมฎอน เดือนอื่น ๆ จะละหมาดได้ไหม?
ตอบ ทำได้ตลอดทุกเดือน เวลาละหมาดวิตริเข้าหลังจากละหมาดอิชาอฺ ไปจนถึงเวลาศุบฮิ
ถาม คืนอัลก้อดรฺ (ลัยละตุลก้อดรฺ) ในปัจจุบันนี้ ยังจะมีอยู่อีกหรือ?
ตอบ จากคำตอบของท่านนบี ที่ตอบคำถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะยังคงมีอยู่ เมื่อท่านหญิงถามว่า ถ้าดิฉันพบคืนนั้นแล้ว ดิฉันจะกล่าวอะไรดี ท่านตอบนางว่า ให้กล่าวดังนี้ ความว่า "โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ทรงรักการอภัย ขอพระองค์โปรดอภัยโทษให้ดิฉันด้วย"
ถาม เดือนรอมฎอนชัยฏอน (ซาตาน) ถูกล่ามจริงหรือ? เมื่อชัยฏอนถูกล่าม ทำไมคนยังทำชั่วอยู่อีก?
ตอบ ชัยฏอนถูกล่ามนั้น มีระบุอยู่ในหะดีษของท่านนบีต้องเป็นเรื่องจริง ส่วนจะถูกล่ามอย่างไรนั้นเราไม่ทราบได้ แต่คนชั่วนั้น อัลลอฮฺไม่ได้ล่ามเอาไว้หรอก มันจึงทำชั่วได้ตลอดเวลา แรก ๆ มันก็ถูกชัยฏอนชักจูง พอทำชั่วมาก ๆ เข้า มันล้ำหน้าชัยฏอนไปเสียอีก
ถาม เดือนรอมฎอนส่งเสริมให้มีการทบทวนอัลกุรอาน เราจะทบทวนด้วยการฟังเทปกุรอาน ได้ไหม?
ตอบ จะทบทวนโดยวิธีใดก็ได้ จะอ่าน จะฟังเทปอัลกุรอาน หรือจะศึกษาความหมายไปด้วยก็ได้ แม้กระทั่งไปร่วมละหมาดตะรอเวียฮฺแล้วฟังอิมามอ่านอัลกุรอาน ก็ถือเป็นการทบทวนไปด้วย
ถาม เรื่องมีอยู่ว่าเกิดมีกรณีที่ว่า (ผู้ถือศีลอดที่เดินทางโดยเครื่องบิน) เมื่อได้เวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าตามกำหนดเวลาของเมืองที่ผู้ถือศีลอด ได้เดินทางจากมา หรือเมืองที่ผ่านน่านฟ้าเข้ามา โดยที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า ถามว่าเขาจะละศีลอดได้หรือไม่ ทั้งที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า ? ถ้าจะคอยให้ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าศีลอดของวันนี้ ก็อาจจะยาวนานเกินไป จึงเป็นความลำบากที่เขาจะคงการถือศีลอดของวันนี้ต่อไป?
ตอบ พระองค์อัลเลาะฮฺทรงตรัสว่า ความว่า "ภายหลังจากนั้นพวกท่านจงถือศีลอดให้สมบูรณ์จนกระทั่งเข้าเวลากลางคืน" (บทอัล-บากอเราะฮฺโองการที่ 387)
และท่านอิม่ามบุคอรี และมุสลิมรายงานว่า "ท่านศาสดาเคยเดินทางร่วมกับอัครสาวกของท่านในเดือนรอมฎอน ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วท่านก็ขอให้ท่านบิล๊าลจัดเตรียมอาหารละศีลอด เมื่อท่านบิล๊าลจัดเตรียมอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงดื่มและกล่าวพร้อมกับชี้ด้วยพระหัตถ์ของท่าน ความว่า เมื่อดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าจากตรงนี้ และเวลากลางคืนที่ได้มาถึง"
ตรงนี้แท้จริงผู้ที่กำลังถือศีลอดได้ละศีลอดแล้ว (หมายถึงอนุมัติให้เขาละศีลอดได้) ทั้งอัลกุรอานและอัลฮาดิษ ได้ชี้ชัดว่าการละศีลอดนั้น จะยังไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับผู้ถือศีลอดนอกจากเมื่อเข้าเวลากลางคืน ซึ่งเวลากลางคืนจะมาถึงเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ถ้าหากว่าผู้ที่กำลังถือศีลอดเดินทางโดยเครื่องบิน และเครื่องกำลังลอยลำอยู่ในระดับที่มีความสูงมาก ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าจากพื้นดินก่อนที่มันจะลับหายจากสายตาของผู้โดยสารเครื่องบิน โดยถือตามกฏเกณฑ์โลกกลม ด้วยเหตุจึงไม่เป็นที่อนุมัติให้ผู้ที่กำลังถือศีลอดบนเครื่องบินละศีลอด ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังปรากฏชัดอยู่ เพราะบางทีอาจเกิดกรณีที่ว่าผู้ถือศีลอดจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งกลางวันจะดูสั้นลง หรือบางทีอาจจะมุ่งไปทางทิศตะวันตก กลางวันจึงดูยาวนานขึ้น เพราะฉนั้นให้พิจารณาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไม่ว่าจะมุ่งไปทางทิศใด โดยจะไม่พิจารณาตามกำหนดเวลาของโซนที่ผู้ถือศีลอดผ่านน่านฟ้าเข้ามา และจะไม่พิจารณาตามกำหนดเวลาของเมืองที่ผู้ถือศีลอดเดินทางจากมา ถ้าหากเกรงว่าจะเกิดความลำบากแก่ผู้ถือศีลอดเนื่องจากเวลากลางวันที่ยาวนาน
ศาสนาอิสลามก็ผ่อนผันให้ละศีลอดได้สำหรับผู้ที่เกิดความลำบาก แต่ถ้าหากว่าไม่เกิดความยากลำบากแก่ผู้ถือศีลอดแต่ประการใด และเขาเลือกที่จะถือศีลอดให้ครบวัน เขาจะไม่ละศีลอดจนกว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า
ถาม การถ่ายเลือดทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ คำถามนี้สามารถตอบได้สองประเด็น ประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับผู้ถูกถ่ายเลือด (ผู้ให้) อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการถ่ายเลือด (ผู้รับ)
อนึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถ่ายเลือดออกในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนนั้น เปรียบได้กับการเอาเลือดออกจากเขาผู้นั้นโดยกระทำ "อัลฟัซดู" (การกรีดเลือด หรือเจาะเลือดจากส่วนที่ไม่ใช่ศรีษะ) หรือเปรียบได้กับ "อัล-ฮิญามะฮฺ" (การกรอกเลือดจากส่วนศรีษะ) ได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า นักวิชาการส่วนมากชี้ขาดว่า ไม่เสียศีลอดด้วยสาเหตุทั้งสองกรณี กล่าวคือการกรีดเลือดหรือเจาะเลือดและการกรอกเลือดเพราะว่าอัล-ฮาดิษ ความว่า " ผู้ที่กรอกเลือดกับผู้ที่ถูกกรอกเลือดเสียศีลอดทั้งคู่"
ซึ่งถูกนำมาเป็นข้ออ้างของฝ่ายที่กล่าวว่า เสียศีลอดนั้นไม่ปลอดภัยจากการวิพากวิจารณ์ ถ้าไม่ใช่ในด้านของสายรายงานก็ในด้านของความหมายที่บ่งชี้จากหนังสือของท่านอิม่ามเซากานีย์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 212-216
สำหรับกรณีที่เกี่ยวกับผู้รับการถ่ายเลือดเข้านั้นถูกให้ข้อชี้ขาดเหมือนกับการฉีดยา ในเมื่อการถ่ายเลือดเข้ามีจุดประสงค์ เพื่อการรักษาโรคไม่ใช่เพื่อเป็นอาหารแก่ร่างกาย โดยถูกถ่ายผ่านเข้าทางเส้นเลือด ข้าพเจ้า (เชคอะตียะฮฺซ้อกร์) จึงให้เห็นว่าไม่เสียศีลอดพร้อมทั้งกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ถูกถ่ายเลือดเข้าสู่ร่างกายย่อมต้องการอาหารบำรุงกำลัง จึงเป็นสิทธิของเขาที่จะบริโภคอาหารต่างๆ และจำเป็นสำหรับเขาต้องชดใช้การถือศีลอดดังกล่าวเมื่อหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว ทรรศนะต่างๆของนักวิชาการที่ขัดแย้งกันในปลีกย่อยของปัญหาที่เหมือนกันนี้ ถือเป็นความเมตตาขององค์อัลเลาะฮฺ ซึ่งท่านสามารถจะยึดถือปฏิบัติตามสิ่งที่สะดวกกว่า และง่ายกว่าในภาวะที่เกิดมีความจำเป็น
ถาม หญิงมีครรภ์และหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร มีฮุก่มว่าอย่างไร?
ตอบ ฮุก่มของหญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร คือฮุก่มเดียวกับผู้ป่วย คือถ้าหากว่าทั้งสองไม่สามารถถือศีลอดได้ ศาสนาอนุโลมให้ ไม่ต้องถือศีลอด และต้องชดใช้เมื่อมีความสามารถ เช่นเดียวกับผู้ป่วย
มีนักวิชาการบางท่านบอกว่า เพียงพอแล้วที่ทั้งสองจะทดแทนการถือศีลอดโดยการให้อาหารแก่คนยากจนทุกวัน ซึ่งเป็นทัศนะที่อ่อน และที่ถูกต้องคือ ทั้องสองจะต้องชดใช้ศีลอดเหมือนกับผู้ป่วยและผู้เดินทางอัลลอฮฺทรงตรัสว่า "ดังนั้นหากคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้าป่วย หรืออยู่ระหว่างเดินทางก็ให้ชดใช้ในวันอื่น"
และรายงานจากท่านอนัส อิบนฺมาลิก ท่านรอซู้ลกล่าวว่า "แท้จริงอัลลอฮฺทรงผ่อนผัน การถือศีลอดและการละหมาดให้แก่ผู้เดินทาง (คือไม่ต้องถือศีลอดและละหมาดย่อได้) และทรงผ่อนผันการถือศีลอดให้กับ หญิงมีครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร" บันทึกโดยนักบันทึกหะดีษทั้งห้า
ถาม การอาเจียนทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ หากว่าไม่เจตนาทำให้อาเจียนไม่ทำให้เสียศีลอดและไม่ต้องชดใช้ ถ้าหากเจตนาทำให้อาเจียนต้องชดใช้ ท่านนบีกล่าวว่า "ผู้ใด้ที่อาเจียนเองไม่ต้องชดใช้ (ศีลอด) และผู้ที่เจตนาอาเจียนจำเป็นที่จะต้องชดใช้ (ศีลอด)" บันทึกโดยอิมามอะฮฺหมัดและเจ้าของสุนันทั้งสี่ ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องจากหะดีษที่รายงานโดยอะบูฮุร็อยเราะฮฺ
ถาม การเสียเลือดของผู้ถือศีลอดมีผลต่อการถือศีลอดหรือไม่?
ตอบ การเสียเลือดของผู้ถือศีลอด เช่น เลือดกำเดาออก หรือหญิงมีอิสติฮาเฎาะฮฺ (เลือดเสีย) หรือคล้ายๆกันนี้ไม่ทำให้เสียศีลอด ส่วนการเสียเลือดที่ทำให้เสียศีลอด นั้น คือ เฮด (รอบเดือน) นิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) และการกรอกเลือด
ถาม บริจาคเลือดในเดือนรอมฏอน ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ การบริจาคเลือดนั้นผู้บริจาคต้องเสียเลือดมาก ทำให้เสียศีลอด กิยาส (เปรียบเทียบ) กับการกรอกเลือดเพราะการกรอกเลือดนั้นเสียเลือดมาก และทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าเพียงเล็กน้อยเช่น เจาะเลือด เพื่อตรวจโรคไม่ทำให้เสียศีลอด
ถาม ฉันเป็นสาว อายุ 17 แต่ยังไม่เคยถือศีลอดเลยในเดือนรอมฏอนของสองปีแรก ฉันจะทำอย่างไร?
ตอบ จำเป็นที่จะต้องรีบถือศีลอดชดใช้ และต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺชดเชยด้วย โดยการให้อาหารแก่คนยากจนทุกวัน เนื่องจากชดใช้ศีลอดล่าช้าเกินกว่าหนึ่งปีตามความเห็นส่วนใหญ่ของนักวิชาการ
ถาม การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ หากว่าการฉีดยานั้นมีผลสร้างความกระปี้กระเปร่า ให้กับผู้ถือศีลอด (ให้น้ำเกลือ) การถือศีลอดของเขาก็ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะฉีดส่วนไหนของร่างกาย แต่ถ้ามีผลเพื่อระงับหรือบรรเทาความเจ็บปวด ก็ไม่ทำให้เสียศีลอด
ถาม การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ หากว่าการฉีดยานั้นมีผลสร้างความกระปี้กระเปร่า ให้กับผู้ถือศีลอด (ให้น้ำเกลือ) การถือศีลอดของเขาก็ใช้ไม่ได้ ไม่ว่าจะฉีดส่วนไหนของร่างกาย แต่ถ้ามีผลเพื่อระงับหรือบรรเทาความเจ็บปวด ก็ไม่ทำให้เสียศีลอด
ถาม หากว่ามีคนหนึ่งถือศีลอดสุนนะฮฺ (อัยยามุลเบฎ) ทุกเดือนเป็นประจำ คือวันที่ 13-14-15 ตามเดือนจันทรคติ และในเดือนเซาวาลเขาได้ทำการถือศีลอดสุนนะฮฺนี้ตามปกติ และถือศีลอดนอกเหนือจากสามวันนี้ อีกสามวันจะถือว่าเขาได้ทำการถือศีลอดสุนนะฮฺหกวันของเดือนเซาวาลหรือเปล่า?
ตอบ การถือศีลอดหกวันในเดือนเซาวาล ไม่เกี่ยวกับการถือศีลอดสุนนะฮฺ (อัยยามุลเบฎ) และจะเอามารวมกันไม่ได้ คือ ให้ถือศีลอดและตั้งเจตนาแยกกันต่างหาก เพื่อเพิ่มพูนผลบุญ แต่ถ้าหากเขาถือศีลอดหกวันในเซาวาล แล้วเนียตรวมกันทั้งสองคือ บวชหกและบวช (อัยยามุลเบฏ) ข้าพเจ้า (เชคซอและฮฺ อิบนฺเฟาซาน อัลเฟาซาน) เห็นว่าจะได้แค่ผลบุญของการถือศีลอดเซาวาลเท่านั้น อินชาอัลลอฮฺ
ถาม หญิงคนหนึ่งมีความจำเป็นไม่สามารถถือศีลอดได้ในเดือนรอมฏอนและได้เสียชีวิตก่อนที่จะชดใช้ ถามว่าหญิงคนนี้มีความผิดหรือไม่ ถ้ามีจะไถ่โทษนางอย่างไร?
ตอบ หากว่าไม่ได้ถือศีลอดเนื่องจากความเจ็บป่วย โดยที่ป่วยต่อเนื่องมาจนหมดเดือนรอมฏอน จนกระทั่งเสียชีวิต ทายาทก็ไม่ต้องชดใช้และไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺชดเชย เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะชดเชยได้ แต่ถ้าหากว่าเขาหายจากการป่วยไข้ และมีเวลาเพียงพอที่จะถือศีลอดชดใช้ แต่เขายังไม่ได้ชดใช้ จนกระทั่งเสียชีวิตเสียก่อนก็จำเป็นที่ทายาทจะต้องชดใช้แทนเขา หรือเสียกัฟฟาเราะฮฺให้อาหารแก่คนยากจนทุกวัน
เช่นเดียวกันหญิงคนนั้น ถ้าสามารถที่จะชดใช้ศีลอดได้หลังรอมฏอนและยังไม่ได้ชดใช้ ส่วนถ้านางไม่สามารถ ก็ไม่ต้องชดใช้ และไม่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม
ถาม แปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ เชคบินบาซตอบว่า การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟัน ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ต้องระวังไม่ให้เข้าไปถึงกระเพาะ ถ้าหากว่า หลุดลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้ และยาหยอดหู หยอดตาก็เช่นเดียวกัน ไม่ทำให้เสียศีลอด ในทัศนะที่ถูกต้องที่สุดของนักวิชาการ แต่หากว่ารู้สึกถึงรสขมจากยาหยอดตาหรือหยอดหูได้ในลำคอ ก็ควรจะชดใช้ศีลอดในวันนั้น เป็นการดีกว่า ซึ่งไม่ใช่วายิบที่เขาต้องชดใช้ เพราะทั้งหูและตาไม่ใช่อวัยวะที่เป็นทางผ่านของอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนยาหยอดจมูกนั้น ถ้าใช้แล้วรู้สึกถึงรสขมในลำคออันเนื่องมาจากยา ก็จำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอด เพราะจมูกถือเป็นทางผ่านของอาหารและเครื่องดืมได้ ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงกล่าวว่า "และจงสูดน้ำเข้าจมูก (ตอนอาบน้ำละหมาด) นอกเสียจากว่าท่านกำลังถือศีลอด"
ถาม การใช้น้ำยาบ้วนปากทำให้เสียศีลอดหรือไม่?
ตอบ การใช้น้ำยาบ้วนปากไม่ทำให้เสียศีลอด หากไม่กินหรือกลืนเข้าไป แต่ก็ไม่สมควรใช้นอกจากจำเป็น
ถาม การถือศีลอดของคนที่เป็นพยานเท็จใช้ได้หรือไม่?
ตอบ การเป็นพยานเท็จ คือการที่คนหนึ่งคนใด เป็นพยานยืนยันในสิ่งที่เขาไม่รู้ หรือรู้แต่ว่ายืนยันตรงกันข้ามกับที่เขารู้ถือเป็นบาปใหญ่ แต่ไม่ทำให็การถือศีลอดของเขาเสียไป คือใช้ได้ แต่ว่า ผลบุญของเขาจะลดลง
ถาม อะไรคือการถือศีลอดแบบวิซอล ? เป็นซุนนะฮฺหรือเปล่า ?
ตอบ วิซอล คือการถือศีลอดสองวันติดต่อกัน ซึ่งท่านนบีได้สั่งห้ามเอาไว้ โดยกล่าวว่า "ผู้ใดที่ต้องการจะถือศีลอดวิซอล ก็ให้ถือแค่เวลาซุโฮร์"
การถือศีลอดต่อเนื่องจนถึงเวลาซุโฮร (โดยไม่ละศีลอดตอนมักริบ) เป็นที่อนุญาต แต่ไม่เป็นที่ส่งเสริม และท่านนบีก็ได้ ส่งเสริมให้รีบละศีลอดเมือ่ได้เวลา ท่านนบีฯได้กล่าวว่า "ประชาชาติของฉันจะยังคงอยู่บนความดีตราบเท่าทีเขารีบเร่งละศีลอด" แต่ท่านนบีก็อนุญาตให้ถือติดต่อได้จนถึงซุโฮรเท่านั้น ครั้นเมื่อมีบรรดาซ่อฮาบะฮฺ กล่าวว่า "โอ้ท่านร่อสู้ลุ้ลลอฮฺท่านยังถือติดต่อได้เลย ท่านนบีตอบว่าฉันไม่เหมือนกับพวกท่าน"
ถาม อะไรคือความหมายของหะดีษที่ว่า "ไม่มีการถือศีลอด สำหรับผู้ที่ไม่ได้เนียต (ตั้งเจตนา) ตอนกลางคืน"?
ตอบ การตั้งเจตนาที่จะถือศีลอด นั้นอยู่คู่กับมุสลิมทุกคนที่รู้ว่าเดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่ พระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติ ฟัรดูการถือศีลอดในเดือนนี้
ดังนั้น การที่เขารู้ถึงฟัรดูการถือศีลอด และทำการถือศีลอด ก็เป็นการเพียงพอแล้ว และเพียงแค่การพูดกับตัวเองว่า จะถือศีลอดในวันพรุ่งนี้ หากไม่มีอุปสรรคหรือการรับประทานอาหารซุโฮร ด้วยความตั้งใจแบบนี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมาเป้นคำพูดว่าจะถือศีลอดและอิบาดะฮฺอื่นๆก็เช่นเดียวกัน เพราะการเนียตตำแหน่งของมันคือหัวใจ และจำเป็นต้องให้การเหนียตอยู่ควบคู่กับการปฏิบัติตลอดเดือนรอมฏอน โดยจะต้องไม่ตั้งใจจะละศีลอด หรือทำให้เสียศีลอดในขณะที่กำลังถือศีลอดอยู่
ถาม เด็กจะถือศีลอดอย่างไร ? และจริง (ถูกต้องหรือไม่) ที่ผลบุญจะได้แก่พ่อแม่ของเด็ก ?
ตอบ จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องฝึกฝนบุตรให้ถือศีลอด หากว่าสามารถที่จะถือได้ ถึงแม้ว่าอายุจะยังไม่ถึงสิบขวบก็ตาม และเมื่อมีอายุถึงสิบขวบแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่จะต้องบังคับลูกให้ถือศีลอด หากว่าเด็กถือศีลอดก่อนที่จะบรรลุศาสนภาวะ ก็ต้องถือศีลอดเหมือนผู้ใหญ่ทุกประการ ส่วนผลบุญก็จะได้แก่เด็กและพ่อแม่ของเด็กด้วย
ถาม จำเป็นที่จะต้องละศีลอดเมื่อได้ยินเสียงอะซานมักริบ หรืออนุญาตให้ล่าช้าได้ ?
ตอบ มีหะดีษรายงานว่า "แท้จริงบ่าวที่เป็นทีรักยิ่งของอัลลอฮฺ คือผู้ที่รีบเร่งละศีลอด และประชาชาติอิสลาม จะยังคงอยู่บนความดีตราบเท่าทีเขารีบละศีลอด และให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารซุโฮร"
และตามซุนนะฮฺ ให้ละศีลอดก่อนที่จะทำการละหมาดมักริบโดยมีข้อแม้ว่า ต้องแน่ใจว่าดวงอาทิตย์ตก แต่ก็อนุญาตให้ล่าช้าได้หากไม่แน่ใจว่า ดวงอาทิตย์ตกหรือยังหรือด้วยสาเหตอื่น เช่นรออาหาร หรือติดงานสำคัญ เป็นต้น วัลลอฮุอะอฺลัม
ถาม หากว่าผู้ถือศีลอด ทั้งที่เดินทาง และไม่ได้เดินทาง เมื่อได้เวลาละศีลอดแล้วเขาไม่สามารถหาอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อละศีลอดได้ถามว่า เขาจะละศีลอดด้วยกับเจตนาเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่?
ตอบ การถือศีลอดขณะเดินทางนั้นเป็นที่อนุญาต และประเสริฐกว่าการที่จะไม่ถือศีลอด ถ้าไม่เป็นการลำบากกับผู้เดินทางเอง แต่ถ้าหากพบความยากลำบาก ที่อาจทำให้เขาต้องพึ่งพาคนอื่นในงานของเขาเอง การที่เขาไม่ถือศีลอดในสภาพเช่นนี้จะประเสริฐกว่าการถือศีลอด
นี่คือทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ เพราะท่านนบีได้ถือศีลอดในสงครามพิชิตมักกะฮฺ จนกระทั่งมีซอฮาบะฮฺ บอกกับท่านว่า การถือศีลอดทำให้พวกเขาประสบความยากลำบาก ท่านนบีจึงละศีลอดและใช้ให้พวกเขาละศีลอดด้วย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู
และหากว่าผู้เดินทางประสงค์จะละศีลอด ถึงแม้จะไม่มีอุปสรรคก็ตามถือว่า เป็นที่อนุญาตการเนียตละศีลอด ถึงแม้จะไม่ไดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็ถือว่าใช้ได้
ส่วนคนที่ได้เวลาละศีลอดแต่หาอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อละศีลอดยังไม่ได้ การเนียตละศีลอด ก็เพียงพอแล้วเช่นกันจนกระทั่ง เขาหาอาหารที่จะละศีลอดได้ แต่ที่ประเสริฐที่สุดคือให้รีบละศีลอดเมื่อได้เวลา ดังหะดีษที่ว่า "ประชาชาติ (ของฉัน) จะยังคงอยู่บนความดี ตราบเท่าที่ พวกเขารีบละศีลอด"
ถาม เด็กผู้หญิงจำเป็นต้องถือศีลอดเมื่อใด?
ตอบ จำเป็นที่เด็กหญิงจะต้องถือศีลอดเมื่อบรรลุศาสนภาวะ และสิ่งที่บ่งบอกว่าบรรลุแล้วก็คือ มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หรือมีขนขึ้นรอบอวัยวะเพศ หรือ มีอสุจิเคลื่อนออก หรือมีรอบเดือน และหรือการมีครรภ์ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ปรากฎสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กล่าวมานี้ก็จำเป็นจะต้องถือศีลอด ถึงแม้ว่าเด็กหญิงคนนั้นจะมีอายุยังไม่ถึง 10 ขวบก็ตาม มีให้เห็นมากมายที่ผู้หญิงมีรอบเดือนเมื่ออายุ 10-11 ขวบแล้วผู้ปกครองก็ละเลย โดยคิดว่ายังเด็กจึงไม่บังคับให้ถือศีลอด ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงเริ่มมีรอบเดือนก็ถือได้ว่าเป็นสาวแล้ว บรรลุศาสนภาวะแล้ว และมลาอิกะฮฺก็เริ่มบันทึกการงานของเธอแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัม
ถาม ฉันคลอดบุตรก่อนเข้ารอมฏอน 1 สัปดาห์ และนิฟาส (เลือดหลังการคลอดบุตร) ก็หมดก่อน 40 วัน ฉันจำเป็นต้องถือศีลอดหรือไม่?
ตอบ จำเป็นที่จะต้องถือศีลอด เมื่อผู้ที่คลอดบุตรรู้ว่าตัวเองสะอาดแล้ว คือหมดนิฟาส ก็จำเป็นที่จะต้องละหมาดหรือถือศีลอด แม้ว่าจะสะอาดหลังการคลอดเพียงวันเดียว หรือ 1 สัปดาห์ เพราะไม่มี กำหนดอย่างน้อยของนิฟาส บางรายไม่มีนิฟาสเลย หลังคลอดและระยะ 40 วันก็ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว หากว่ามีนิฟาสเกิน 40 วัน โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (สีของนิฟาส) ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงนิฟาส ไม่ต้องถือศีลอดไม่ต้องละหมาดจนกว่าจะสะอาด วัลลอฮุอะอฺลัม
ถาม ผู้ที่ด่าทอขณะที่ถือศีลอด ศาสนามีฮุก่มว่าอย่างไร?
ตอบ การด่าทอขณะที่ถือศีลอดไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ว่าจะทำให้ผลบุญของเขาลดน้อยลง มุสลิมจะต้องรู้จักควบคุมจิตใจ และลิ้นของเขาต้องงดเว้น จากการด่าทอ นินทา ให้ร้าย และจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามซึ่งจะเป็นหตุให้เกิดฟิตนะฮฺ ความเกลียดชัง และความแตกแยกท่านรอซู้ล (ซ.ล) กล่าวว่า "เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้าถือศีลอด ก็จงอย่าด่าทอให้ร้าย และอย่าส่งเสียงดัง (ด้วยความโกรธ) และหากว่ามีใครด่าทอหรือหาเรื่อง ท่านก็จงกล่าวว่าข้าพเจ้าถือศีลอด" (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)
ถาม มีอุปสรรค ถือศีลอดในเดือนรอมฏอนไม่ได้ ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ ผู้ใดที่ละทิ้งการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน โดยมีอุปสรรคตามที่ศาสนาผ่อนผัน จำเป็นที่จะต้องถือศีลอดชดใช้ก่อนที่จะถึงรอมฏอนถัดไป ถ้าหากล่าช้า ไม่ได้ชดใช้ จนเลย เดือนรอมฏอนถัดไป โดยไม่มีอุปสรรคตามที่ศาสนาผ่อนผัน เช่น ชราภาพ หรือป่วยเรื้อรัง จำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดชดใช้ตามวันที่ขาดไป และต้องให้อาหารแก่คนยากจนทุกวันด้วย
แต่ถ้าหากไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่นคนชรา หรือผู้ป่วยเรื้อรังก็ให้อาหารแก่คนยากจนโดยไม่ต้องถือศีลอดชดใช้ อัลกุรอานกล่าวว่า "และผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ ก็ให้เสียฟิดยะฮฺให้อาหารแก่คนยากจน"
ส่วนปริมาณที่จะต้องจ่ายออกไป ก็คือจ่ายทุกวัน วันละครึ่งซออฺ เท่ากับ 1 กิโลครึ่งโดยประมาณ ซึ่งอาจจะเป็น ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หรืออาหารหลักของแต่ละประเทศ สำหรับการใช้เงินแทนให้อาหารนั้นใช้ไม่ได้ เนื่องจากตัวบทอัลกุรอานได้ชี้ชัดไว้
ถาม มีชายผู้หนึ่งนอนหลับก่อนที่จะรู้ว่าวันรุ่งขึ้น เป็นวันแรกที่จะต้องถือศีลอด พอตื่นขึ้นละหมาดซุบฮฺถามใครก็ไม่มีใครรู้ว่าเข้ารอมฏอนหรือยัง เขาจึงยังไม่รับประทานอาหารอะไร จนไปถึงที่ทำงานถึงได้รู้ว่าเข้ารอมฏอนแล้วเขาจึงอดอาหารจนถึงเย็น ในสภาพเช่นนี้การถือศีลอดของเขาใช้ได้หรือไม่ หรือว่าจำเป็นที่เขาจะต้องถือศีลอดชดใช้?
ตอบ ผู้ใดก็ตามที่รู้ว่าเข้าเดือนบวชแล้วในตอนกลางวัน จำเป็นที่เขาจะต้องงดเว้นจากอาหารและเครื่องดื่ม นับตั้งแต่เขารู้จนตะวันตกดินและให้ถือศีลอดชดใช้ หลังจากรอมฏอนเพราะว่าเขาไม่ได้ตั้งเจตนาถือศีลอดเมื่อตอนกลางคืน มีหลายหะดีษรายงานความหมายตรงกันว่า "ไม่ถือว่าเป็นการถือศีลอด (ใช้ไม่ได้) ถ้าไม่ได้เนียตตอนกลางคืน (เฉพาะการถือศีลอดที่เป็นฟัรดู)"
ถาม เพื่อนที่ทำงานบางคนบอกว่าเขารับประทานอาหารซุโฮรฺ ตั้งแต่ตีหนึ่งแล้วก็นอน ตื่นตอน 9 โมงเช้า ละหมาดซุบฮฺ แล้วก็ออกไปทำงาน ศาสนามีข้อชี้ขาดว่าอย่างไร?
ตอบ การกระทำเช่นนี้ ไม่เป็นที่อนุญาต เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ
- ขัดกับซุนนะฮฺของท่านนบีฯ ที่เขารีบรับประทานอาหารซุโฮรฺ ซุนนะฮฺคือให้ล่าช้าในการรับประทานซุโฮรฺ
- นอนจนเลยเวลาละหมาดซุบฮฺ และทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งเป็นการทิ้งหน้าที่ที่สำคัญถึงสองอย่าง คือละเลยการละหมาดตามเวลา และการละหมาดญะมาอะฮฺ
ดังนั้นจำเป็นที่เขาจะต้องเตาบัตตัว และเปลี่ยนการกระทำเสียใหม่ ให้ถูกต้อง คือจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับละหมาด ก่อนอื่น เพราะละหมาดคือเสาหลัก และ เป็นรุก่นที่สอง ของรุก่นอิสลามทั้งห้าประการ และยิ่งกว่านั้นก็คือการถือศีลอดหรือการงานอื่นใดจะใช้ไม่ได้ (ไม่ถูกต้อง) นอกเสียจากว่าจะต้องมีการละหมาดตามที่ศาสนาบัญญัติอย่างถูกต้อง
ถาม ข้าพเจ้าใส่น้ำหอมก่อนละหมาดซุฮรฺ ในเดือนรอมฏอน เมื่อไปถึงมัสยิด อิมามได้บอกว่า น้ำหอมทำให้เสียศีลอด และข้าพเจ้าเองก็อาจเป็นเหตุให้คนอื่นๆเสียศีลอดด้วยเพราะกลิ่นน้ำหอมแรงมาก คำกล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่?
ตอบ การใช้น้ำหอมขณะที่ถือศีลอดไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าหากว่า เครื่องหอมนั้นคือบุคูร (ของหอมชนิดหนึ่ง ใช้โรยบนถ่านไฟ เพื่อให้เกิดกลิ่นหอม และมีควันด้วย เปรียบได้กับธูปหอม) แล้วเราไปสูดกลิ่นหอมนั้นโดยตั้งใจ เพราะว่าควันของมันจะเข้าจมูกและไปกระตุ้นสมอง ซึ่งมีผลต่อการถือศีลอด ส่วนการใช้เครื่องหอมทั่วไปไม่เป็นไร และไม่อนุญาตให้อิมามหรือใครฟัตวาโดยที่ไม่รู้
ถาม ช่วงเดือนรอมฏอนที่มัสยิดฮะรอม อิบาดะฮฺอันใดประเสริฐกว่ากัน ระหว่างละหมาดสุนนะฮฺ ตอวาฟ และอ่านกุรอาน?
ตอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่พักพิงในมักกะฮฺก็ควรจะตอวาฟ เพราะว่าไม่ค่อยได้มีโอกาสเหมือนผู้ที่พักพิงทีมักกะฮฺ ส่วนชาวมักกะฮฺ ที่ดีที่สุดคือละหมาดและอ่านกุรอาน และหากว่าผู้ที่มาเยือนกะอฺบะฮฺ ไม่สามารถจะตอวาฟได้เนื่องจากคนแน่น หรือว่า มีสตรีทำการตอวาฟอยู่มากและกลัวว่าจะเกิดฟิตนะฮฺ ในสภาพนี้ การละหมาดสุนนะฮฺดีกว่า อนึ่งในขณะตอวาฟนั้นก็สามารถจะอ่านกุรอานและดุอาได้ด้วยเช่นกัน เท่ากับว่า ได้รับผลบุญสองเท่า