สำนักข่าวมุสลิมไทย ความคืบหน้า ผู้ประกอบการฮัจย์ พบ ผู้นำรัฐบาล ลดปม 50,000 บาท
ท่านจุฬาราชมนตรี นำคณะประธานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้และภาคกลาง เข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาการใช้ศาลชารีอะห์ และกิจการฮัจย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 เวลา 08.00-09.10 น. ท่านจุฬาราชมนตรี ได้นำคณะประธานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้และภาคกลาง เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ( ฯพณฯ ถาวร เสนเนียม ) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย/เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( นายภานุ อุทัยรัตน์ ) โดยการประสานงานของ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล
ท่านจุฬาราชมนตรี ได้รายงานสรุปการประชุมตัวแทนคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2554 ณ โรงแรมรามาการ์เด็นท์ กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการใช้กฎหมายตามหลักชารีอะห์และปัญหาที่จะต้องแก้ไขเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ประจำปี 2554
หลังจากนั้น ท่านจุฬาราชมนตรี ได้มอบหมายให้นายอิบรอเหม อาดำ ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลและนายกสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้ ได้รายงานปัญหากิจการฮัจย์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ความไม่เข้าใจระหว่างกรมการศาสนา ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย กับผู้ประกอบกิจการฮัจย์ทั่วประเทศไทย ในการประสานงาน สร้างความเข้าใจ การปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ต่างๆที่ได้กำหนดขึ้นจากมติของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 จนทำให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ผู้นำกลุ่ม ( แซะห์ ) และส่งผลกระทบกับผู้ที่ประสงค์ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2554 ในช่วงเวลานี้ ซึ่งจะมีการลงทะเบียนออนไลน์ในระบบของกรมการศาสนา ระหว่างวันที่ 16-25 มีนาคม 2554 โดยผู้ที่จะลงทะเบียนทุกท่านจะต้องเตรียมเงินค้ำประกันการเดินทางจากเดิมคนละ 12,500 บาท เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท และยังไม่มีหลักประกันว่า ทุกท่านที่ชำระเงินไปแล้วจะได้อยู่ในโควตาผู้แสวงบุญประจำปี ที่ได้รับการจัดสรรจากประเทศซาอุดีอาราเบีย หรือไม่
การมอบอำนาจทั่วไปในการเช่าที่พักที่เมืองมาดีนะห์และเมืองมักกะห์ ซึ่งมีปัญหาในการทำสัญญาทุกปีระหว่างผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ตัวแทนของคณะอนุกรรมการพิจารณาฯที่ได้รับการแต่งตั้ง กับเจ้าของบ้านในประเทศซาอุดีอาราเบีย ตั้งแต่ปี 2550-2553 การออกหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมในการเซ็นสัญญา ทำธุรกรรม ที่ผู้ประกอบกิจการฮัจย์จะต้องรับผิด 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเกิดความเสียหายและไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิใดๆจากคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล
ทั้งๆที่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกันหลายฝ่ายแต่หาผู้รับผิดไม่ได้ ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์และระเบียบของคณะกรรมการส่งเสริมฯรู้สึกไม่มีความเป็นธรรมในหลักเกณฑ์ สรุปในประเด็นต่างๆ

1. ท่านจุฬาราชมนตรี ได้ขอความกรุณาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนากิจการฮัจย์ของประเทศไทย ขอให้มีการประสานที่ดีระหว่างหน่วยงานของทางราชการที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิม อาทิ หน่วยงานของกรมการศาสนา ในฐานะ สำนักเลขานุการ หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศ กงสุลฝ่ายกิจการฮัจย์ ในฐานะที่จะต้องประสานงานระหว่างสองประเทศ ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและวัฒนธรรมของสองประเทศ และอะมีรุ้ลฮัจย์ และคณะ ในฐานะหัวหน้าคณะตัวแทนทางการของรัฐบาลไทย ( รออิสเบียะซะห์ อัรรอซมีย์ ) เพื่อแสดงถึงภาพพจน์และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยที่ได้ส่งเสริมกิจการฮัจย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม
2. ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ขอความกรุณาให้มีการจัดคณะกรรมการสอบสวนในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและคณะบุคคลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ทำให้เกิดปัญหาสะสมมาไม่ว่าจะเกิดจากผู้ประกอบกิจการฮัจย์ หรือ ข้าราชการของรัฐ
3. ส่วนในประเด็นหลายรายละเอียดต่างๆที่สร้างความเดือดร้อนในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไปแล้วนั้น ที่ประชุมได้รับการบัญชาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้ได้มีการประชุมหารือกับ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย และกรมการศาสนา ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมฯและจะต้องทำหน้าที่ในฐานะสำนักงานเลขานุการด้วย
ทางด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขานุการส่วนตัวของท่านจุฬาราชมนตรี ได้ประสานงานให้คณะตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ได้เข้าพบ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ภายในวันนี้ด้วย เมื่อเวลา 14.15 น. – เวลา 17.20 น. ในวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมชั้น 22 กระทรวงวัฒนธรรม ทาง ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ( นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ) เป็นประธานในการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหากิจการฮัจย์ของพี่น้องมุสลิม โดยทางสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่ได้เข้าร่วมประชุม
ประกอบด้วย นายอิบรอเหม อาดำ นายกสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้ นายอรุณ บุญมาเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคกลาง นายยูโซฟ มัตโซ๊ะ อุปนายกสมาคมฯใต้ นายนิสิต นุ้ยแอ อุปนายกสมาคมฯใต้ นายอิสมาแอ สามะ เลขาธิการสมาคมฯใต้ นายอนุรักษ์ วันแอเลาะ อุปนายกสมาคมฯภาคกลาง นายกมล ทองคำวงศ์ เลขาธิการสมาคมฯภาคกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมฯ 2 ท่าน
ส่วนฝ่ายกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการฯ ผู้อำนวยกองศาสนูปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานกิจการศาสนาอิสลาม ผศ.ดร.นิรันทร์ พันทรกิจ อดีต ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี/ผู้ทรงคุณวุฒิ และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขานุการจุฬาราชมนตรี เป็นผู้ประสานงานและสักขีพยาน
เมื่อได้เวลาตามกำหนด ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวต้อนรับทุกท่านและทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมประชุมหารือในการช่วยแก้ปัญหาฮัจย์ และท่านได้กล่าวว่า คงไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่ให้เวลากับการแก้ปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมท่านได้รับฟังมาแล้ว 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลานานถึง 3-4 ชั่วโมง นี่แสดงถึงความตั้งใจของท่านที่จะรับฟังจากทุกฝ่าย
หลังจากจากนั้น นายกมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้ ได้รายงานปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น ทางสมาคมฯเป็นที่จะประสานงานเพื่อกิจการฮัจย์ในประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ถ้าดำเนินการไปแล้วทำให้เกิดปัญหาใหม่และสร้างความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะทางกรมการศาสนา ในฝ่ายที่รับผิดชอบในกิจการฮัจย์ไม่ให้เวลาและไม่ค่อยได้รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆจากผู้ประกอบการฯและได้ออกกฎเกณฑ์ หลักเกณฑ์ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สบายใจและปฏิบัติไม่ได้และเกิดการคัดค้านไม่เห็นด้วย และปฏิเสธการร่วมประชุมกับกรมการศาสนา
ในครั้งที่ผ่านมา และอย่าได้ประณามและกล่าวหาว่า ผู้ประกอบกิจการฮัจย์และผู้นำกลุ่ม (แซะห์ ) แสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ เพราะจะต้องเทียบดูภารกิจที่บุคคลเหล่านี้กำลังทำหน้าที่ในการนำพาแขกของพระเจ้า และเพื่อเป็นเกียรติของประเทศชาติที่บุคคลเหล่านี้ได้พยายามช่วยเหลือนำผู้แสวงบุญ ได้แสดงกริยามารยาทที่ดี และวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องจากคนไทยที่ได้แสดงออกให้นานาชาติในเทศกาลฮัจย์ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนมากมายเหมือนกับในบางโครงการที่ได้ดำเนินการไป หลังจากนั้นทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้โอกาสให้ทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมจากตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้และภาคกลางสามารถที่จะนำเรียนปัญหาในประเด็นต่างๆที่ไม่ซ้ำกัน
และในช่วงสุดท้ายทาง นายอิบรอเหม อาดำ นายกสมาคมฯภาคใต้ ได้ขอบคุณ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้เปิดใจกว้าง รับฟังที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยความตั้งใจ และขอฝากให้ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ผู้ประกอบกิจการฮัจย์บางราย ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผิดระเบียบกฎเกณฑ์และไม่ปกป้องสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของผู้แสวงบุญและขอให้ลงโทษให้ถึงที่สุด หลังจากนั้นทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์ฯ ได้สรุปดังนี้.-
1. สั่งให้มีการยกเลิกการลงทะเบียนออนไลน์ผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2554 ซึ่งกำหนดการเดิมระหว่าง วันที่ 16-25 มีนาคม 2554 ยังไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนและยอมรับจากทุกฝ่าย 2. จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานฝ่ายต่างๆที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิม กับตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ซึ่งให้มีตัวแทนสมาคมฯภาคใต้ จำนวน 4 ท่าน และสมาคมฯภาคกลาง จำนวน 3 ท่าน ในวันอังคาร ที่ 15 มีนาคม 2554 เวลา 14.00 น. ณ กระทรวงวัฒนธรรม 3. การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆที่รู้สึกว่ามีปัญหาให้ที่ประชุมเสนอเหตุผลระหว่างกัน ในวันประชุมดังกล่าว 4. ส่วนสายการบินที่จะขนส่งผู้โดยสารฮัจย์ ประจำปีนี้ ทางมติคณะรัฐมนตรี ในมอบหมายให้สายการบินไทย จัดเที่ยวบินพิเศษ เหมาลำ สำหรับผู้โดยสารภาคใต้ ณ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินกระบี่ สนามบินภูเก็ต และจะพยายามติดตามให้สามารถทำการบินที่สนามบินนราธิวาส ด้วย
รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 เวลา 14.00 น. โดยประมาณ ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการประสานงานให้ท่านจุฬาราชมนตรี หรือตัวแทนท่านจุฬาราชมนตรี ได้ให้นายอิบรอเหม อาดำ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล/นายกสมาคมฯภาคใต้ และนายกมล ทองคำวงศ์ เลขาธิการสมาคมฯภาคกลาง ไปรับฟังหลังจากมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ มีการหารือของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และคณะเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ สรุปดังนี้.-
1. ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีการบัญชาให้ การดำเนินการในการเช่าที่พักของผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมในปีนี้ให้เป็นภารกิจและหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ โดย ท่านกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ หรือ กงสุลฝ่ายกิจการฮัจย์ และคณะ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับไปดำเนินการ
2. การขนส่งผู้โดยสารผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมในปีนี้ ให้สายการบิน การบินไทย ดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามข้อมูลที่ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ต้องการ ( เริ่มวันที่ 29 กันยายน 2554 + 8-9 วัน )
3. การลงทะเบียนออนไลน์และเงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างที่ประชุมตัวแทนจากหลายฝ่าย ในวันที่ 15 มีนาคม 2554 ตามที่ ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้นัดไว้. - www.muslimthai.com |