สำนักข่าวมุสลิมไทย ชนเผ่าพื้นเมืองจอร์แดนหาญกล้าวิจารณ์ราชินี
สำนักข่าวตะวันออกกลาง – ชาวจอร์แดนจากเผ่าที่เป็นชนชาติหลักของประเทศไม่พอใจราชินีราเนีย และออกมาวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อย่างไม่กลัวเกรง

ผู้นำจาก 36 เผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของจอร์แดนออกแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้ ให้กษัตริย์หันไปทบทวนการครอบครองที่ดินของตระกูลเชื้อสายปาเลสไตน์ Yassin ซึ่งเป็นตระกูลของราชินีราเนีย ซึ่งที่ดินดังกล่าวควรจะเป็นของคนจอร์แดน

การออกแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดประเพณีนิยมและกฎหมายในจอร์แดน ซึ่งผู้ที่บังอาจวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์มีโทษจำคุก 3 ปี แต่สำนักพระราชวังยังไม่พร้อมที่จะชี้แจงในเรื่องนี้
นักวิเคราะห์ซึ่งไม่เปิดเผยนามกล่าวว่า เหตุการณ์ในตูนีเซีย และอียิปต์ ทำให้ชาวจอร์แดนเกิดความกล้าหาญที่จะพูดอย่างเปิดเผย ในเรื่องราวที่เคยได้แต่กระซิบกระซาบกันมานาน
สมาชิกชนพื้นเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า ทางการได้กดดันบางกลุ่ม และสั่งให้ระมัดระวังในเรื่องที่พูดกับสื่อต่างชาติ เขายอมรับว่า กษัตริย์อับดุลเลาะฮฺที่ 2 ยังทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชน แต่พระองค์ควรจะจำกัดบทบาทของราชินี และครอบครัวของเธอ มิฉะนั้นราชบัลลังก์อาจตกอยู่ในอันตราย
ผู้นำท้องถิ่นกล่าวว่า ปัจจุบันชาวจอร์แดนถูกอิทธิพลของเจ้าหน้าที่ทางการ และนักธุรกิจ ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ในการฉ้อฉล ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง และการละเลยต่อผลประโยชน์ของชาติ และรัฐบาลควรจัดการกับคนกลุ่มนี้โดยไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตหรือความสำคัญเพียงใด มิฉะนั้นบ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับ 2 ประเทศที่กำลังวุ่นวายอยู่
มีการพูดถึงราชินีราเนียว่า เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศโดยไม่มีตำแหน่งหน้าที่ และสร้างอิทธิพลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งควรจะเป็นของชาวจอร์แดน และชาวเผ่าฮัชไมต์
ประชาชนร้อยละ 40 ในจำนวนประชากร 6.3 ล้านคนของประเทศจอร์แดนมีเชื้อสายฮัชไมต์ และเป็นชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิม ที่มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้อย่างสุดชีวิตตลอดมา
แต่หลังจากที่มีชาวปาเลสไตน์อพยพเข้ามาในจอร์แดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการกริ่งเกรงว่า จะเข้าทางของอิสราเอลที่ พยายามจะทำให้จอร์แดนกลายเป็นประเทศที่รองรับชาวปาเลสไตน์ ที่อพยพออกจากดินแดนที่ต้องการยึดครอง
แถลงการณ์ยังอ้างรายงานที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ในระหว่างปี 2005 – 2010 ราชินีราเนียได้ช่วยเหลือให้ชาวปาเลสไตน์ 78,000 คน ได้รับสัญชาติจอร์แดน ข้อกล่าวหาดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่ราชินีราเนีย เนื่องจากเธอมีเชื้อสายปาเลสไตน์ แต่เกิดในคูเวต และได้อพยพมายังจอร์แดนพร้อมครอบครัวระหว่างการรุกรานของอิรักในปี 1990 ทั้งคู่แต่งงานกันตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งขณะนั้นกษัตริย์อับดุลเลาะฮฺยังทรงเป็นเพียงเจ้าชาย
หลายคนแสดงความไม่พอใจบทบาทในฐานะคนดังในสังคมของราชินีราเนีย โดยกล่าวหาว่าเธอใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยด้วยเงินจากท้องพระคลัง ในขณะที่ยังมีคนยากจนอีกเป็นจำนวนมากในจอร์แดน
แต่นักสิทธิมนุษยชน Labid Qamhawi ซึ่งมีเชื้อสายปาเลสไตน์เช่นกัน กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ราชินีราเนีย มาจากรูปแบบของการใช้ชีวิต และการแต่งกายของเธอมากกว่า ไม่ใช่เพราะเธอมีเชื้อสายปาเลสไตน์ - www.muslimthai.com |