ประการแรก เกิดจากตัวเด็กเองไม่มีต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่กำเนิด หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเองได้
ประการที่สอง เกิดจากการขาดสารไอโอดีนในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ หรือแม่เป็นโรคที่ขาดสารไทรอยด์ฮอร์โมน
พญ.สินดี ให้ข้อข้อสังเกตอาการของโรคเอ๋อว่า ตอนเด็กอยู่ในท้อง แม่จะเป็นคนให้ไทรอยด์ฮอร์โมนแก่ลูก เพราะฉะนั้นในท้องจะไม่มีปัญหา พอคลอดออกมาช่วงแรกเด็กจะออกมาเป็นปกติ เพราะยังได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแม่อยู่ จะมีอาการตอนที่ไทรอยด์จากแม่เริ่มมีระดับต่ำลง และอาการจะชัดเจนขึ้นช่วงเด็กอายุประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป หากปล่อยเวลาล่วงเลยเกิน 3 เดือนขึ้นไป เด็กจะมีอาการที่ชัดเจนขึ้น คือ ไม่ค่อยร้องกวน อาจจะดูเหมือนเด็กเลี้ยงง่าย นอนเยอะ ไม่ค่อยกินนม ผิวหยาบแห้ง สะดือจุ่น ท้องอืด ท้องผูก กระหม่อมปิดช้า บางคนอาจจะมีตัวเหลืองนานผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้สมองพิการถาวร มีปัญหาเรื่องระบบประสาทกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาเกร็ง ตัวเล็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในที่สุด
วิธีการรักษา
ปัจจุบันทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงปัญหาของโรคเอ๋อเพิ่มมากขึ้น จึงมีวิธีการ “คัดกรอง ทารกแรกเกิด” ด้วยวิธีการเจาะเลือดจากส้นเท้าเด็ก หรือใช้วิธีนำเลือดจากสายสะดือทารกไปตรวจ ซึ่งจะสามารถทราบผลได้รวดเร็วภายใน 1-2 วัน
หากมีการตรวจพบค่าผิดปกติ ต้องเจาะเลือดยืนยันอีกครั้งและรีบให้การรักษา โดยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทันที ถ้าตรวจพบก่อนเด็กอายุ 1 อาทิตย์จะได้ผลดีที่สุด และมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าเลยสัปดาห์แรกของชีวิตไปแล้ว เด็กอาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องของสมอง และ IQ ลดลง
รักษาทันท่วงที มีโอกาสหายขาด
โรคเอ๋อ เกิดจากภาวะบกพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน แต่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสหายขาด และเป็นโรคที่ป้องกันได้ 100% โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก ถ้ามีการรักษาอย่างต่อเนื่องจะกลับมาสู่ปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ถ้าเด็กคนไหนที่ต้องรักษาด้วยการเริ่มให้ยาแล้ว มักจะต้องรักษาตลอดชีวิต ขึ้นกับสาเหตุของโรค เนื่องจากถ้าเด็กสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเองไม่ได้ จะต้องให้เด็กมีไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในตัวให้เพียงพอ ช่วงสำคัญ คือ 2-3 ปีแรกของชีวิตที่ต้องกินยาให้สม่ำเสมอ และต้องมาตรวจตามหมอนัดอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโต
พิชิตโรคเอ๋อ ด้วยสารไอโอดีน
ช่วงเวลาที่แม่ตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีประโยชน์ โดยเฉพาะปลาทะเล แต่หากอยู่ในที่ที่ขาดสารไอโอดีน ต้องหาเครื่องปรุงรสอื่นๆ มาทดแทน เช่น น้ำปลาที่มีสารไอโอดีน หรือเกลือไอโอดีน
เมื่อตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ และกินยาบำรุงให้ครบตามที่แพทย์สั่ง คอยดูแลตัวเองให้ได้อาหารเพียงพอ หากรู้สึกว่ามีอารมณ์เฉื่อยๆ ซึมเศร้า หน้าบวมผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสาเหตุของการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือถ้ามีคนในครอบครัวที่มีประวัติขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ควรแจ้งหมอ เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที
ปัจจุบันแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคเอ๋อลดลง แต่การขาดสารไอโอดีนระดับที่ไม่รุนแรงในเด็กยังพบอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กที่มีสมาธิสั้น เรียนรู้ช้า ทำให้เรียนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเรียน ควรได้รับสารไอโอดีน และสารอาหารอื่นๆ ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย
อาการของ "เอ๋อ"
ถ้าขาดไทรอยด์ฮอร์โมนร่างกายจะมีความผิดปกติในส่วนต่างๆ ดังนี้
• ทางด้านการเจริญเติบโต - เด็กจะเติบโตช้า ดั้งจมูกแบน ขาสั้นมากกว่าอายุจริง
• ทางด้านระบบประสาท - เด็กจะมีอาการซึม เชื่องช้า
• กล้ามเนื้อ - เด็กจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ลิ้นโต ท้องผูก สะดือจุ่น
• ระบบหายใจ - เด็กจะเสียงแหบเป็นหวัดบ่อยๆ
• หัวใจและหลอดเลือด - เด็กจะตัวเย็นผิวเป็นวงลาย ตัวเขียว หัวใจอาจจะโต
• ผิวหนัง - ผิวแห้ง ผมแห้งเปราะ ขนคิ้วบาง ฟันขึ้นช้า
• ระบบเลือด - ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก, วิตามิน B12 ลดลง
• ระบบต่อมไร้ท่อ - ในอนาคตส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือน เช่น มีระดูมากกว่าปกติ
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์