สำนักข่าวมุสลิมไทย สำนักข่าวมุสลิมไทย เรียบเรียงจากคำตอบของอาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้
คำถาม: การไปเซ็นใบหย่าร้างที่สำนักงานอำเภอหรือเขต ถือว่าเป็นการหย่าที่สมบูรณ์ถูกต้องตามหลักการอิสลามหรือไม่
สามีบอกให้ภรรยาไปพบกันที่อำเภอ/เขตเพื่อจะหย่า ถามว่าสามีภรรยาคู่นี้อยู่ในสถานะใด จะขาดกันหรือไม่ ?
เรื่องของศาสนากับเรื่องของกฎหมายบางครั้งก็มีประเด็นที่แตกต่างกันในการพิจารณา (หลักการอิสลาม)

บางเรื่องถูกกฎหมาย แต่ ผิดหลักการศาสนา ยกตัวอย่างเช่น - หญิงชายคู่หนึ่งรักใคร่ชอบพอกัน แล้วจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอ ทั้งสองคนนี้เป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามกฎหมายก็จริง แต่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เพราะยังไม่ได้นิกะห์ตามข้อกำหนดของอิสลาม - ส่วนคู่ใดที่นิกะห์ตามหลักการศาสนาแล้ว เขาก็เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้อง แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม
ในเรื่องของการหย่านั้น หากได้กล่าวคำ “หย่า” ก็ถือว่าใช้ได้ (แม้ว่าจะไม่มีพยานก็ตาม) ตามหลักการศาสนา ทั้งนี้ไม่ต้องไปทำการหย่าที่อำเภอ/เขต เช่นเดียวกัน กรณี “การหย่าแบบมีเงื่อนไข”จะเป็นผลก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น - สามี กล่าวแก่ภรรยาว่า “หากเธอออกไปนอกบ้านวันนี้เธอกับฉันขาดกัน” ถ้าภรรยาออกไปนอกบ้านจริงก็ถือว่าการหย่านั้นเป็นผล
ประเด็นการหย่าที่อำเภอ - พูดว่า “ให้ไปอำเภอเพื่อจะหย่า” การกล่าวเช่นนี้ยังไม่เป็นผล เพราะยังไม่ได้หย่า ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า เมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าว อาจจะมีการปรับความเข้าใจ และสุดท้ายเปลี่ยนใจไม่หย่า - แต่สำหรับสามีภรรยาที่ “ไม่ได้มีเจตนาหย่ากันทางศาสนา” แต่ไปจดทะเบียนหย่ากันทางกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์ กรณีดังกล่าวนี้ “ไม่ถือว่าเป็นการหย่าทางศาสนา” เช่น สามีทำธุรกิจแล้วเกรงว่า ธุรกิจอาจล่มสลาย หรือสามีอาจกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ก็จะได้ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ของภรรยา ดังตัวอย่างข้างต้น “มีผลทางกฎหมาย แต่ไม่มีผลทางศาสนา” www.moradokislam.org |