กลียุคในอียิปต์-มุมมองคนไทยในไคโร
คมชัดลึก : ช่วงที่อียิปต์กำลังเกิดกลียุค จนกระทรวงการต่างประเทศต้องส่งเครื่องบินไปรับคนไทย โดยเฉพาะนักศึกษาไทยในอียิปต์กลับประเทศ เพื่อความปลอดภัย ดลหมาน ผ่องมะหึง เจ้าหน้าที่สถานทูตประจำกรุงไคโร
และอดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในไคโร ได้เล่าบรรยากาศและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข่าววงในของอาหรับได้แพร่สะพัดก่อนหน้าเกิดเหตุวุ่นวายประมาณหนึ่งอาทิตย์ จนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันตำรวจแห่งชาติของอียิปต์ เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงกลุ่มเล็กๆ ก็เกิดขึ้น ณ ศาลตัดสินความใกล้กับป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งมีชาวอาหรับหลายพันคน แต่เหตุการณ์ยังปกติ
พอถึงวันศุกร์ที่ 28 มกราคม การสื่อสารถูกตัดขาดหลายพื้น สถานที่ราชการถูกเผา โดยเฉพาะที่เรือนจำ นักโทษได้หนีออกมา ทำให้ในทุกๆ เขตของที่พักอาศัยต้องจัดเวรยามป้องกันหมู่บ้านตลอดทาง
วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม สัญญาณโทรศัพท์กลับมาใช้ได้ พอถึงวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ เกิดประท้วงครั้งใหญ่ ประธานธิบดีฮอสนี มูบารัก แถลงว่าจะขอลาออกจากตำแหน่ง แต่ขอต่อเวลาเพื่อให้หมดวาระครบ 30 ปีบริบูรณ์ก่อน
คืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อินเทอร์เน็ตเปิดให้บริการการติดต่อสื่อสารทางเอ็มเอสเอ็น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ก็เริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างกระแสต่างๆ ในวงนักศึกษา ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในตอนนั้นยังคงเป็นเหตุการณ์ปกติ มีเพียงรถทหารหรือยามหมู่บ้าน จุดยางรถ ถือมีดสปาร์ตาหรือโซ่ตรวนเพื่อขู่โจรที่จะเข้ามาในเขตต่างๆ เท่านั้น ร้านค้าเปิดปกติ ปิดเมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว ไม่มีการแย่งกันซื้ออาหาร แต่มีซื้อของกักตุนไว้บ้าง
วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ร่วมกันละหมาดและประชุมใหญ่ ณ ตะรีร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นล้านๆ คนในหลายเขตต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเชิญ มูบารัก ลงจากตำแหน่งอีกครั้ง ครั้งนี้ทุกอย่างราบรื่น
วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ ชาวอียิปต์เริ่มทำงานเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ธนาคารหลายแห่งเปิดร้านค้าเปิดตามปกติ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยทุกตำแหน่งต่างวุ่นวายกับการให้ความช่วยเหลือนักศึกษา
นายชลิต มานิตยกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไคโร กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจประชุมวางแผนช่วยเหลือคนไทย หากเกิดเหตุไม่ปลอดภัยกับคนไทยในอียิปต์
ด้าน นายซาบูเลาะ มามะ นายกสมาคมนักเรียนไทยในพระบรมราชูปถัมป์ในกรุงไคโร เปิดเผยว่า ได้ติดต่อกับสถานทูตตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม และได้วางแผนกัน หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะส่งนักศึกษาและคนงานกลับ
“ที่ จ.ดุมยาท เมืองใหม่ มีนักเรียนประมาณ 200 คน ผมไม่อยากกลับนัก แต่ข่าวและคำพูดต่อกัน ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย พวกเราปลอดภัย และขอบคุณเจ้าหน้าที่สถานทูตที่นำอาหารมาให้พวกเราในสนามบินและช่วยเหลือ” นายฮัมดาน ยีแว นักศึกษาคณะนิติศาสตร์อิสลามวิทยาเขตดุมยาท เผย
ส่วน นายอับดุลเลาะ เจะโซะ นักศึกษาปี 3 เขตตะฟะห์นา กล่าวว่า “พวกเรากลัวคำพูดที่อาหรับพูดว่า “ถ้ามูบารักไม่ยอมลงมา จะเอาชาวต่างชาติเป็นตัวประกัน” ทำให้พวกเรารีบเดินทางมายังสนามบินทันที” ขณะที่ น.ส.สุจิตตรา เมืองนิล เลขานุการโท กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้ส่งคนไทยตกค้างและนักศึกษากลับไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 1,929 คน
นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ผอ.กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางมากับนายนัฐวุฒิ มะลิสุวรรณ เลขานุการโท จากประเทศลอนดอน พร้อมของบริจาคแก่นักศึกษาไทย เพื่อช่วยเหลือและดูแลนักศึกษาและคนไทยในอียิปต์ |